Thursday, November 21, 2024
ArticlesColumnistSansiri Sirisantakupt

มอง Chip War ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในหมวกของ CIO

มอง สงคราม ชิป (Chip War) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในหมวกของ CIO ที่จำเป็นต้องประเมินผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทางเทคโนโลยีของตนอย่างละเอียด เพื่อนำมาพิจารณาว่าอาจได้รับผลกระทบในลักษณะใด เมื่อพบว่าห่วงโซ่อุปทานด้านชิปประมวลผลอาจหยุดชะงัก

นขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้นทวีความรุนแรงขึ้น คณะบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกข้อจำกัดอย่างเข้มงวดในการส่งออกเทคโนโลยีส่วนประมวลผลหลัก หรือ ชิป (Chip) ทำให้องค์กรในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลก ต้องตกอยู่ในภวังค์ของการต่อสู้ระหว่างสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก กฎการค้าใหม่มีขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Power) ที่เพิ่มขึ้นของจีน

ซึ่งจะส่งผลกระทบไม่เพียงแต่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ถูกจำกัดด้วย วัตถุประสงค์หลักที่ระบุไว้ในข้อจำกัดก็คือ การปฏิเสธไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย

ข้อจำกัดอาจถูกยกเลิกเป็นกรณีไป หากสหรัฐฯ สามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทจีนที่อยู่ในรายชื่อไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร

บทความโดย: น.อ.สรรสิริ สิริสันตคุปต์ นักวิชาการกองทัพอากาศ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการรักษาความมั่นคงปลอยภัย ด้านอวกาศและไซเบอร์

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะคู่ขัดแย้ง ผู้บริหารระดับสูง (CIO) ในทุกองค์กรจำเป็นต้องประเมิน ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทางเทคโนโลยีของตนอย่างละเอียด เพื่อนำมาพิจารณาว่าอาจได้รับผลกระทบในลักษณะใดจากมุมมองความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ด้วยพบว่าองค์กรต่างๆ ทั่วโลกนั้น ห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาหยุดชะงัก

โดยบทความในฉบับมีมุมมองและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

กฎการส่งออก ชิปประมวลผล ของสหรัฐอเมริกามีผลกระทบแล้ว

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.2022 ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี ไบเดน ได้ออกการควบคุมการส่งออกใหม่ที่ ปิดกั้นบริษัทของสหรัฐฯ ไม่ให้ขายเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตให้แก่ผู้ผลิตของจีนบางรายเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตพิเศษ

ต่อจากนั้นกลางเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี ไบเดน ได้ขยายข้อจำกัด เพื่อรวมผู้ผลิตส่วนประมวลผลหลัก (Chip) ของจีนอีก 36 ราย ไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีส่วนประมวลผลหลักของสหรัฐฯ

ซึ่งรวมถึงบริษัท Yangtze Memory Technologies Corporation (YMTC) จัดเป็นผู้ผลิตชิปตามสัญญารายใหญ่ของโลก ทำให้กฎการส่งออกส่วนประมวลผลหลักมีผลกระทบแล้ว เช่น บริษัท แอปเปิล ที่ได้วางแผนทำงานร่วมกับบริษัท YMTC สำหรับหน่วยความจำแฟลชของ iPhone14

โดย แอปเปิลใช้เวลาราวหนึ่งเดือนเพื่อบริหารจัดการขั้นตอนของการรับรองบริษัท YMTC ให้เป็นซัพพลายเออร์ ก่อนที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี ไบเดน จะเปิดตัวนโยบายควบคุมและโจมตีผู้ผลิตชิปของจีน ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ผลิตชิปในสหรัฐฯ เท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อจำกัดนี้

กฎใหม่ยัง ห้ามไม่ให้ธุรกิจของสหรัฐฯ ทำการค้ากับบริษัทที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งออกเทคโนโลยีที่ถูกจำกัดไปยังประเทศจีน สิ่งนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกับสหรัฐฯ และพันธมิตรบางส่วน แต่บริษัทส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากกฎทั่วโลกนั้นก็ดูเหมือนพร้อมที่จะปฏิบัติตามกัน

ด้วยเหตุนี้บริษัท ASML ผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของเนเธอร์แลนด์ จะไม่สามารถให้บริการในตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของตนได้ ทำนองเดียวกันบริษัท ARM ที่ออกแบบส่วนประมวลผลหลักในสหราชอาณาจักรได้ประกาศว่า “จะไม่ขายเทคโนโลยีส่วนประมวลผลหลักที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่จีนด้วยเช่นกัน”

ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ค้าเทคโนโลยีชั้นนำของจีนหลายราย เช่น อาลีบาบายักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ, บริษัทไป่ตู้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, โรงไฟฟ้าเครือข่ายหัวเว่ย และบริษัทด้าน AI อย่าง SenseTime และ Megvii ต่างประสบปัญหาในการจัดหาส่วนประมวลผลหลักขั้นสูง เพื่อรันปริมาณงานในด้านปัญญาประดิษฐ์ของบริษัท ซึ่ง โจเซป โบรี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสำหรับข่าวกรองเฉพาะเรื่องที่บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษา GlobalData กล่าวว่า

“ผู้จำหน่าย ชิป AI ของจีน เช่น บริษัท HiSilicon, Cambricon หรือบริษัท Horizon Robotics คงไม่สามารถผลิตชิป AI ของตนเองได้ เนื่องจากโรงหล่ออย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ได้ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของสหรัฐฯ และโรงหล่อของจีนนั้นยังไม่สามารถผลิตอะไรที่มีขนาดเล็กกว่า 14 นาโนเมตรได้”

ในขณะเดียวกันบริษัทที่ไม่ใช่ของชาวจีนได้ย้ายกำลังการผลิตออกจากประเทศจีนแล้ว โดยที่ TSMC ของไต้หวันได้ตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐอเมริกาและยุโรป อีกทั้งบริษัท Foxconn เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของแอปเปิลได้ขยายขนาดการผลิต iPhone ในประเทศอินเดียอย่างรวดเร็ว

จะอย่างไรก็ตาม โรงงานดังกล่าวคงต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้าง ในมุมมองเหล่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า จะมีช่วงของการหยุดชะงัก, การขาดแคลน และความไม่แน่นอนในวงกว้างของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

สงครามชิป ส่งผลกระทบต่อหลายผลิตภัณฑ์

ชาร์ลี ได ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทวิจัยตลาด Forrester กล่าวว่า “นอกจากผู้ผลิตชิปประมวลผลและเซมิคอนดักเตอร์ในจีนแล้ว ทุกบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของ ชิปเซ็ตขั้นสูง (Advanced Chipsets) เช่น ผู้ผลิตยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์และผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ประสิทธิภาพสูง (HPC) ในจีนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน”

“นอกจากนี้ยังมีความเสียหายที่ตามมากับ ระบบนิเวศเทคโนโลยีทั่วโลกในทุกๆ ด้าน อาทิ การออกแบบส่วนประมวลผลหลัก, เครื่องมือ (Tooling) และวัตถุดิบ”

อนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้นยากจะคลี่คลายในเร็ววัน องค์กรต่างๆ อาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบในทันที ด้วยต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DoD) ได้กล่าวว่า “จะอนุญาตให้ผู้รับเหมาใช้ส่วนประมวลผลหลักจากผู้ผลิตของจีนที่ถูกแบนจนถึงปี ค.ศ.2028”

“นอกจากนี้ข้อจำกัดไม่น่าจะมีผลโดยตรงต่อความสามารถของเหล่าผู้ผลิตชิประดับโลกในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ลงทุน ในจีนเพื่อผลิตส่วนประมวลผลหลักที่นั่น”

อย่างไรก็ตาม กฎใหม่นี้จะมีผลกระทบต่อเหล่าผู้ผลิตชิปและผู้ผลิตรายอื่นๆ ซึ่งในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “จีนเป็นประเทศที่ มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกหลายแห่ง ที่จะได้รับผลกระทบต่อรายได้และแผนการเติบโต”

“ดังนั้นผู้ผลิตชิปในอเมริกา อาจลดขนาดของแผนการผลิตชิปลง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อันเนื่องมาจากมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดในระยะสั้น ในระยะยาวจะเร่งการผลิตชิปได้มากขึ้นจากท้องถิ่นในอินเดีย, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ”

Image by xb100 on Freepik
หลายประเทศอยากร่วมแบ่งเค้กผู้ผลิตชิป 

ไต้หวันรักษาความเป็นผู้นำในการผลิตชิปที่ใช้ในพีซี, เซิร์ฟเวอร์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัยขั้นสูงมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้หลายประเทศอย่าง อินเดีย, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และแม้แต่ออสเตรเลีย ได้ออกมาตรการจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งข้อจำกัดทางการค้ามีแนวโน้มที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในระยะยาวสำหรับการผลิตและการค้าโลก

ในมุมมองผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “การคว่ำบาตรเหล่านี้ จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการผลิตที่มากขึ้นสำหรับการผลิต โทรศัพท์มือถือ, อิเล็กทรอนิกส์, รถยนต์, เครื่องจักร และอุปกรณ์โทรคมนาคมนอกประเทศจีน ซึ่งรวมถึงอินเดีย, เวียดนาม และประเทศอื่นๆ”

“ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงในการผลิตนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากตลาดท้องถิ่นในอินเดียและกลยุทธ์ในการกระจายความเสี่ยงนั้น มีเป้าหมายก็เพื่อลดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน แต่ข้อจำกัดด้านส่วนประมวลผลหลักจะเป็นแรงจูงใจในการส่งเสริมการผลิต เพื่อการส่งออกจากอินเดียและประเทศอื่นๆ ด้วย”

ในขณะเดียวกันสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติ กฎหมายส่วนประมวลผลหลัก (CHIPS Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดเงินอุดหนุนหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับบริษัทที่สร้างแหล่งผลิตส่วนประมวลผลหลักในประเทศ จีนเองก็ได้ทุ่มเงิน 1.43 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อจะกระตุ้นการผลิตชิปในประเทศท่ามกลางข้อจำกัดทางการค้า

มอร์ริส ชาง ผู้ก่อตั้ง TSMC เตือนว่า “หลายประเทศพยายามตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง แม้ว่าสิ่งนี้อาจฟังดูเหมือนเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ที่ดีของรัฐบาลต่างๆ แต่กำลังการผลิตส่วนเกินที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่กับผู้ผลิตชิป เช่น ความสามารถในการดำเนินกิจการ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็มีความเป็นไปได้ที่อาจส่งผลให้เกิดความหายนะในห่วงโซ่อุปทานอีกครั้งในตลาดโลก”

ข้อคิดที่ฝากไว้

แม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่อาจไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับหน่วยงานของจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแบน แต่ในขอบเขตที่กว้างขวางของการแบนนั้นหมายความว่า “เหล่า CIO จําเป็นต้องประเมินห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีอย่างละเอียดเพื่อหาความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้”

ถ้าคุณอยู่ในหน้าที่ CIO ของบริษัทที่ทํางานในโครงการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ว่าจะเป็นการทําให้สายการผลิตของคุณเป็นแบบอัตโนมัติหรือให้ความช่วยเหลือแบบอัตโนมัติแก่ลูกค้า คุณก็ควรพิจารณาซัพพลายเออร์ของคุณอย่างรอบคอบ

หากคุณกําลังจัดหาส่วนประมวลผลหลัก (Chip) เร่งความเร็ว AI จาก Horizon Robotics ในช่วงมีการประกาศใช้กฎระเบียบเพิ่มเติม คําถามสําคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ ผู้ขายชาวจีนในห่วงโซ่อุปทานของคุณ จะสามารถจัดหาเทคโนโลยีและการสนับสนุนในระดับเดียวกันได้หรือไม่ในอนาคต?

หากพวกเขามีปัญหาในการเข้าถึงส่วนประมวลผลหลักขั้นสูงหรือเทคโนโลยีจากพันธมิตรตะวันตก ทําให้ผู้ขายดังกล่าวถูกจํากัดให้ใช้ส่วนประมวลผลหลักเก่า (Old Chips)

“คุณในตําแหน่ง CIO พร้อมไหมสําหรับสิ่งเหล่านี้…ที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางเทคนิคในโครงการของคุณ”

Featured Image: Image by jcomp on Freepik

อ่านบทความทั้งหมดของ ..สรรสิริ สิริสันตคุปต์