เทนเซ็นต์ คลาวด์ กับยุทธศาสตร์แบ่งเค้ก บริการคลาวด์ 5.44 หมื่นล้าน
“ประเมินการแข่งขันธุรกิจผู้ให้บริการคลาวด์ปี 2566 ในมุมมองของ ชาง ฟู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) บนเส้นทางการแข่งขันที่เปิดกว้าง เพื่อผลักดันนวัตกรรมดิจิทัลสู่องค์กร และความเห็นต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารไอที ในมิติของการพิจารณาลงทุนเลือกผู้ให้บริการคลาวด์
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาการแข่งขันในธุรกิจผู้ให้บริการคลาวด์ มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ทุกองค์กรต่างเร่งพัฒนาตัวเองไปสู่ธุรกิจดิจิทัล โดยเฉพาะช่วงหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ภาคธุรกิจต้องการเร่งการเติบโต เร่งสร้างนวัตกรรม สร้างช่องใหม่ๆ โดยอาศัยโมเดลการลงทุน ประสิทธิภาพ ความคล่องตัวจากโครงสร้างพื้นฐานและแอปพลิเคชันในรูปแบบของคลาวด์
ในประเทศไทย การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2566 มูลค่าการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะ จะโตขึ้น 31.8% หรือ 5.44 หมื่นล้านบาท จาก 4.13 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยในปี 2566 บริการ Infrastructure-as-a-service (IaaS) จะเป็นหมวดที่มียอดการใช้จ่ายโตมากสูงสุดที่ 41.9% และทุกหมวดบริการจะโตในระดับเลขสองหลัก
นอกจากนั้นเรายังเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ให้บริการคลาวด์ และผู้ให้บริการเทคโนโลยีต่างๆ ที่สะท้อนการเติบโตของการใช้งานคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นลักษณะการเติบโตที่ส่งผลถึงกันในอีโคซีสเต็ม ส่งผลโดยตรงต่อตัวเลขการลงทุนในอุตสาหกรรมไอซีทีในภาพรวม
CIO World Business มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ ชาง ฟู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด ในฐานะผู้บริหาร เทนเซ็นต์ คลาวด์ ประเทศไทย ในหลายๆ ประเด็นเรื่องธุรกิจผู้ให้บริการคลาวด์ ที่สามารถสะท้อนได้ถึงภาพรวมของการแข่งขัน
การประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้งานคลาวด์ในมิติต่างๆ รวมถึง ความเห็นต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารไอที ในมิติของการพิจารณาลงทุนเลือกผู้ให้บริการคลาวด์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและรูปแบบบริการคลาวด์
การแข่งขันที่เปิดกว้าง ผลักดันนวัตกรรมดิจิทัลสู่องค์กร
ชาง เริ่มบทสนทนาว่า “ในตลาดผู้ให้บริการคลาวด์นั้น มีผู้ให้บริการคลาวด์ในหลายๆ โมเดลจากหลายๆ แบรนด์เข้ามาในอุตสาหกรรม ซึ่งการแข่งขัน ย่อมส่งเสริมให้เกิดสินค้าและบริการที่ดีขึ้น เป็นผลดีกับองค์กรผู้ลงทุนเทคโนโลยีและผู้บริโภคอย่างแน่นอน หน้าที่สำคัญของผู้เข้าแข่งขันในตลาดคือ ความพยายามสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น”
“สำหรับ เทนเซ็นต์ คลาวด์ ที่อาศัยหลักการเป็นผู้สร้างนวัตกรรมและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งมาโดยตลอด จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของเรา ทั้งในอุตสาหกรรมความบันเทิง เกม การสื่อสารภาพ เสียง และวิดีโอ ซึ่งหลายๆ องค์กรลูกค้าสามารถต่อยอดเอาโซลูชันเหล่านั้นไปสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้ลูกค้าของเขา สร้างการเติบโตได้”
“ในปีนี้ เราจะเห็นผู้ให้บริการคลาวด์ สร้างการแข่งขันโดยหาจุดแข็งของตัวเอง เพื่อตอบความต้องการของลูกค้ากลุ่มองค์กร ในอุตสาหกรรมนี้ไม่มีเจ้าตลาดที่สามารถให้บริการหรือมีความเชี่ยวชาญไปหมดทุกโซลูชัน สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าเองก็วางกลยุทธ์สำหรับการใช้คลาวด์ในรูปแบบของ มัลติคลาวด์ จากผู้ให้บริการคลาวด์ หลายๆ ราย”
“ในทางปฏิบัติของลูกค้านั้น ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจที่จะลงทุนคลาวด์ พวกเขามีหน้าที่ต้องเฟ้นหาผู้ให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจและองค์กรที่ดีทีสุด ซึ่งใครที่เหมาะสมกับบริการหรือความต้องการของลูกค้าที่สุดก็จะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก” ชาง กล่าว
ความต้องการจะอยู่ที่ Big Data, IoT และพลังการประมวลผล AI
“ผมเชื่อว่า จากจุดยืนที่มาจากการกลยุทธ์ของแต่ละองค์กรในการเลือกใช้โครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด หรือ พับบลิค คลาวด์ ซึ่งคลาวด์ระดับของโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) ได้กลายเป็นมาตรฐานที่ฝั่งองค์กรลูกค้าต้องการเสถียรภาพของโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ธุรกิจ ในสถานการณ์ที่มีข้อมูลเพิ่มขึ้น มีอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้นทุกวัน”
“จนมาถึงวันที่ความต้องการบริการคลาวด์ในระดับของซอฟต์แวร์ (SaaS) หรือแพลตฟอร์ม (PaaS) จุดนี้เองที่ผมเห็นว่า ความต้องการของฝั่งธุรกิจได้ก้าวเข้าสู่บริการคลาวด์ในระดับของ (SaaS) หรือแพลตฟอร์ม (PaaS) มีการลงทุนและการใช้งานมากขึ้นในปีนี้”
“ผมมองว่าในปีนี้ บิ๊กดาต้าโซลูชัน ไอโอทีโซลูชัน พลังการประมวลผลเรื่องเอไอ กำลังอยู่ในจังหวะที่เป็นความต้องการของธุรกิจ ซึ่งเราจะเห็นการผสานกันของโซลูชันต่างๆ ที่กล่าวมา ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดคลาวด์เนทีฟโซลูชันบนพื้นฐานของเทคโนโลยี” ชาง ออกความเห็น
วางกลยุทธ์ สร้างการเติบโตของพันธมิตรทางธุรกิจ
คำถามสำคัญคือ เทนเซ็นต์ คลาวด์ วางกลยุทธ์รับมือการแข่งขันอย่างไร ซึ่ง ชาง อธิบายว่า “ในแต่ละปีเรามีความท้าทายที่แตกต่างออกไป ในฐานะที่เราเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ เราพยายามที่จะเติมเต็มความต้องการที่จำเป็นของลูกค้า ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นสากล รวมถึงกฎข้อบังคับของแต่ละประเทศ”
“ในปีนี้ เทนเซ็นต์ คลาวด์ วางกลยุทธ์เรื่อง สร้างการเติบโตของพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเมื่อพูดถึงคำว่า พันธมิตรทางธุรกิจ มันมีสองมุมมองนั่นคือ มุมมองแรก การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง เทนเซ็นต์ คลาวด์ กับองค์กรลูกค้า เราต้องการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในเชิงของการสร้างนวัตกรรม ที่ส่งเสริมและหนุนให้เกิดการขับเคลื่อนดิจิทัล และร่วมสร้างมูลค่าไปด้วยกัน”
“ขณะที่พันธมิตรทางธุรกิจในอีกมุมหนึ่งคือ ความร่วมมือระหว่าง เทนเซ็นต์ คลาวด์ กับคู่ค้า เรามียุทธ์ศาสตร์ที่จะสร้างการเติบโตทั้งจำนวนและขยายความร่วมมือให้กว้างมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยให้เกิดความสามารถในการบริการมากขึ้นกับลูกค้าระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ สำหรับการลงมือในโครงการคลาวด์ต่างๆ”
“ซึ่งแน่นอนว่าการมีคู่ค้าพันธมิตรจำนวนมากย่อมเป็นสิ่งที่ดีกับธุรกิจ แต่เราก็มีเงื่อนไขในการเลือกด้วย ซึ่งต้องมั่นใจได้ถึงความสามารถ ทักษะความชำนาญที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีหรือโซลูชันของเรา” ชางกล่าว
สร้างบริการคลาวด์ด้วยประสบการณ์และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน
“ถ้าย้อนไปดูที่มาประสบการณ์และเทคโนโลยีของเรา แน่นอนเรามีจุดแข็งหลายๆ เรื่อง อาทิ Web3 เมตาเวิร์ส ออดิโอ วิดีโอเกม ซึ่งนี่คือจุดแข็งหลักๆ ของเราที่มีความชำนาญ”
“แต่ข้อพิจารณาคือ การมีแอปพลิเคชันที่เป็นจุดแข็งต่างๆ เหล่านั้น จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีและองค์ความรู้พื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นฐานรากที่สำคัญ นั่นทำให้เราสามารถสร้างนวัตกรรมบริการคลาวด์ต่างๆ บนโครงสร้างพื้นฐานนั้นได้”
“ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเทนเซ็นต์ จะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านแอปพลิเคชันคลาวด์สำหรับมีเดีย แน่นอนเราก็มีโซลูชันสำหรับแต่ละภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถให้บริการได้ในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งสามารถปรับให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าองค์กร”
“อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากเทคโนโลยีแล้ว เทนเซ็นต์ คลาวด์ ยังคงยึดหลักการสำคัญที่เป็นหัวใจของความสำเร็จสำหรับการเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ คือ ยุทธศาสตร์ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถที่จะให้บริการด้วยทีมงานที่มีความชำนาญ” ผู้บริหาร เทนเซ็นต์ คลาวด์ กล่าว
บทบาทที่เปลี่ยนไปของ CIO ในยุคของคลาวด์
“บทบาทที่เปลี่ยนไปของ CIO ในยุคของคลาวด์ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ” เขากล่าว และเสริมว่า “จากประสบการณ์ของผมที่เคยรับตำแหน่ง CIO มาก่อน ซึ่งงานของผมนั้นไม่เพียงรับผิดชอบแค่เรื่องโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยีให้องค์กรเท่านั้น แต่จะต้องมองภาพให้เห็นถึงทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้ฟังก์ชันทางธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือการผลักดันให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น”
“และสิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือ การผลักดันให้บทบาทของแผนกไอที ให้เปลี่ยนจากบทบาทของ ศูนย์ต้นทุน (Cost Center) ทำหน้าที่สนับสนุนและอยู่เบื้อหลัง ต้องปฏิรูปให้กลายเป็นศูนย์กำไร (Profit center) คำถามคือ คุณในฐานะ CIO จะทำอย่างไรด้วยวิธีการที่ดีที่สุด ที่สามารถใช้เทคโนโลยีไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการปฏิบัติงาน”
ขอคิดการพิจารณาเลือกใช้คลาวด์
“สิ่งที่ผมอยากให้ความเห็นเมื่อต้องการพิจารณาลงทุนเลือกผู้ให้บริการคลาวด์ สิ่งที่เป็นพื้นฐานความคิดอันดับแรกเลยคือ การพิจารณาย้ายระบบไอทีไปสู่คลาวด์ ทุกคนควรจะต้องมีความในทิศทางนี้เป็นประการแรก ในยุคสมัยนี้”
“ประการต่อมา ในกรณีที่ต้องตัดสินใจเลือกคลาวด์ในระดับโครงสร้างพื้นฐาน คือ การคำนึงเสถียรภาพของระบบ ดาวน์ไทม์ต่างๆ และพลังการประมวลผล”
“และเมื่อคุณสามารถที่จะย้ายแอปพลิเคชันไปสู่คลาวด์ การบริการเป็นเรื่องที่คุณต้องคำนึงถึงเป็นประการแรกๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแอปพลิเคชันที่ต้องการ ฟีเจอร์อะไรที่ต้องใช้คลาวด์ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นขึ้นอยู่กับว่าการเลือกใช้เทคโนโลยีอะไรจะเหมาะสมกับความต้องการการประมวลผล และการบริการดีที่สุด”
“ผมอยากจะสื่อสารไปยังผู้บริหารในสายงานเทคโนโลยีว่า การปฏิรูปทางดิจิทัลให้องค์กรนั้น มีความสำคัญ และเป็นเป้าหมายหลักของของแต่ละคน ต้องมองถึงองค์กรของตัวเองว่ามีความพร้อมอยู่ที่จุดไหน ประสิทธิภาพของตัวเองเป็นอย่างไร และพิจารณาว่าเทคโนโลยีใดที่จะสามารถนำมาซึ่งประสิทธิภาพ พัฒนาหรือยกระดับ กระบวนการทำงาน
“คุณต้องยอมรับข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจมันก่อน ว่าตัวองค์กรมีความพร้อมหรือมีความสามารถอะไร และอะไรคือเครื่องมือหรือกระบวนการที่จะเข้ามาช่วยให้ประสบความสำเร็จ”
“ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน วางตัวชี้วัดให้ถูกต้องว่าคืออะไร วางแผนงานและลงมือปฏิบัติไปในแต่ละขั้นตอน ประเมินเทคโนโลยีให้ดี ประเมินความสามารถของตัวเอง และเลือกพันธมิตรทางเทคโนโลยีที่ถูกต้อง แนวคิดและแนวปฏิบัติเหล่านี้จะสามารถนำพาให้โครงการคลาวด์ของคุณเกิดผลสำเร็จ และช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างมีปะสิทธิภาพ” ชาง กล่าวสรุป