Thursday, November 21, 2024
ArticlesBig DataColumnistSansiri Sirisantakupt

แนวทางปฏิบัติที่ดีในการใช้ Big Data มาพัฒนากองทัพอากาศสหรัฐฯ

ขอนำ 4 แนวทางปฏิบัติ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ กับการใช้ Big Data มาพัฒนากองทัพฯ ทั้งใน การรักษาความปลอดภัย การวางแผนและจัดหาข้อกำหนดด้านยุทโธปกรณ์สนับสนุนการรบ ระบบบริหารจัดการความรู้ และลดการใช้พลังงาน

Big Data เป็นปริมาณข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในองค์กรของคุณซึ่งอยู่ในทุกรูปแบบ การนำ Big Data มาใช้ก็เพื่อประกอบการตัดสินใจ และเพื่อกำหนดทิศทางขององค์กร จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่กองทัพต่างๆ ทั่วโลกได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลมาโดยตลอดต่อเนื่อง

รวมถึงในช่วงที่ผ่านมาการได้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและชัดเจน ทั้งนี้เพื่อการรวบรวมข่าวกรอง เพิ่มประสิทธิภาพของกองทัพ และที่สำคัญโอกาสได้ถูกเปิดอย่างกว้างขวางสำหรับทางทหาร เมื่อพวกเขาเริ่มใช้

การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เป็นความได้เปรียบอันสามารถมองเห็นได้จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในการปฏิบัติงานของกองทัพ ซึ่งเป้าหมายหลักของ ทุกกองทัพก็คือ การทำให้มีวงรอบในการตัดสินใจ (OODA Loop : Observe, Orient, Decide and Act) ที่รวดเร็วกว่าฝ่ายตรงข้าม

บทความโดย: น.อ.สรรสิริ สิริสันตคุปต์ นักวิชาการกองทัพอากาศ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการรักษาความมั่นคงปลอยภัย ด้านอวกาศและไซเบอร์

ด้วย Big Data นั้นสามารถที่จะช่วยให้ทุกกองทัพบรรลุเป้าหมายได้ ลองหันมาดู 4 แนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ว่า เขาใช้ Big Data มาพัฒนากันอย่างไร โดยบทความในฉบับ มีมุมมองและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

การวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยรักษาความปลอดภัยฐานทัพอากาศ

กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องการการรักษาความปลอดภัยของฐานทัพอากาศที่ดีขึ้น แนวทางปฏิบัติที่ดีคือ การรวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบ Real-Time Video Analytic

ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time Video นั้น เป็นเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของสิ่งที่ไม่คาดคิดได้ อาทิ แจ้งเตือนคนเดินบนทางวิ่งเครื่องบิน (Runway) โดยระบบแจ้งเตือนจะไม่สนใจพฤติกรรมปกติที่เกิดขึ้นในสนามบิน อย่างเช่น เครื่องบินกำลังขึ้นหรือลงจอด ด้วยการติดตั้งกล้อง CCTV และเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์อัจฉริยะ (Intelligent Software) ในหลายตำแหน่งของฐานทัพอากาศ

ผลที่ได้รับคือ เพิ่มความสามารถในการตรวจจับแบบ Real Time ระบบจะส่งการแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติ เมื่อตรวจพบพฤติกรรมที่น่าสงสัย ทำให้การรักษาความปลอดภัยของฐานทัพอากาศนั้นดีขึ้น ในแบบที่มีความสามารถในการป้องกันและแจ้งเตือน ก่อนที่อันตรายนั้นจะเกิดขึ้น (Preemptive)

ซึ่งเมื่อเทียบกับแบบเดิม ที่ต้องนำภาพที่บันทึกไว้กลับมาดูหลังจากความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว (Forensic) ที่สำคัญเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (Situation Awareness) และลดภาระในการทำงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบกล้องอย่างต่อเนื่อง

การวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยพัฒนาโซลูชันคลาวด์ให้ผู้ใช้กองทัพอากาศ

กองทัพอากาศสหรัฐฯ ร่วมกับบริษัท Lockheed Martin พัฒนาโซลูชันคลาวด์ (Private cloud) สำหรับใช้ในทอ.สหรัฐฯ ข้อมูลขนาดใหญ่จำนวน 8 แสนคน ในโครงการ Global Combat Support System-Air Force (GCSS-AF) ซึ่งเป็นระบบลอจิสติกส์อัตโนมัติบนเว็บ

สำหรับใช้งานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านลอจิสติกส์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เครื่องมือนี้ช่วยผู้เชี่ยวชาญในการวางแผน และจัดหาข้อกำหนดด้านยุทโธปกรณ์สำหรับการสนับสนุนการรบ มีความปลอดภัย ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัว

โดยโครงการ GCSS-AF เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายแอปฯ ในภารกิจทั้งหมดมาไว้ที่เดียว และรวมเข้ากับความสามารถในการบริการตนเอง อันเป็นผลทำให้สามารถดำเนินการตามคำขอบริการได้เกือบในทันที แทนที่จะใช้เวลาดำเนินการหลาย สัปดาห์

ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีในการปรับปรุงระบบสนับสนุนระดับฐานให้ทันสมัย ซึ่งต้องใช้ทั้งยามสงครามและยามสงบสุข นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของระบบคลาวด์ใหม่ยังให้ความสามารถที่ดีขึ้น สำหรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของกองทัพอากาศและเพื่อสนับสนุนการริเริ่มเชิงกลยุทธ์ใหม่ๆ

การวิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มองค์ความรู้ (KM) ให้กองทัพอากาศ

ในยุคที่อินเทอร์เน็ตถูกใช้อย่างกว้างขวาง ข้อมูลต่างๆ ในองค์กรถูกเก็บในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์และมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในบางครั้งบุคลากรไม่สามารถหาข้อมูลที่ต้องการได้สำหรับทุกๆ องค์กร ระบบบริหารจัดการความรู้ (KM) นั้นถือว่ามีความสำคัญ

เพราะผู้บริหารระดับสูง (CIO) ต้องทำให้มั่นใจว่า บุคลากรทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ (Right Information) เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนากองทัพอากาศสหรัฐฯ

โดยแนวทางปฏิบัติที่ดีที่นำมาใช้คือ การนำ Big Data มาวิเคราะห์ อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่สามารถช่วยระบุแนวคิดและความสัมพันธ์ของข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเหมาะสำหรับงานด้านข่าวกรอง (Gather Intelligence) ทั้งนี้เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่กองทัพอากาศ

จะทำให้ระบบริหารจัดการความรู้ (KM) ของกองทัพอากาศนั้น มีข้อมูลที่ถูกต้องและมีไว้ให้สำหรับบุคลากรของกองทัพอากาศในเวลาที่เหมาะสม โดยผ่านช่องทางที่ถูกต้อง ในทุกพื้นที่และทุกเวลา ที่สำคัญเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน (Best Solutions) อีกทั้งยังช่วยในการตัดสินใจให้แก่บุคลากร (Best Decisions) ซึ่งผลที่ได้รับในภาพรวมนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้แก่กองทัพอากาศสหรัฐฯ

ที่มา: U.S. Air Force photo/Capt. Carrie Kessler
การวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยลดการใช้พลังงานในฐานทัพอากาศ

ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ มีอยู่ทั่วประเทศ และมีหลายวิธีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน สำหรับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในยุค 5G ที่ใช้อยู่นั้น รองรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์และสิ่งของ (IoT: Internet of Things) ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ดีของกองทัพอากาศกล่าวได้คือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ที่เป็นพื้นฐานของ IoT มาสนับสนุน เพื่อการลดการใช้พลังงาน (Energy Consumption) ในฐานทัพอากาศ

ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์หลายตัวแต่ละอาคารในฐานทัพอากาศ เซ็นเซอร์เหล่านี้ทำหน้า ที่รวบรวมข้อมูลจำนวนมาก รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับสวิตช์ไฟ, เครื่องปรับอากาศ, ประตูรักษาความปลอดภัย, ลิฟท์ และแหล่งอื่นๆ ที่สามารถลดการใช้พลังงานได้

โดยพื้นฐานเป็นข้อมูลทั้งหมดที่สร้างโดยแต่ละอาคาร แล้วนำมาจัดเก็บไว้บนระบบคลาวด์ เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big_Data Analytics) ผลที่ได้รับจากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ จะทำให้กองทัพอากาศในตอนนี้รู้ว่าแต่ละอาคารในฐานทัพอากาศนั้นมีการใช้พลังงาน อาทิ จากเครื่องปรับอากาศ มากน้อยขนาดไหนตลอดทั้งปี

ซึ่งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ร่วมกับข้อมูลของสภาพอากาศ เพื่อทำให้ผู้รับผิดชอบเกิดความเข้าใจในแนวทางลดการใช้พลังงานและลดค่าใช้จ่ายในฐานทัพอากาศนั้นดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เพื่อทำการตรวจสอบ (Monitors) สภาพของอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่ในฐานทัพอากาศนั้น เช่น เครื่องปรับอากาศ อันนำมาสู่แผนแห่งการบำรุงรักษาในเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) บนอุปกรณ์เหล่านั้นต่อไป

ข้อคิดที่ฝากไว้

เมื่อใช้ Big_Data อย่างถูกต้องความเป็นไปได้จะไม่มีที่สิ้นสุด กองทัพอากาศสหรัฐฯ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้กองทัพอากาศนั้นสามารถที่จะใช้ Big Data เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานและลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งใน ปัจจุบันบนโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลจำนวนมาก การมีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องนั้นสามารถช่วยผู้บริหารระดับสูงของกองทัพ (CIO: Chief Information Officer) ตัดสินใจได้ถูกต้องระหว่างการมีกองทัพที่ใช้งบประมาณที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการมีกองทัพที่ใช้งบประมาณโดยไม่จำกัด ทั้งนี้เพื่อช่วยกำหนดทิศทางของกองทัพ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big_Data Analytics) ที่กองทัพทั่วโลกได้นำมาใช้

อ่านบทความทั้งหมดของ น.อ. สรรสิริ สิริสันตคุปต์

Featured Image: U.S. Air Force photo by Staff Sgt. Alan Ricker