วีเอสที อีซีเอส เชื่อมั่นใน Private Cloud ตั้งเป้ายอดขาย 5 หมื่นล้าน

“วีเอสที อีซีเอส เผยทิศทางธุรกิจปี 2568 เชื่อมั่นในแนวทางไพรเวทคลาวด์ พบองค์กรไม่กล้าใช้คลาวด์สาธารณะ พร้อมตั้งเป้ายอดขายรวม 5 หมื่นล้าน AI จะเป็นตัวเร่งการบริโภคและลงทุนเทคโนโลยีทั้งคอนซูเมอร์และเอ็นเตอร์ไพรซ์
สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไอซีทีหลังการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี AI ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในตัวแปรของทิศทางการดำเนินงานในปี 2568 โดยกล่าวว่า “การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี AI จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการบริโภคและลงทุนเทคโนโลยีใหม่ทั้งตลาดคอนซูเมอร์ไอทีและเอ็นเตอร์ไพรซ์ไอที”
“การมาของ AI PC จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดคอนซูมเมอร์ โดยผู้บริโภคกำลังรอดูว่าการมี AI บนพีซีจะมีสิ่งที่ทำอะไรได้มากกว่าการพัฒนาความสามารถของโปรแกรมออฟฟิศ ซึ่งถ้ามีแอปพลิเคชันที่เข้ามาช่วยงานได้รวดเร็วกว่าเดิม ตอนนั้นถึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดคอนซูเมอร์ ทำให้ตลาดเครื่องพีซี รวมถึงสมาร์ทโฟน จะเติบโตขึ้นมาก เพราะทุกคนต้องเปลี่ยนเครื่องกันหมด”
“ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับองค์กรก็จะได้รับผลในเชิงบวกจากแรงกระตุ้นของ AI เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์ที่ต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผล AI เพิ่มมากขึ้น เกิดความต้องการ GPU ประสิทธิภาพสูงเพิ่มขึ้นตามเทรนด์ AI ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ รวมถึงโซลูชันเครือข่าย ระบบการรักษาความปลอดภัยต่างๆ”
“ในมุมของ วีเอสที อีซีเอส พบว่า ถึงแม้การเข้ามาของผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะระดับโลกจะเป็นตัวเลือกให้องค์กรต่างๆ แต่องค์กรก็ยังเลือกที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบไพรเวทคลาวด์สำหรับระบบงานที่มีความสำคัญ”
“ดังนั้น อัตราการขายเซิร์ฟเวอร์ก็ยังโตขึ้นเรื่อยๆ ผนวกกับข้อกังวลด้าน ความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งพบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีองค์กรนำระบบหลักหรือข้อมูลสำคัญทางธุรกิจไปไว้บนพับบลิคคลาวด์ เหตุเพราะยังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล” สมศักดิ์ กล่าว
ตั้งเป้ายอดขาย 5 หมื่นล้าน
จากทิศทางของเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นตัวแปรต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2568 โดยสมศักดิ์ อธิบายว่า “วีเอสที อีซีเอส มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชันที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิทัล”
“โดยในปีนี้ วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) ยังคงแบ่งกลุ่มการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชันด้านไอที ออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย คอนซูเมอร์, คอมเมอร์เชียล, โซลูชัน และดีไวซ์แอนด์ไลฟ์สไตล์ โดยตั้งเป้ายอดขายของปี 2568 ไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท”
ธุรกิจคอนซูมเมอร์ไอทีที่ต้องลุ้นช่วงปลายปี
ธุรกิจกลุ่มนี้ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ เดสก์ท็อป พีซี,โน้ตบุ๊ก และปริ้นเตอร์ ภาพรวมตลาดจะทรงๆ ไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับกลุ่มตลาดมือถือ สมาร์ทโฟนยุคใหม่ สมาร์ทดีไวซ์ เหตุเพราะอุปกรณ์ในกลุ่มนี้มีพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เร็วและล้ำหน้า สอดรับกับเทรนด์ AI ส่งผลโดยตรงต่อยอดขาย
“อย่างไรก็ตาม วีเอสที อีซีเอส ประเมินว่า การมาของ AI PC จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาด โดยคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 (เดือนตุลาคม) ปีนี้ รวมถึงการประกาศยุติการสนับสนุน Windows 10 ของไมโครซอฟท์ และการผลักดัน Microsoft 365 ที่คาดว่าจะมีปรับราคา 35% ซึ่งมีผลต่อตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์แน่นอน” ผู้บริหารกล่าว
ธุรกิจคอมเมอร์เชียล และโซลูชัน ที่เชื่อมั่นในแนวทาง Private Cloud
สมศักดิ์ อธิบายว่า “สำหรับกลุ่มธุรกิจคอมเมอร์เชียล และโซลูชัน มีทิศทางการดำเนินธุรกิจที่เน้นด้าน Private Cloud ขายผ่านรีเซลเลอร์ และคิดค่าบริการในรูปแบบการเช่ารายเดือน อาทิ ผลิตภัณฑ์ Greenlake ของเอชพีอี หรือ Azure ของไมโครซอฟท์”
“วีเอสที อีซีเอส มองทิศทางการดำเนินธุรกิจคนละมุมมองกับผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะระดับโลก ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศ เราพบว่าในช่วงที่ผ่านมาสามารถประเมินได้ถึงอัตราการขายเซิร์ฟเวอร์ที่โตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูล จึงไม่มีองค์กรที่นำระบบอย่าง ERP หรือข้อมูลสำคัญไปไว้บนพับบลิคคลาวด์”
“วีเอสที อีซีเอส มีการเติบโตในตลาด Private Cloud โดยมีตัวอย่างความสำเร็จจากโรงพยาบาลอุบลราชธานี และประสบการณ์การเข้าไปทำตลาดในกัมพูชา ทำให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดไพรเวทคลาวด์ รูปแบบการทำสัญญาเช่าใช้ ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีการเติบโตของยอดขายราว 100% ในอีก 2 ปี”
ธเนศ พันธ์สุขุมธนา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเสริมว่า “ธุรกิจคอมเมอร์เชียล มีโอกาสเติบโตจากภาครัฐ โดยพื้นฐานมีการเติบโตประมาณ 10% อยู่แล้ว และสำหรับปีนี้เมื่อเทคโนโลยี AI เข้ามา จะสามารถเติบโตขึ้นมาได้อีก โดยเฉพาะการเติบโตของเซิร์ฟเวอร์, เน็ตเวิร์ค, สตอเรจ และซีเคียวริตี้ ที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น”
“ไพรเวทคลาวด์จะมีบทบาทมากขึ้น ที่เน้นการขายแบบสมัครสมาชิก ทำให้การลงทุนก้อนใหญ่ๆ ไม่มีแล้ว เน้นจ่ายรายปี รายเดือน ทรัพย์สินเป็นของผู้ที่ให้เช่าใช้ และช่วยลดปัญหาขยะอิเลกทรอนิกส์” ผู้บริหารกล่าว
ธุรกิจดีไวซ์และไลฟ์สไตล์ เคลื่อนไหวเร็วตามเทคโนโลยี
ขณะที่ ธนเสฏฐ์ โมระศิลปิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด หน่วยธุรกิจดีไวซ์และไลฟ์สไตล์ เปิดเผยแผนในปี 2568 ว่า “บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์เรือธงในกลุ่มแรก คือ สมาร์ทโฟน และเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัวแกดเจทใหม่เพิ่มเติม ซึ่งการได้เป็นผู้ขายไอโฟนทำให้ธุรกิจส่วนนี้มีตัวเลขที่เติบโตขึ้นมาก”
“ในกลุ่มสองคือ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่ปรับรูปแบบการขายไปสู่ระบบ B2B ที่ปีนี้ยังขยายต่อเนื่อง ในกลุ่มผู้ให้บริการรับ-ส่งสินค้า”
“ในภาพรวมของปีนี้นั้น วีเอสที อีซีเอส ยังมุ่งมั่นในการทำตลาดสินค้าไอที และไลฟ์สไตล์รวมกว่า 87 แบรนด์ โดยมีค้าปลีกไอที และค้าปลีกไลฟ์สไตล์ รวมถึงมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทผู้ติดตั้งระบบไอที และที่มีช่องทางจำหน่ายกว่า 50,000 ราย กระจายอยู่ในประเทศจีน, ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เมียนมา และลาว โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง” สมศักดิ์ กล่าวปิดท้าย
Featured Image: Image by svstudioart on Freepik