Thursday, November 21, 2024
ArticlesColumnistSupon Phrommaphan

RE SKILL-UPSKILL บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ด้าน IT

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สานต่อโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ด้าน IT NON DEGREE, RE SKILL- UP SKILL สร้างกำลังคนตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย

มื่อวันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดพิธีเปิดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ด้าน IT (NON DEGREE), RE SKILL- UP SKILL รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดย ผศ.ดร.ธนา สุขวารี คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ อาคาร 40 ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม โซน C

โดยในโครงการนี้ มี 4 หลักสูตร คือ Big Data, Cyber Security Internet of Things (IoT) and Industries Transformation ทั้งนี้ มีบุคลากรผู้บริหารทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก โดยรุ่นที่ 1 มีจำนวน 210 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 230 คน

สำหรับโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ด้าน IT NON DEGREE, RE SKILL- UP SKILL รุ่นที่ 2 นี้ เป็นโครงการที่กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. มุ่งเน้นยกระดับสมรรถนะเพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในยุค THAILAND 4.0

ผู้เขียน : ผศ.สุพล พรหมมาพันธุ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เชี่ยวชาญเรื่องระบบข้อมูลสารสนเทศ การวางกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร รวมถึงกลยุทธ์ออนไลน์

ดังที่ ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เคยกล่าวรายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ (ปี 2561-2565) และสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม (New Growth Engine) ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2561

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในฐานะรับผิดชอบการสร้างบัณฑิตในระดับอุดมศึกษา ได้ดำเนินโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 23 แห่ง ตั้งแต่ในปี 2561 เป็นต้นมา โดยจัดการเรียนการสอนแบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) จำนวน 123 หลักสูตร และหลักสูตรระดับปริญญา (Degree) 99 หลักสูตร

ในส่วนของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้จัดดำเนินโครงการนี้โดยได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเป็นการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และกำลังคนตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย จำนวน 4 หลักสูตร คือ

หลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับธุรกิจดิจิทัล (Cyber Security for Online Business), หลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของผู้บริโภคโดยใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (Consumer Insights Analytics and Data Center with Big Data Technology), หลักสูตรการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล และความเข้าใจผู้บริโภคในเชิงลึก (Industries Transformation with Data Analytics and Consumer Insights) และหลักสูตร เทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม 4.0 (Technology Internet of Things for Industry 4.0)

โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และกำลังคนให้มีศักยภาพสูงทั้งเชิงวิชาการและวิชาชีพ ที่ทันต่อความต้องการของการทำงานในภาคอุตสาหกรรมใหม่สู่ New-S-Curve และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ และเพื่อสร้างฐาน (Platform) การพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งอนาคต โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิต และสร้างต้นแบบของหลักสูตรและการเรียนการสอน

โดยเน้นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระ โครงสร้างหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอนประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสภาพจริงเป็นสำคัญ พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างให้ผู้เรียนให้มีสมรรถนะและศักยภาพสูง รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตและกำลังคนของประเทศ

ด้วยโครงการ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ด้านไอที (Information Technology: IT) มีกำหนดการเรียน รวมทั้งการศึกษาดูงาน ณ สถานประกอบการจริง ซึ่งใช้ระเวลาถึง 6 เดือน

ความสำคัญของ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

โดยในงานพิธีเปิดโครงการ มีการบรรยายถึงรายละเอียดในแต่ละหลักสูตร โดยเฉพาะ (Cyber Security for Online Business) ในหัวข้อ Cyber Security Awareness โดย นนทวัตต์ สารมาน นายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) ที่อธิบายถึงสถานการณ์โดยรวมของภัยคุกคามไซเบอร์ ซึ่งสะท้อนถึงเหตุผล ความสำคัญของหลักสูตรดังกล่าว

นนทวัตต์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ เล่าสถานการณ์ของโลกแห่งความปลอดภัยว่า “ในช่วงที่ไวรัส COVID-19 กำลังระบาดอยู่นี้ มีหลายบริษัทถูกเจาะระบบ ธุรกิจสมัยใหม่ต้องอาศัยข้อมูล นั่นหมายถึงความเสี่ยงและโอกาสจะถูกละเมิดข้อมูลหรือข้อมูลรั่วไหลมากขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น Ransomware ที่ซับซ้อน”

“ดังนั้นองค์กรสมัยใหม่ ต้องรู้เท่าทัน ต้องมองให้เห็น โดยอาศัยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการโจมตีไซเบอร์ส่วนใหญ่จะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ (Exploit) จากจุดอ่อนของระบบความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งจุดอ่อนทางด้านความมั่นคงปลอดภัยก็มีหลายประเภท เช่น รหัสผ่านที่ไม่แข็งแกร่ง ผู้ใช้ที่หลงกดเข้าหน้า Login ปลอม หรือไฟล์แนบแฝงมัลแวร์ที่ผู้ใช้เผลอเปิดโดยไม่ระวัง เป็นต้น”

“และขอบเขตของการมองเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์กว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะอุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ (Internet of Things: IoT) ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น เครื่องซักผ้า ทีวี รวมถึง การทำความเข้าใจกับกฎหมายเกี่ยวกับ Cyber ที่ประกาศใช้ไปแล้ว และจะมีขึ้นอีกในอนาคตจึงมีความสำคัญ”

หลายๆ องค์กรนำกรอบปฏิบัติ NIST Framework คือ NIST Cybersecurity Framework เป็นหนึ่งในกรอบทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อย่างมากใน (catcyfence.com) ประกอบด้วย (1) Identify การระบุและเข้าใจถึงบริบทต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยง (2) Protect การวางมาตรฐานควบคุมเพื่อปกป้องระบบขององค์กร (3) Detect การกำหนดขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ เพื่อตรวจจับสถานการณ์ที่ผิดปกติ

(4) Respond การกำหนดขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้น และ (5) Recovery การกำหนดขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง และฟื้นฟูระบบให้กลับคืนมาเหมือนเดิม

จะเห็นได้ว่า เรื่องของ Cyber Security มีความสำคัญมากต่อองค์กร และองค์กรเองก็ต้องให้ความสำคัญ ตัวอย่างเช่น การจัดเก็บข้อมูล Log File ของผู้ใช้เอาไว้ 90 วัน เป็นต้น ซึ่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์มีครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ และข้อมูลส่วนบุคคล เป็นข้อมูลที่อ่อนไหว พนักงานขององค์กรจึงต้องทำความเข้าใจ ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่ใน ปี พ.ศ.2560 อีกด้วย