Tuesday, November 26, 2024
Digital TransformationeGovernmentSpecial Report

รายงานพิเศษ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567

World Digital Competitiveness 2024

World Digital Competitiveness ปี 2567 แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูง เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยปีนี้ไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 67 เขตเศรษฐกิจ ลดลง 2 อันดับจากปีที่แล้ว

ถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (IMD World Digital Competitiveness_Ranking) ประจำปี 2567 ของ 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยในปี 2567 นี้ มี 3 เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการจัดอันดับเพิ่มเติมจากปีที่แล้ว ได้แก่ กานา ไนจีเรีย และเปอร์โตริโก

การจัดอันดับนี้เป็นการวัดศักยภาพของประเทศในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา หรือที่เรียกว่า “Digital Transformation” ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม โดยเป็นการวิเคราะห์ประเมินใน 3 ด้านคือ ความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมสำหรับอนาคต

ซึ่งจากรายงานการจัดอันดับในปี 2567 แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูง เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมของตนเองมาก สะท้อนจากจำนวนการจดสิทธิบัตรของเทคโนโลยีขั้นสูง, ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา และความมีประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จาก e-governance

ในปีนี้ เพื่อให้การจัดอันดับสะท้อนภาวการณ์ปัจจุบันด้านดิจิทัลมากขึ้น IMD ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ในมิติของธรรมาภิบาล ธุรกิจ และสังคม รวมถึง AI อีก 5 ตัวชี้วัด กล่าวคือ 1.ดัชนีการศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ 2. บทความเกี่ยวกับ AI 3. การประกาศนโยบาย AI เป็นกฎหมาย

4. การรักษาความปลอดภัยให้เซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ต และ 5. ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ที่เป็นผลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร (EOS – Executive Opinion Survey) เกี่ยวกับความยืดหยุ่นและศักยภาพในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ของบุคลากรในประเทศ

ทั้งนี้ ในรายงานผลการจัดอันดับในปีนี้ IMD ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของแต่ละประเทศในยุคปัจจุบัน ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ 

ที่ทำให้บางประเทศแข่งขันการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและเกิดการแบ่งแยกของ การกำกับดูแลดิจิทัลในระดับโลก และเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือในด้านที่สำคัญ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่งจะส่งผลถึงความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาด้านดิจิทัลอีกทางหนึ่ง

ไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2567 

โดยปีนี้ไทยอยู่ในอันดับที่ 37 จาก 67 เขตเศรษฐกิจ ลดลง 2 อันดับจากปีที่แล้ว สาเหตุหลักจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีอันดับลดลงค่อนข้างมาก 8 อันดับจากปี 2566 จากทั้งหมด 3 ปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการวิเคราะห์จัดอันดับด้านดิจิทัล

World Digital Competitiveness

ด้านเทคโนโลยี ยังคงเป็นปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 ปัจจัยหลัก แม้ว่าในปีนี้จะลดลงมาจากปีก่อนถึง 8 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 23 

ในขณะที่ด้านความรู้ และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศได้ในระยะยาว ต่างขยับอันดับดีขึ้นเล็กน้อย 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 40 และ 41 ตามลำดับ แต่ก็ยังคงอยู่ในอันดับที่ไม่สูงนัก ซึ่งไทยจำเป็นที่จะต้องเร่งการพัฒนายกระดับใน 2 ด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเปรียบเทียบเขตเศรษฐกิจในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนที่ IMD มีการจัดอันดับ ทั้งหมด 5 เขตเศรษฐกิจ ไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 แต่ที่น่าจับตามองคืออินโดนีเซีย แม้จะยังตามหลังมาเลเซียและไทย แต่มีแนวโน้มอันดับดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง 

World Digital Competitiveness

ทั้งผลการจัดอันดับรวม (IMD World Competitiveness Ranking) และผลการจัดอันดับด้านดิจิทัล (IMD World Digital Competitiveness Ranking) ที่ขยับ ดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 43 ในปีนี้ จากอันดับของปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคตของอินโดนีเซียที่ดีขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมากถึง 13 อันดับ มาอยู่อันดับ 30 ในขณะที่ฟิลิปปินส์ รั้งท้ายในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน อยู่ที่อันดับ 61 ในปีนี้ 

ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูงที่สุด 10 อันดับแรก

จากจำนวน 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งได้รับการจัดอันดับพบว่า ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูงที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2567 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเทศในทวีปยุโรป 

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เป็นที่น่าสนใจว่า มีประเทศในทวีปเอเชียติดใน 10 อันดับแรกถึง 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ในส่วนของสหรัฐอเมริกา ที่อยู่อันดับ 1 ในปีที่แล้ว ลดลง 3 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 4 ในปีนี้ เป็นผลมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กับมหาอำนาจอีกประเทศอย่างจีน ต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีในตลาดโลก และภูมิทัศน์ด้านดิจิทัลของประเทศ 

สำหรับประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่นที่ได้รับการจัดอันดับใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สิงคโปร์ ขยับดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 3 ในปีก่อน จากความแข็งแกร่งของตัวชี้วัด การบริหารจัดการเมือง, การอนุญาตสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีขั้นสูง, การธนาคารและบริการทางการเงิน และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

ตามมาด้วยอันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ ที่ดีขึ้น 3 อันดับจากปีที่แล้ว จากอันดับที่ดีขึ้นอย่างมากของตัวชี้วัด ร้อยละการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง, การมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์และความปลอดภัยทางไซเบอร์

อันดับ 3 เดนมาร์ก ปรับอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากการที่ประเทศให้ความสำคัญและอันดับที่ยอดเยี่ยมในอันดับที่ 1 ของตัวชี้วัด การฝึกอบรมพนักงาน, การจัดอันดับเครดิตของประเทศ, ความคล่องตัวของบริษัท, ทัศนคติต่อโลกาภิวัตน์ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และเซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย

ในส่วนของประเทศที่อยู่ในอันดับ 4 – 10 ของการจัดอันดับในปีนี้ มีรายละเอียดดังนี้ อันดับ 4 สหรัฐอเมริกา อันดับ 5 สวีเดน อันดับ 6 เกาหลีใต้ อันดับ 7 ฮ่องกง อันดับ 8 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 9 ไต้หวัน และอันดับ 10 นอร์เวย์ 

โดยมีรายละเอียดของแต่ละปัจจัยหลัก ดังนี้

ความรู้ (Knowledge)

ด้านความรู้เป็นการวัดถึงศักยภาพของประเทศในการค้นคว้า ทำความเข้าใจ และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ผ่านตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพของบุคลากร การลงทุนด้านการศึกษา และการวิจัยพัฒนา ในปี 2567 IMD มีการเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาในการวิเคราะห์จัดอันดับทั้งหมด 2 ตัวชี้วัด 

แบ่งเป็นภายใต้ปัจจัยย่อยด้านการฝึกอบรมและการศึกษา 1 ตัวชี้วัด คือ ดัชนีการศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ไทยอยู่ที่อันดับ 39 และอีก 1 ตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยย่อย ด้านการให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ คือ บทความทางด้าน AI ไทยอยู่อันดับที่ 57 

ปี 2567 ไทยมีผลการจัดอันดับด้านความรู้ ดีขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 40 เป็นผลมาจากการปรับอันดับดีขึ้นอย่างมากถึง 12 อันดับของปัจจัยย่อยด้านการฝึกอบรมและการศึกษา ที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยย่อยที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ค่อนข้างน้อยตลอดมา 

จากการที่ตัวชี้วัด ข้อมูลเชิงปริมาณ 2 ตัวชี้วัด ขยับอันดับดีขึ้นมาก ได้แก่ บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ อันดับ 13 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 25 อันดับ และ รายจ่ายรวมของภาครัฐด้านการศึกษา อันดับ 32 ดีขึ้นจาก ปีที่แล้ว 19 อันดับ 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปัจจัยย่อยนี้ มีตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ 1 ตัว คือ ดัชนีการศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์  โดยไทยมีขีดความสามารถในระดับปานกลาง ในอันดับ 39 

ในขณะที่ปัจจัยย่อยด้านกลุ่มคนที่มีความสามารถ และด้านการให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ ต่างมีอันดับลดลงจากปีก่อน 4 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 39 และ 42 ตามลำดับ จากอันดับที่ลดลงของหลายตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นตัวชี้วัดด้านการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตราฐานสากล (PISA), คณิตศาสตร์, การบริหารจัดการเมือง, ทักษะด้านดิจิทัล/เทคโนโลยี, การอนุมัติสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และ ร้อยละค่าใช้จ่ายรวมด้านการวิจัยและพัฒนา

โดยภายใต้ปัจจัยย่อย ด้านการให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ ก็มีตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ 1 ตัว คือ AI articles ที่ไทยมีขีดความสามารถค่อนข้างน้อยมากในอันดับ 57 

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่นับว่ายังคงเป็นจุดอ่อนอย่างต่อเนื่องของไทย ที่ต้องเร่งให้ความสำคัญในการพัฒนาคือ การจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค รวมถึงตัวชี้วัด ด้านการศึกษาที่ไทยมีอันดับค่อนข้างรั้งท้าย ได้แก่ ตัวชี้วัด อัตราส่วนนักเรียนต่อครู (การศึกษาระดับอุดมศึกษา) 

เทคโนโลยี (Technology) 

ด้านเทคโนโลยี เป็นการวัดถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงความพร้อมของเงินทุนที่ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี 

ในปี 2567 IMD มีการเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาในการวิเคราะห์จัดอันดับทั้งหมด 2 ตัวชี้วัด แบ่งเป็นภายใต้ปัจจัยย่อยด้านกรอบกฎหมาย หนึ่งตัวชี้วัด คือ การประกาศนโยบาย AI เป็นกฎหมาย และอีกหนึ่งตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยย่อยด้านกรอบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี คือ การรักษาความปลอดภัยให้เซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ต

ด้านเทคโนโลยี ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ไทยมีอันดับขีดความสามารถสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับอีก 2 ปัจจัย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ด้านเทคโนโลยีของไทย มีการปรับอันดับลดลงค่อนข้างมาก จากปัจจัยย่อยด้านกรอบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ที่อันดับลดลง 6 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 21 ในปี 2567 

จากอันดับที่ลดลงของตัวชี้วัด ร้อยละของสินค้าส่งออกไฮเทค และ ความเร็วแบนด์วิธอินเทอร์เน็ต รวมถึงผลจากอันดับที่ค่อนข้างต่ำของตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยให้เซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ต อันดับ 48 

นอกจากนี้ ปัจจัยย่อยด้านกรอบกฎหมาย ก็มีอันดับลดลงจากปีที่แล้ว 5 อันดับเช่นกัน มาอยู่ในอันดับ 36 จากตัวชี้วัดที่เป็นผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร 3 ตัวชี้วัด ที่อันดับลดลงค่อนข้างมาก ได้แก่ ตัวชี้วัด กฎหมายการย้ายถิ่นฐาน, สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และ กฎหมายการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 

รวมถึงตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ภายใต้ปัจจัยย่อยนี้ 1 ตัว คือ การประกาศนโยบาย AI เป็นกฎหมาย ซึ่งไทยมีขีดความสามารถในระดับปานกลางในอันดับ 39 เหล่านี้ 

ในขณะที่ ปัจจัยย่อยเรื่องตลาดทุน มีอันดับลดลงเล็กน้อย 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 13 จาก 67 ประเทศ เป็นผลจากตัวชี้วัดที่มีอันดับลดลงคือ การจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยี, การลงทุนด้านโทรคมนาคม และ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน  

ความพร้อมสำหรับอนาคต (Future readiness) 

ด้าน ความพร้อมสำหรับอนาคต เป็นการพิจารณาถึงความสามารถของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคม ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งพิจารณาจากตัวชี้วัดด้านการใช้อินเทอร์เน็ตในกิจกรรมต่างๆ การใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม และการใช้เครื่องมือ data analytics ในภาคธุรกิจ และ e-Government ในภาครัฐ เป็นต้น 

โดยในปี 2567 IMD มีการเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาในการวิเคราะห์จัดอันดับอีก 1 ตัวชี้วัด ภายใต้ปัจจัยย่อยทัศนคติที่ยืดหยุ่น คือ ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ซึ่งเป็นตัวชี้วัดจากผลการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร เกี่ยวกับความยืดหยุ่นและศักยภาพในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ของบุคลากรในประเทศ 

ด้านความพร้อมสำหรับอนาคต ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ไทยมีอันดับขีดความสามารถไม่มากนัก โดยปรับอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 1 อันดับ มาอยู่อันดับ 41 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม มี 2 ปัจจัยย่อยที่มีอันดับดีขึ้นค่อนข้างมาก ได้แก่ ปัจจัยย่อยเรื่องความคล่องตัวของธุรกิจ ดีขึ้น 9 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 25 จากตัวชี้วัด ความกลัวความล้มเหลวของผู้ประกอบการ ที่อันดับดีขึ้นถึง 14 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ในอันดับที่ 37 

และ ปัจจัยย่อยทัศนคติที่ยืดหยุ่น ที่มีอันดับดีขึ้น 6 อันดับ จากตัวชี้วัด การครอบครองสมาร์ทโฟน อันดับ 26 ดีขึ้น 4 อันดับ และการค้าขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต อันดับ 38 ดีขึ้น 2 อันดับ จากอัตราการครอบครองสมาร์ทโฟนของครัวเรือนไทยที่มากขึ้น และจำนวนมูลค่าธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน 

รวมถึงตัวชี้วัดที่เพิ่มเข้ามาในการวิเคราะห์จัดอันดับอีก 1 ตัวชี้วัด ภายใต้ปัจจัยย่อยนี้ คือ ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ซึ่งเป็นตัวชี้วัดจากผลการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร เกี่ยวกับความยืดหยุ่นและศักยภาพในการปรับตัวเมื่อต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ของบุคลากรในประเทศ โดยไทยมีอันดับขีดความสามารถค่อนข้างดีในอันดับ 27

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่นับว่ายังคงเป็นจุดอ่อนอย่างต่อเนื่องของไทย ที่ต้องเร่งให้ความสำคัญในการพัฒนาสำหรับปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคต คือ ตัวชี้วัด การครอบครองแท็บเล็ต อันดับ 57, การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อันดับ 57 และกฎหมายการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว อันดับ 54 จาก 67 ประเทศ ซึ่งจำเป็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญในการยกระดับพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันด้านดิจิทัลใน 3 ตัวชี้วัดนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป 

ไทยกับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

ในระดับอาเซียนที่ IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจนั้น สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัลสูงสุดในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา รวมถึงจาก 67 เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอันดับในปี 2567 

สาเหตุจากปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคตที่สิงคโปร์มีอันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมากถึง 9 อันดับมาอยู่อันดับที่ 1 ในปีนี้ รองลงมาคือ มาเลเซีย อันดับ 36 ลดลงจากปีที่แล้ว 3 อันดับ เป็นผลจากการปรับอันดับลดลงของทั้ง 3 ปัจจัยหลักไม่ว่าจะเป็นความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมสำหรับอนาคต ตามมาด้วยไทยในอันดับที่ 3 ของอาเซียน ซึ่งมีอันดับลดลงจากปีก่อน 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 37 

แต่ที่น่าจับตามองคืออินโดนีเซีย แม้จะยังตามหลังมาเลเซียและไทย แต่มีแนวโน้มอันดับดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งผลการจัดอันดับรวม (IMD World Competitiveness Ranking) และผลการจัดอันดับด้านดิจิทัล (IMD World Digital Competitiveness Ranking) ที่ขยับดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 43 ในปีนี้ 

จากอันดับของปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคตของอินโดนีเซียที่ดีขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมากถึง 13 อันดับ มาอยู่อันดับ 30 และปัจจัยด้านความรู้ดีขึ้นถึง 7 อันดับมาอยู่อันดับ 53 ในขณะที่ฟิลิปปินส์ อันดับลดลง 2 อันดับจากปี 2566 มาอยู่ที่อันดับ 61 ในปีนี้ ทำให้รั้งท้ายในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

บทสรุป 

จากรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลประจำปีนี้ IMD ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่เป็นผู้นำในด้านความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลต่างเป็นประเทศที่มีการพัฒนาที่สมดุลในทั้ง 3 ปัจจัยหลักของการจัดอันดับ ได้แก่ ความรู้ เทคโนโลยีและความพร้อมสำหรับอนาคต 

ส่วนประเทศที่ยังอยู่ในระดับรองลงมาอาจมุ่งเน้นแนวทางในการพัฒนาที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในมุมของประเทศไทย เราควรให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นรากฐานของการพัฒนาคือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งในระบบการศึกษาและที่อยู่ในกำลังแรงงาน 

โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ AI ที่สะท้อนผ่านผลการจัดอันดับที่ค่อนข้างต่ำในหลายตัวชี้วัด นอกจากนั้น ยังต้องเร่งปรับปรุงด้านกฎหมายและกฏระเบียบให้ก้าวทันเทคโนโลยี และปรับปรุงกลไกที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Featured Image: fxquadro