Saturday, November 23, 2024
NEWS

รัฐอุ้มแก้หนี้รายย่อย สั่งออมสินช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อโควิดอาชีพอิสระ

รัฐอุ้มแก้หนี้รายย่อย สั่งออมสินช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อโควิดอาชีพอิสระ กว่า 630,000 ราย หลุดพ้นสถานะ NPLs ไม่เสียประวัติเครดิต เริ่ม 6 ม.ค. 67 เป็นต้นไป

ามที่รัฐบาลมีมาตรการผลักดันการแก้ปัญหาหนี้ช่วยเหลือประชาชน โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดนโยบายการแก้หนี้ทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการภารกิจและแนวทางดำเนินงานเพื่อแก้ไขหนี้ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้สำเร็จและยั่งยืน ด้านกระทรวงการคลังซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลสถาบันการเงินของรัฐ จึงเร่งรัดทยอยออกมาตรการแก้หนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด กฤษฎา จีนะวิจารณะ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายและสนับสนุนธนาคารออมสิน เสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งธนาคารได้ปล่อยกู้ให้รายละ 10,000 บาท เมื่อปี 2563 เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เห็นชอบให้ธนาคารออมสินช่วยเหลือลูกหนี้โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยให้ธนาคารดำเนินการตามกระบวนการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ก่อน หากลูกหนี้รายใดที่สุดแล้วยังคงประสบความเดือดร้อนต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ให้ธนาคารนำงบประมาณที่รัฐจัดสรรสำหรับชดเชยความเสียหาย ตามโครงการสินเชื่อดังกล่าวมาช่วยเหลือลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากสถานะหนี้เสีย (NPLs) และไม่เสียประวัติเครดิตที่จะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้อีก โดยธนาคารจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2567 เป็นต้นไป กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้จำนวน กว่า 630,000 ราย

อนึ่ง โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นโครงการที่รัฐบาลเห็นชอบให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อแก่  ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รายละ 10,000 บาท เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างหนัก ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดรุนแรง ณ ขณะนั้น วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท พร้อมรัฐจัดสรรงบประมาณแก่ธนาคารออมสินสำหรับชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากหนี้เสีย (NPLs) รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การช่วยเหลือครั้งนี้จะดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เสียวินัยทางการเงิน.