“เก็บสาระสำคัญจากการบรรยายของ ดร.อิศรา ดิสรเตติวัฒน์ ในหัวข้อ Develop Digital Workforce Skill as the Real key of Industry Transformation ที่เน้นย้ำถึงหน้าที่ของฝ่ายพัฒนาบุคลากรมนุษย์กับการพัฒนาทักษะดิจิทัลของแรงงานยุคใหม่ การปฏิวัติอุตสาหกรรม
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดบรรยายพิเศษโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ด้าน IT (NON DEGREE), RE SKILL- UP SKILL รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563 สำหรับหลักสูตรการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลและเข้าใจผู้บริโภคในเชิงลึก (Industries Transformation with Data Analytics and Consumer Insights)
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ คือ ดร.อิศรา ดิสรเตติวัฒน์ เจ้าของบริษัท CSR Consulting และผู้พัฒนา แพลตฟอร์ม Anna Digital HR บรรยายในหัวข้อ Develop Digital Workforce Skill as the Real key of Industry Transformation มีประเด็นที่น่าสนใจโดย สรุปประมวลความได้ดังต่อไปนี้
การปฏิวัติอุตสาหกรรม ในยุคที่ 4
ดร.อิศรา ดิสรเตติวัฒน์ บรรยายว่า การเปลี่ยนแปลงของโลก และยุคปกติใหม่ การทำธุรกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เคยกล่าวไว้ว่า “ในโลกใหม่มันไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาตัวเล็ก แต่เป็นปลาที่ว่ายเร็วกินปลาที่ว่ายช้า” เทคโนโลยีเป็นตัวทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวเร่งความเร็ว คือ จากยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล จากยุคดิจิทัลสู่โลกของการเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต จากนั้นก้าวเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย และยุคของโมบาย
ดร.อิศรา ได้อธิบายในยุคของ การเปลี่ยนแปลง ที่ต้องต่อสู้กันระหว่าง การทำลายล้าง กับ การทำให้เพิ่มขึ้น บุคลากร ผู้ทำงานอยู่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ต้องยึดหลักการของ KSA คือ K=Knowledge ความรู้, S=Skill ความเชี่ยวชาญและ A=Attribute คุณสมบัติ
ในเรื่องของคุณสมบัติในแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน และเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เช่น คนที่ชกมวย และได้เงินมาก กลายเป็นเศรษฐี นี่เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว
นอกจากนั้นก็เรื่องของการทำงานร่วมกันเป็นทีม องค์กรที่ดีควรมี หัวใจบริการ (Service Mind),มีความสามารถ (Ability) มีความทนทานต่อความผิดพลาด (Fault Tolerance) ในแต่ละหน่วยงานมีความอดทนต่อการทำงานแตกต่างกัน เช่น พนักงานบัญชี ต้องมีความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะต้องยุ่งอยู่กับงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ
ในยุคดิจิทัลมี องค์ความรู้ในเชิงปฏิบัติที่ควรรู้ คือ เรื่องของ Startup, Fun reaching Startup และ AI รวมถึงเรื่องการจัดการความรู้ Knowledge Management ก็ต้องสร้างด้วย เป็นต้น
ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ต้องคิดทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากองค์กรมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตัวอย่าง เช่น บริษัทไมโครซอฟท์ คิดเรื่องของซอฟต์แวร์ และเขาก็ต้องการคนที่มีนวัตกรรมใครก็ตามที่คิดโครงการใหม่ๆก็ต้องเปิดตัวหรือขับเคลื่อนโครงการออกมาให้ได้ ฝ่าย HR จะทำอย่างไร HR ก็ต้องเป็น Strategic Partner กับผู้บริหาร
ส่วนการให้รางวัล HR ต้องดูเป้าหมายของคนที่เข้ามาว่า เขามาเพื่ออะไร ต้องเข้าใจความคิดของเขา เพราะในที่ทำงานมีคนหลาย Generation เช่น Baby Boomer, Gen X, Gen Y, Gen Z และ Gen Alpha เป็นต้น ต้องดูออกว่า เขาเข้ามาเพื่อต้องการอะไร บางคนเข้ามาแล้วทำงานอยู่ดึก ทุ่มเท บางคนเข้ามาเพื่อต้องการเรียนรู้ หรือบางคนเข้ามาแล้วอยากมีรายได้ วิธีคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนหวังเพียงแค่เงินเดือน
สำหรับเรื่องของการฝึกอบรม และการศึกษา (Training and Education) ควรมีระบบการจัดการองค์ความรู้ สามารถให้พนักงานเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ผ่านคลังความรู้ในรูปแบบต่างๆ
ส่วน Soft Skill ของ HR ที่ต้องมีคือ (1) ความเป็นผู้นำ (Leadership) (2) การตัดสินใจ (Decision) นอกจากนี้ ในสถานที่ทำงาน คนทำงานที่มีลักษณะที่แตกต่างกันจะทำอย่างไร พนักงานคนไหนจะอยู่ตรงจุดไหน เรื่องของ KPI ก็ควรจะต้องมี การกำหนด KPI ต้องมีมาตรฐานรองรับและต้องให้ชัดเจน มีการประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เรื่องของ KPI เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผู้บริหารต้องเข้าใจด้วย
ในการรับสมัครคนเข้ามาทำงาน (Recruitment) อาจใช้หลากหลายวิธี บางคนอาจจะหาจากใบสมัครงานบางคนอาจโทรไปให้มาสัมภาษณ์ ขึ้นอยู่กับการ Coaching ที่มีให้ งานในบางตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งงานทางด้าน IT คนที่จะขึ้นมาทำงานในตำแหน่งนี้ก็ต้องรู้เรื่อง IT ในเรื่องของ KPI นี้ ต้องมีเป้าหมาย (Goal) และ KPI มีหลายระดับ คือ (1). ระดับองค์กร (Corporate KPI) (2). ระดับแผนก (Department KPI) (3). ระดับบุคคล (Individual KPI)
จากการรายงานของ CEO Magazine รายงานเรื่อง Skill ที่จำเป็นสำหรับยุคดิจิทัล Hard Skill ได้แก่ (1) Programming, Web Design, and App Development (2) Digital Business Analysis (3) Data Visualization and Digital Design (4) Digital Project Management (5) Digital Marketing (6) Blockchain สำหรับ SoftSkill ได้แก่ (1) Creativity (2) Persuasion (3) Collaboration และ (4) Emotional Intelligence
ส่วนอาชีพใหม่ที่มาแรง ยุค BUSINESS DISRUPTION 2020 หลัง COVID-19 มี 10 อาชีพคือ
(1) งานอิสระต่างๆในกลุ่มนี้ประกอบด้วยคนทำงานประจำที่ต้องการทำงานเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมจากช่วงของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เป็นอาชีพอิสระที่นำทักษะความรู้มาต่อยอดเป็นการสร้างโอกาส และรายได้ควบคู่กัน
(2) Logistic, Supply Chain Delivery นับว่า เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มดังกล่าวมีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะการรองรับการซื้อสินค้าออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ
(3) งานที่ใช้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาที่ 2 และ 3 อาทิ กลุ่มภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น นับเป็นโอกาสกับอาชีพนี้ ที่จะนำความรู้มาใช้ในการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ
(4) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นอาชีพหนึ่ง ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้ โดยช่องทางในการค้าขายออนไลน์นั้น ก็มีหลากหลายให้สามารถเลือกซื้อสินค้าได้
(5) งานบริการที่บ้าน เนื่องจากในช่วงที่คนทำงานอยู่ที่บ้าน นอกจากทำงานแล้ว ทำให้มีความต้องการบริการต่างๆ ที่บ้านเพิ่มมากขึ้น อาทิ งานซ่อมแซมบ้าน งานบริการตัดผม งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการออกกำลังกาย สัตว์เลี้ยง
(6) งานให้บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ โดยรูปแบบการทำงาน มีทั้งทางโทรศัพท์ และการตอบทางช่องทางในการ Chat ทำให้การบริการและตอบคำถามลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
(7) งานสุขภาพและยา ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มงานทางการแพทย์ หมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และงานด้านการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันด้วย
(8) การเรียนออนไลน์ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตปกติใหม่ ทำให้สะดวกและสามารถเสริมทักษะความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยการเรียนการสอนผ่านอุปกรณ์ไอทีและแพลตฟอร์มต่างๆ ได้หลากหลายอีกด้วย
(9) งานด้าน IT เนื่องจากต้องใช้ผู้มีทักษะเฉพาะอย่าง กลุ่มนักพัฒนาแอพลิเคชันทางด้านดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ กลุ่มงานทางด้านเน็ตเวิร์ค และงานไอทีซัพพอร์ตและ
(10) งานการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เป็นส่วนงานที่ต้องใช้ทักษะและการสื่อสารทางการตลาด โดยเฉพาะการสื่อสารในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องสื่อสารด้วยความเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการต่างๆ เป็นต้น