“ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน เนคเทค เปิดบ้านต้อนรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม พร้อมให้บริการตรวจประเมิน คำปรึกษาทางเทคนิค และสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ร่วมกับพันธมิตร
จัดกิจกรรมเปิดบ้าน SMC OPEN HOUSE เพื่ออัปเดตความก้าวหน้าการดำเนินงานและบริการของ SMC ภายในงานมีการบรรยายพิเศษจากสภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการภาคเอกชน ถึงทางเลือก ทางรอด ประสบการณ์การปรับตัวสู่ Industry 4.0
กิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโรงงานจำลองเพื่อการเรียนรู้ และเครื่องมือทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Industry 4.0 และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าภายในศูนย์ฯ
ภายในงานยังมีนิทรรศการผลงานจากนักวิจัย พันธมิตรและเครือข่ายสมาชิกของ ศูนย์ฯ มาร่วมจัดแสดง พร้อมทั้งพื้นที่เจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตได้อย่างยั่งยืน
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ได้กล่าวต้อนรับผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม และผู้เข้าร่วมงาน SMC Open House โดยได้เล่าถึงเป้าหมายหลักของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0
โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน รวมทั้งแนะนำบริการต่างๆ ของศูนย์ฯ ที่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต อาทิ
1) บริการตรวจประเมินระดับความพร้อมของโรงงาน
2) บริการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร
3) บริการให้คำปรึกษาทางเทคนิคและคำปรึกษาเกี่ยวกับแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์
4) บริการพัฒนาระบบตามความต้องการของอุตสาหกรรม
และ 5) บริการเครื่องมือสำหรับทดสอบและเรียนรู้
สิทธิประโยชน์พิเศษที่ทางศูนย์ฯ จัดเตรียมให้กับผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ได้ลงทะเบียนก่อนใคร ได้แก่
- การตรวจประเมินระดับความพร้อมของโรงงานด้วยดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย (Thailand i0 Index) ฟรี
- คำปรึกษาการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม0 ฟรี
- ทุนสนับสนุนสำหรับการใช้งานแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม
- ทุนสนับสนุนสำหรับทดสอบการใช้งานโครงข่าย 5G ในโรงงานอุตสาหกรรม
Testbed ภายในศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน
Smart Maintenance
เป็นระบบจำลองโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต มีทั้งสายการผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติ และระบบสนับสนุน สามารถปรับเปลี่ยนระบบประมวลผลและสั่งการ (SCADA) ของสายการผลิต เพื่อการศึกษาได้ สามารถทดลองและศึกษาการติดตั้งใช้งานอุปกรณ์เซนเซอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ได้ รวมถึงการศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรทางกายภาพต่างๆ ที่จะมีผลต่อประสิทธิภาพของระบบ
สามารถทดสอบและศึกษาเรียนรู้กระบวนการการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบต่างๆ ในโรงงาน ด้วยเทคโนโลยี IoT และนำข้อมูลไปใช้เพื่อการประมวลผลด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การวิเคราะห์ประสิทธิผลการผลิต และงานบำรุงรักษา และมีชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลัง (Motor and Transmission Testbed) ที่สามารถสร้างจุดบกพร่องเพื่อการตรวจวัดค่าที่เปลี่ยนแปลงทั้งด้านการสั่นสะเทือน และตัวแปรทางไฟฟ้า
Industrial Automation Testbed
ชุดสาธิตการผลิตทำงานแบบอัตโนมัติร่วมกับ Robot มีเซ็นเซอร์ ควบคุมการทำงานประสานระบบผ่านเครือข่าย Ethernet เพื่อทำงาน ร่วมกับหุ่นยนต์และระบบแมคคาทรอนิกส์ในสายการผลิต
ควบคุมการทำงานแสดงผลแบบเรียลทามผ่านระบบ SCADA วัดประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักรด้วย OEE ถูกใช้เป็น มาตรฐานสำหรับการวัดประสิทธิภาพการผลิต โดยเป็นการวิเคราะห์ ผลลัพธ์ของสายการผลิตที่แสดงในการตั้งค่าการใช้งานจริงเหมือนในโรงงาน
ข้อมูลนำเสนอผ่านฐานข้อมูล ระบบคลาวด์โดยเลือกใช้กับทุกอุปกรณ์คลาวด์ที่มีอยู่ได้ประโยชน์ สามารถนำองค์ความรู้ทางด้านสายการผลิตในอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาต่อยอด Smart Factory 4.0
Demoline (Flexible manufacturing)
ไลน์การผลิตจำลองแสดงเทคโนโลยี Industry 4.0 โดยมีตัวอย่างการทำงานสองประเภท ได้แก่ ไลน์การประกอบอุปกรณ์ (Assembly) และไลน์การบรรจุของเหลวลงขวด มีstation สำหรับการจัดทำหีบห่อ และติดสติ๊กเกอร์ มีชั้นวางสำหรับเก็บวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่ประกอบเสร็จแล้ว และซอฟต์แวร์ Siemens Tecnomatix ที่สามารถจำลองการทำงานภายในไลน์การผลิต ออกแบบผลิตภัณฑ์ และวางแผนการทำงานได้
3D Scanner Robot
แพลตฟอร์มหุ่นยนต์สแกนและตรวจสอบชิ้นงานสามมิติขึ้นโดยมีส่วนประกอบสำคัญของระบบอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ (1) สแกนเนอร์สามมิติ (2) แขนกล (3) โต๊ะหมุน (Turn table) และ (4) ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น โดยการทำงานเริ่มจากการวางชิ้นงานที่ต้องการสแกนถูกนำมาวางบนโต๊ะหมุน
โดยชิ้นงานนั้นจะมีหรือไม่มีต้นแบบ CAD ก็ได้ จากนั้นระบบจะสแกนเบื้องต้นเพื่อให้ได้ข้อมูลพอยท์คลาวด์คร่าวๆ ของชิ้นงาน จากนั้นซอฟต์แวร์จะคำนวณหามุมมองที่ดีที่สุด (Next-Best-View) สำหรับสแกนโดยอัตโนมัติ
เพื่อให้ได้ข้อมูลพอยท์คลาวด์ของชิ้นงานโดยครบถ้วน โดยมีการพิจารณาพื้นที่ซ้อนทับ (Coverage area) เพื่อช่วยลดจำนวนมุมมองที่จะต้องทำการสแกน ซึ่งจะทำให้การสแกนเสร็จเร็ว โดยมีจุดเด่นคือซอฟต์แวร์สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท
ระบบมีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับเปลี่ยนองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ตัว คือ สแกนเนอร์สามมิติ แขนกล และโต๊ะหมุน ให้เป็นรุ่นหรือยี่ห้อต่างๆ ที่เหมาะสมกับประเภทของงานที่ต้องการและตามงบประมาณที่มีได้ โดยสแกนเนอร์สามมิติที่นำมาใช้งานในระบบต้องมี API หรือ SDK ที่สามารถใช้ในการควบคุมการทำงานได้ และแขนกลต้องรองรับ ROS
UNAI-UWB Indoor Positioning Platform
ต้นแบบแพลตฟอร์มระบบติดตามตำแหน่งและตรวจนับ Pallet สินค้า สามารถทำงานร่วมกับระบบบริหารจัดการคลังสินค้า WMS ใช้ในการติดตามตำแหน่งของรถ Forklift หรือ AGV ในคลังสินค้า และเฝ้าติดามผ่านเครือข่าย 5G สามารถนับจำนวนสินค้าคงคลังได้อัตโนมัติ มีความแม่นยำในการระบุตำแหน่ง มีความผิดพลาดต่ำกว่า 1 เมตร
UNAI-BLE Indoor Positioning Platform
ต้นแบบแพลตฟอร์มระบบติดตามตำแหน่ง สำหรับติดตามคนและสิ่งของขนาดใหญ่ ใช้ในการติดตามตำแหน่งของรถ เจ้าหน้าที่ หรือ ครุภัณฑ์ ในคลังสินค้า หรือโรงงาน และเฝ้าติดามผ่านเครือข่าย 5G โดยมีความแม่นยำในการระบุตำแหน่ง มีความผิดเฉลี่ย 4.5 เมตร เหมาะสำหรับการติดตามแบบ Zoning
ชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลัง (Motor and Transmission System Testbed)
ให้บริการแท่นทดสอบวัดประสิทธิภาพมอเตอร์ไฟฟ้า และบริการแท่นทดสอบวัดคุณลักษณะมอเตอร์ไฟฟ้า
EV HIL Testing Service
dSPACE SCALEXIO HIL System เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการสร้างแบบจำลองยานยนต์ไฟฟ้า แบบเสมือนจริง และ มีการประมวลผลแบบ Real-Time เพื่อใช้ทดสอบฟังค์ชั่นการทำงานต่างๆ ของระบบควบคุมสำหรับ ยานยนต์ไฟฟ้า
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ภายในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัยตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบการสาธิต การเรียนรู้และการทดลองปฏิบัติจริง รวมไปถึงกิจกรรมวิจัยเพื่อการสร้างนวัตกรรม
SMC ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย เพื่อมุ่งไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) และส่งแรงขับเคลื่อนถึงการเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Thailand 4.0) ตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อนัดหมายเข้าเยี่ยมชมดูงานได้ที่ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน