“รายงาน ASEAN Consumer Sentiment Study 2023 ของยูโอบี เผยความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของผู้บริโภค และเทรนด์ด้านดิจิทัลแบงก์ในไทย
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย รายงานผลการศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน (ASEAN Consumer Sentiment Study – ACSS)[1] ประจำปี 2566 สะท้อนความรู้สึกของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทย พร้อมสำรวจแนวโน้มการนำบริการธนาคารดิจิทัลมาใช้ โดยรายงานการศึกษาพบว่า ผู้บริโภคคนไทยยังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็มีความระมัดระวังและปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัว
ยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงาน ACSS ที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารยูโอบีฉบับนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญสำหรับทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ทุกคนประสบความสำเร็จทางการเงินท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของการบริการธนาคารดิจิทัลที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปิดรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน”
รายงาน ASEAN Consumer Sentiment Study (ACSS) เป็นรายงานศึกษาเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนิเซีย ไทย และ เวียดนาม เป็นประจำทุกปี รายงานปีที่ 4 ฉบับล่าสุดได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยในประเทศไทยเป็นการสำรวจคำตอบของผู้บริโภค 600 คนจากหลายกลุ่มประชากร
ความกังวลทางการเงินส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่ายอย่างรัดกุมและวางแผนการลงทุน
ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้นร้อยละ 14 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และความกังวลเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เกี่ยวกับการออมที่ลดลง
นอกจากนี้ รายงานยังระบุแนวโน้มที่น่าสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน Gen Z เป็นกลุ่มที่ระมัดระวังที่สุด โดยร้อยละ 41 มีแผนออมเงินมากขึ้นในปีนี้ ในขณะที่ Gen Y มุ่งเน้นการลงทุนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น
ความกังวลทางการเงิน ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยรัดกุมกับค่าใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น ร้อยละ 57 ติดตามค่าใช้จ่ายของตนผ่านแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัล ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นให้ความสนใจกับเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ อีกทั้งยังกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องมือทางการเงิน เช่น แผนประกัน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
จากผลสำรวจ ธนาคารยูโอบีจึงเน้นถึงความสำคัญของการวางแผนความมั่งคั่งในระยะยาว อย่างรอบคอบและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม“การวางแผนความมั่งคั่งที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล และการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านความยั่งยืนเข้าไปเป็นกลยุทธ์การลงทุนจะช่วยสร้างความมั่งคั่งที่ยืนยาวให้แก่ผู้บริโภคได้” นายยุทธชัยกล่าว
ผู้บริโภคไทยใช้บริการธนาคารดิจิทัลมากที่สุด
ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการธนาคารดิจิทัลมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ในปีที่ผ่านมาร้อยละ 61 ใช้แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค วิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ อีวอลเล็ตและการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด รายงานยังพบว่ากว่า 4 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวไทยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการลงทุนและการจัดการความมั่งคั่ง โดย Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้บริการด้านการลงทุนมากที่สุด
นอกจากการเปิดรับบริการธนาคารดิจิทัล ผู้บริโภคยังพร้อมแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวกับธนาคารเพื่อรับบริการเฉพาะบุคคลมากขึ้นร้อยละ 89 ของผู้สำรวจเลือกที่จะแบ่งปันข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร มากกว่าแอปพลิเคชันแบบอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภค ในการเปิดรับข้อเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่คัดสรรเฉพาะจากธนาคาร
ยุทธชัยกล่าวเสริมว่า “ยูโอบีมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเรื่องการธนาคารแบบเฉพาะบุคคล (Personalised Banking) ผ่านแอปพลิเคชัน UOB TMRW ที่ขับเคลื่อนด้วย AI วิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน ทำให้เข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และสามารถช่วยให้บริหารจัดการเงินในแบบที่ลูกค้าต้องการ
นอกจากนี้ ธนาคารกำลังพัฒนาแอปพิเคชัน UOB TMRW เพิ่มเติม เพื่อให้คำปรึกษาวางแผนด้านการลงทุนอัตโนมัติแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการการเงินได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากรายงานฉบับนี้”
[1] รายงานประจำปี 2566 จัดทำขึ้นในเดือนมิถุนายน สำรวจคำตอบจากผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 600 คน อายุ 18-65 ปี ในกลุ่มชนชั้นกลาง (Mass) (รายได้ <50,000 บาท) กลุ่มชนชั้นกลางผู้มั่งคั่ง (Mass Affluent) (รายได้ 50,000 – 199,000 บาท) และกลุ่มมั่งคั่ง (Affluent) (รายได้ ≥200,000 บาท)