“สสว. หนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล – การแพทย์ เปิดตลาดภาครัฐ และองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ จัดติวเข้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 100 ราย พร้อมเดินสายโรดโชว์ และจับคู่ธุรกิจใน 6 จังหวัดใหญ่ พร้อมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนต่อยอดธุรกิจ
วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประจำปี 2565 เป็นปีแรก
โดยมุ่งเป้ากลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และดิจิทัล ขานรับอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (New S-Curve) ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยดำเนินการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเป็นคู่ค้ากับภาครัฐในหลายกิจกรรม
อาทิ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการ Thai SME-GP แนวโน้มโอกาสการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ จำนวนกว่า 1,800 ราย
และปี 2566 สสว. ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องในการยกระดับผู้ประกอบการกลุ่มการแพทย์และดิจิทัลสู่การเป็นคู่ค้ากับองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ ซึ่งปีนี้ได้ขยายขอบเขตของตลาดไปยังหน่วยงานภาคเอกชนด้วย เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้าพัฒนาแบบมุ่งเป้า 100 ราย และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการ 60 ล้านบาท โดยจะมีการดำเนินงาน ดังนี้
- กิจกรรมโรดโชว์ (Roadshow) เชื่อมโยงการค้าและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) โดยนำผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และการแพทย์ เข้าร่วมกิจกรรมในภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล เชียงใหม่ นครราชสีมา สมุทรสาคร ปราจีนบุรี และสงขลา
- การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจและการตลาด โดยเน้นพัฒนาแผนธุรกิจที่สามารถรองรับกลุ่มลูกค้าในประเทศ รวมถึงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ อีกทั้งยังพัฒนามาตรฐานที่สำคัญให้แก่ผู้ประกอบการ 3. การต่อยอดทุนวิจัย/นวัตกรรม การขึ้นทะเบียน MiT หรือ Made in Thailand ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนต่างๆ เพื่อยกระดับและเพิ่มแต้มต่อให้แก่ SMEs
“สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์ ในปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 50,500 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 111,000 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจในปี 2564 มีจำนวน 965 ราย ประมาณร้อยละ 98 เป็นผู้ผลิตรายกลางและเล็ก
ซึ่งมีส่วนแบ่งรายได้เพียง ร้อยละ 19.1 ของรายได้ทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 2 เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งรายได้ถึง ร้อยละ 80.9 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานในประเทศไทย ในขณะที่มีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนำเข้าเครื่องมือแพทย์มีจำนวนมากกว่า 2,000 ราย” วีระพงศ์ ระบุ
ในขณะที่ อุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย ประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล โดยในปี 2564 มีมูลค่ารวม 8.98 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2563
ซึ่งอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตของแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีสัดส่วนมากที่สุด โดยมูลค่าจะขึ้นไปถึง 6.9 แสนล้านบาทในปี 2567
ทั้งนี้ สสว.ยังมีนโยบายและแผนงานในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น พัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สร้างส่วนแบ่งตลาดในประเทศได้มากขึ้น ขยายตลาดสู่สากลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ