Thursday, November 21, 2024
NEWS

สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือน ม.ค.66 ชะลอตัวลงหลังเทศกาลปีใหม่

สสว.เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนม.ค. 2566 ชะลอตัวลงหลังปีใหม่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว มีความกังวลจากต้นทุนอาหารสดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ภาคการผลิตเริ่มเพิ่มการผลิต และสะสมสินค้าคงคลังเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

วีระพงศ์  มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนมกราคม 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 53.9 ลดลงจากระดับ 55.7 เนื่องจากกำลังซื้อชะลอตัวลงในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 หลังจากพุ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาลและกังวลด้านต้นทุนเพิ่มอีกครั้งในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนมกราคมลดลง ได้แก่ กำไร คำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุน และการจ้างงาน ซึ่งมีความเชื่อมั่นลดลงอยู่ที่ระดับ 58.8 63.4 38.0 และ 50.0 ตามลำดับ ขณะที่องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ และการลงทุน ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ค่าดัชนีฯ ส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงจากเดือนก่อน

แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับค่าฐานที่ 50 ยกเว้นต้นทุนที่เริ่มมีแนวโน้มปรับลดลงจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการบริการ มีค่าดัชนี SMESI ลดลงสูงสุดอยู่ที่ 54.4 จาก 57.5 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในทุกกิจกรรม เนื่องจากการสิ้นสุดลงของเทศกาลวันหยุดยาว

ในขณะที่บริการซ่อมบำรุงและกิจกรรมสันทนาการปรับตัวดีขึ้น รองลงมาคือ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 55.0 ชะลอตัวลงทั้งภาคการค้าปลีกและค้าส่งในหลายพื้นที่ และกำลังซื้อที่ได้จากนักท่องเที่ยวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผู้ประกอบการภาคการค้าปลีกบางรายเริ่มปรับจำนวนสินค้าในสต็อกลง จากต้นทุนการซื้อสินค้าเพื่อขายมีราคาสูงขึ้น  ภาคการเกษตร ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 52.1 จาก 53.0 ชะลอตัวลงจากสถานการณ์ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญได้ผลผลิตน้อยลงในปีนี้

รวมถึงผลผลิตในกลุ่มปาล์มและยางพาราที่ราคาอยู่ในระดับต่ำ ส่วน ภาคการผลิต ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 54.3 ชะลอตัวลงแม้ในหลายธุรกิจจะมีการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อสะสมสินค้าคงคลังไว้ขายในช่วงเวลาถัดไป แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการยังเผชิญความกังวลด้านต้นทุนทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าสินค้าวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนมกราคม 2566 พบว่า ปรับตัวลดลงทุกภูมิภาคแต่ยังคงอยู่ในระดับเกินค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด ได้แก่ ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 56.3 จากระดับ 60.7 ผลจากเศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัวลงจากกำลังซื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในเดือนก่อนหน้า และประสบปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่

ซึ่งชะลอการใช้จ่ายรวมถึงความกังวลต่อราคาสินค้าและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต ยังปรับตัวดีขึ้นจากการมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเข้ามาในพื้นที่ รองลงมาคือ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  อยู่ที่ระดับ 52.8 จากระดับ 54.9 จากราคาสินค้าต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยบางส่วนเริ่มมีการปรับราคาขายสินค้าให้สูงขึ้น ขณะที่ภาคการค้าปลีกกำลังเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการร้านค้าในกลุ่มโมเดิร์นเทรดที่ทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายมากขึ้น ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 56.0 จากระดับ 58.0 ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องชะลอตัวลงจากเดือนก่อน

เนื่องจากสิ้นสุดช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลปีใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวก็เผชิญกับกำลังซื้อที่ลดลง แต่ภาคการผลิตโดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าประเภทมัดย้อมและผ้าลินินในกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและบริการให้เช่าชุดพื้นเมืองสำหรับใส่ประกอบการท่องเที่ยวยังคงขยายตัว สำหรับยาสมุนไพรมีปริมาณการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเวลาถัดไป ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 53.0 จากระดับ 54.2 เศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัวลง จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยปรับตัวลดลงหลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่

โดยเฉพาะลูกค้าแบบ Walk-in ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้การใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่ลดลง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 54.5 ผลจากกำลังซื้อในพื้นที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า แรงงานเริ่มทยอยกลับไปทำงานในภูมิภาคอื่น รวมถึงกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ชะลอตัวลงที่ถึงแม้ราคาสินค้าเกษตรจะปรับดีขึ้น แต่ผลผลิตสินค้ากษตรลดลงอย่างเห็นได้ชัด ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.0 จากระดับ 52.2 ภาพรวมชะลอตัวลงเล็กน้อยจากภาคการบริการเป็นหลัก

ขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ได้อานิสงส์จากการเริ่มทำป้ายหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ในขณะที่ภาคการค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่งยังปรับดีขึ้น โดยกำลังซื้อยังมาจากแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับโบนัสในช่วงสิ้นปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 55.2 โดยเฉพาะภาคบริการและภาคการผลิตที่กังวลต่อกำลังซื้ออาจลดลงในอนาคต รวมถึงปัจจัยด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง

จากการสอบถามธุรกิจ SME กับความพร้อมและมุมมองของธุรกิจ SME ภาคการท่องเที่ยว กับการท่องเที่ยวปี 2566 ซึ่งสำรวจผู้ประกอบการ SME ภาคการท่องเที่ยว จำนวน 572 ราย จาก 6 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 20-29 มกราคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ภาคการท่องเที่ยว กว่าร้อยละ 50 มีลูกค้าที่เป็นคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ส่วน SME ร้อยละ 47.4 ที่มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะคนในพื้นที่/จังหวัด ส่วนกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวของ SME ภาคการท่องเที่ยวเกือบร้อยละ 55 เป็นนักท่องเที่ยวที่เที่ยวด้วยตนเอง

โดยเกือบร้อยละ 80 ของผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวมองว่าปี 2566 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคอีกครั้งอย่างมาก ด้านความพร้อมในการให้บริการ SME ภาคการท่องเที่ยวประเมินความพร้อมในระดับปานกลางถึงมาก มีบางส่วนที่ยังไม่พร้อม เนื่องจากขาดทักษะด้านภาษาในการสื่อสาร ขาดเงินทุน และขาดแคลนแรงงาน SME ภาคการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ มองว่านักท่องเที่ยวไทยจะช่วยเพิ่มยอดขาย/บริการได้มากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะความไม่พร้อมและความกังวลต่อการแข่งขัน และมากกว่าร้อยละ 60 ยังไม่มีแผนการดำเนินการใหม่ ส่วนที่มีการทำแล้วส่วนใหญ่เป็นมาตรการดูแลด้านสุขอนามัย

อย่างไรก็ตามมี SME ร้อยละ 9.0 ที่มีแผนการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านการตลาด ปัญหา/อุปสรรคที่ SME ภาคการท่องเที่ยวกังวลมากที่สุด คือ รายได้ของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว รองลงมา คือ ต้นทุนราคาสินค้า/วัตถุดิบ/น้ำมันเชื้อเพลิงแพง และความสามารถในการแข่งขัน ตามลำดับ โดยเกือบร้อยละ 30 ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านกำลังซื้อและผู้บริโภคมากที่สุด

โดยการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย รองลงมา คือ ด้านการตลาด ต้องการให้ช่วยโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองต่าง ๆ เพื่อลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว และส่วนใหญ่มองว่าควรมีการขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และสิ่งที่ต้องการให้โครงการปรับปรุงมากที่สุด คือ การเพิ่มวงเงินส่วนลด