Saturday, November 23, 2024
NEWS

ทีม ไม่เลือกเวลาทำงาน คว้ารางวัลสุดยอดแคมเปญ EDC Pitching 2023

ETDA ประกาศผล โครงการ EDC Pitching 2023 ทีม ไม่เลือกเวลาทำงาน จากผลงาน แคมเปญ “Too Cool to Be Fooled เจ๋ง เกินกว่าจะ เจ๊งคว้ารางวัลสุดยอดแคมเปญ ป้องกันภัยออนไลน์

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท และ บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (Dek-D) จัดการประกวดโครงการ EDC Pitching  2023 ภายใต้แนวคิด “Digital in Hand  แคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดแคมเปญป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ ที่เหมาะสมสำหรับคนไทย ให้สามารถท่องโลกดิจิทัลอย่างมั่นใจและปลอดภัย

โดยทีม “ไม่เลือกเวลาทำงาน” เจ้าของผลงาน “Too Cool to Be Fooled เจ๋ง เกินกว่าจะ เจ๊ง” ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท โล่รางวัลและประกาศนียบัตร พร้อมเตรียมนำผลงานต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง เพื่อสร้างเกราะป้องกันและสร้างพลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันภัยออนไลน์

ชัยชนะ  มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนสำคัญสำหรับคนทุกเจนเนอเรชั่น ที่มีการนำไปใช้งานทั้งในด้านการเรียน การทำงาน การใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งในหลายๆ อุตสาหกรรมได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่า สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อมูลค่าการเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

ในขณะเดียวกัน เราคงหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตามมาไม่ได้ ก็คือภาวะภัยคุกคามทางออนไลน์จากผู้ไม่หวังดี ที่ส่งผลกระทบทั้งในมิติความเชื่อมั่น และความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น การละเมิดความเป็นส่วนตัว การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดเผยหรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การฉ้อโกงและการหลอกลวง เพื่อดึงข้อมูลส่วนตัวผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อีเมล การส่งข้อความ รวมถึงโทรศัพท์ การแพร่กระจายเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี AI ในทางที่ผิด หลอกลวง อย่าง Deep Fake รวมถึงปัญหาการไซเบอร์บูลลี่  ฯลฯ ขณะที่ จากสถิติของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 ETDA ในภาพรวมปี 2565 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์รวมกว่า 67,141 เรื่อง (เพิ่มขึ้นกว่า 23.5% จากปี 2564) ปี 2566 เฉพาะครึ่งปีแรกตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 พบเรื่องร้องเรียนที่เข้ามารวมกว่า 47,887 เรื่อง ตัวเลขเหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงสภาพปัญหาของสังคมในปัจจุบัน

ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยเกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างมั่นใจ ปลอดภัย รวมไปถึงสนับสนุนให้หน่วยงานมีการทรานส์ฟอร์ม (Transform) สู่การดำเนินงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการผลักดันการเติบโตของประเทศในภาพรวม สิ่งที่ต้องส่งเสริมแบบคู่ขนานคือ การพัฒนาความรู้ ความเข้าใจของคนในประเทศ

ซึ่งความรู้พื้นฐานที่สำคัญนั่นคือความตระหนักในการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่การเจาะจงเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แต่ละกลุ่มล้วนมีความเสี่ยงในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ดังนั้น การดำเนินงานจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อการวางแผนการดำเนินงานได้ตรงจุด และสามารถเกิดผลประโยชน์ได้จริง จึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท และ บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (Dek-D) จัดกิจกรรม ETDA Digital Citizen Pitching หรือ EDC Pitching 2023 ปีที่ 1 ขึ้น ภายใต้แนวคิด“Digital in Hand  แคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์

เพื่อเฟ้นหาสุดยอดแคมเปญป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ ที่เหมาะสมสำหรับคนไทย ให้สามารถท่องโลกดิจิทัลอย่างมั่นใจและปลอดภัย สู่การต่อยอดขยายผลของเครือข่ายความร่วมมือ ในการส่งต่อความรู้สู่สังคมร่วมกับ ETDA และพาร์ทเนอร์ ในการร่วมสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ที่ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศมากยิ่งขึ้น

รองชนะเลิศอันดับ 1ได้แก่ ทีม Powerpoint Girls จากผลงานแคมเปญ “ออนไลน์เมื่อพร้อม” ซึ่งเป็นคอนเทนต์หนังสั้นที่ให้ความรู้เรื่อง Digital Footprint และกฎหมายเผยแพร่สื่อลามกให้กับกลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตร,

รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมสิทธิวิไล แฟมมิลี่  จากผลงานแคมเปญ“เกมกลเม็ดแก้เผ็ดภัยลงทุนออนไลน์” ซึ่งเป็นบอร์ดเกมสร้างความรู้และวิธีสังเกตความเสี่ยง เตรียมพร้อมรับมือจากชุดความรู้ผ่านเหตุการณ์สมมติ รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตร และรางวัลชมเชย 7 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ ทีม Flawless Group, ทีม ELLALLE , ทีม ทีมงานบิดาและบุตรและบุตร, ทีม สุขใจวัยเก๋า, ทีม อัปสกิลวัยเก๋ารู้เท่าทันแกงค์คอลเซ็นเตอร์, ทีม To be creator และ ทีม จระเข้น้อยเล็กกุล

พร้อมกันนี้ ภายในงานยังมีการมอบประกาศนียบัตรเพื่อการันตีความพร้อมในการเป็นเครือข่าย EDC และ ETDA ที่พร้อมส่งต่อความรู้สู่สังคม ให้กับ EDC Trainer รุ่น 2 ประจำปี 2566 ที่ผ่านกระบวนการอบรมพัฒนาศักยภาพและทักษะ จำนวน 56 คน ด้วย

“EDC Pitching นับเป็นหนึ่งก้าวใหม่…ก้าวใหญ่ครั้งสำคัญของ ETDA ที่ช่วยยกระดับการถ่ายทอดความรู้จากการลงพื้นที่อบรม  สู่หลากหลายไอเดียที่เกิดขึ้นจาก Community ของเครือข่ายทุกช่วงวัย ตลอดจนจากคนในสังคมที่มีศักยภาพ ที่มาร่วมสร้างสรรค์แคมเปญ ที่เปรียบเสมือนคลังความรู้ วัตถุดิบที่พร้อมสู่การพัฒนาต่อยอดการส่งต่อความรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสู่สังคมตลอดจนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในวงกว้างยิ่งขึ้น

โดยก้าวต่อไปของ ETDA สำหรับภารกิจครั้งสำคัญนี้ นอกจากการปรับปรุงหลักสูตร EDC ให้มีความเข้มข้น ลงลึก ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสามารถโฟกัสกับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ พร้อมขยายช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้เข้าถึงคนไทย ที่ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มที่รับสื่อทางออนไลน์เท่านั้น แต่ยังขยายโอกาสไปยังกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน และเร่งขยายเครือข่าย EDC Trainer ไปยังกลุ่มครู นักศึกษา ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการส่งต่อความรู้สู่สังคมมากขึ้น

ภายใต้การดำเนินงานผ่านการผสานความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐ-เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อให้การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) กลายเป็นทักษะสำคัญหรือทักษะพื้นฐานของคนไทย พร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากที่สุด” ชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลเพิ่มเติม

สำหรับจัดกิจกรรม ETDA Digital Citizen Pitching หรือ EDC Pitching ปีที่ 1 ในหัวข้อ “Digital in Hand  แคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์” เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ ที่มีไอเดีย ไม่จำกัดอายุ และการศึกษา ร่วมสร้างสรรค์แคมเปญ (แผนงาน, สื่อที่ใช้, กลุ่มเป้าหมาย, กิจกรรม, ฯลฯ) ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับหลักสูตร EDC และตอบโจทย์คนไทยในการช่วยสร้างความตระหนักรู้

และป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน สู่การต่อยอดขยายผลของเครือข่ายความร่วมมือ ในการส่งต่อความรู้สู่สังคมร่วมกับ ETDA และพาร์ทเนอร์ ในการร่วมสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ที่ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศมากยิ่งขึ้น

โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 มีทีมสมัครเข้าร่วมกิจกรรม 34 ทีม ก่อนคัดเลือกเข้มเหลือ 10 ทีมสุดท้าย ได้แก่ ทีม ELLALLE, ทีม Flawless Group, ทีม Powerpoint Girls, ทีม To be creator, ทีมจระเข้น้อยเล็กกุล, ทีม ทีมงานบิดาและบุตร, ทีมไม่เลือกเวลาทำงาน, ทีมสิทธิวิไล แฟมมิลี่, ทีมสุขใจวัยเก๋า และ ทีมอัปสกิลวัยเก๋ารู้เท่าทันแกงค์คอลเซ็นเตอร์  ซึ่งที่ผ่านมาทุกทีมได้เข้าร่วมกิจกรรม Online Workshop พัฒนาทักษะ ไอเดีย เพื่อต่อยอดแคมเปญและสื่อประชาสัมพันธ์ได้ตรงกับเป้าหมายในสังคมมากขึ้น