“เปิดไอเดีย 3 ทีม จากมุมมองปัญหาในสังคมสู่สุดยอดแคมเปญ ร่วมเสริมภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ ไปกับ EDC Pitching
จบไปหมาดๆ กับกิจกรรม EDC Pitching (ETDA Digital Citizen Pitching) ปีแรกกับการแข่งขันในหัวข้อ “Digital in Hand แคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์”
ที่จัดโดย สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA พร้อมด้วยเหล่าพาร์ตเนอร์ทั้งมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท และบริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (Dek-D) เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ มีไอเดีย ไม่จำกัดอายุ และการศึกษา ร่วมสร้างสรรค์แคมเปญที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับหลักสูตร EDC (ETDA Digital Citizen)
และยังช่วยตอบโจทย์ในการช่วยสร้างความตระหนักรู้และป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้คนไทยเกิดการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน สู่การต่อยอดขยายผลของเครือข่ายความร่วมมือ ในการส่งต่อความรู้สู่สังคมร่วมกับ ETDA และพาร์ตเนอร์ ในการร่วมสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพแบบเชิงรุก เพื่อการขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศมากยิ่งขึ้น
ซึ่งในที่สุดเราก็ได้ทีมผู้ชนะทั้ง 3 ทีม ที่มีไอเดียสุดสร้างสรรค์และโดนใจกรรมการ ทีมชนะเลิศ คือ “ทีมไม่เลือกเวลาทำงาน” จากผลงาน แคมเปญ “Too Cool to Be Fooled เจ๋ง เกินกว่าจะ เจ๊ง” และอันดับ 2 คือ ทีม Powerpoint Girls จากผลงานแคมเปญ “ออนไลน์เมื่อพร้อม” และอันดับ 3 คือ ทีมสิทธิวิไล แฟมมิลี่ จากผลงานแคมเปญ “เกมกลเม็ดแก้เผ็ดภัยลงทุนออนไลน์” แต่ละทีมมีจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์แต่ละแคมเปญอย่างไร วันนี้เราจะพาทุกคนไปเปิดมุมมองและหาคำตอบพร้อมกัน
ทีม “ไม่เลือกเวลาทำงาน” นิทรรศการ รู้เท่าทันมิจฉาชีพ แบบ Interactive
ทีม “ไม่เลือกเวลาทำงาน” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ อย่าง ธัญชนก ทั้วสุภาพ ปกรณ์ นาวาจะ และ รณชัย คำปิน ที่ได้มองเห็นปัญหาของการที่คนไทยถูกหลอกทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นรายวัน แต่เลือกที่จะไม่ไปแจ้งความ เพราะกลัวเสียเวลาและการแจ้งความมีกระบวนการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน กว่าจะเล่าเรื่องราวให้เจ้าหน้าที่เข้าใจก็ใช้เวลานานและต้องเล่าหลายๆ รอบ
โดยเฉพาะหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ ที่อยู่ในยุคดิจิทัลอาจมองว่าตนเองมีความรู้แล้ว พอถูกหลอกออนไลน์ ก็ไม่กล้าออกมาบอกว่าตนเองคือ เหยื่อที่ถูกโกง เพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินว่า ทำไมถึงไม่รู้ และมีความเชื่อลึกๆ ในใจว่า “เราเจ๋ง” เกินกว่าจะบอกคนอื่นว่า “เราเจ๊ง” เลยเลือกไม่ไปแจ้งความ
จนนำมาสู่การสร้างสรรค์เกิดเป็นแคมเปญ “Too Cool to Be Fooled เจ๋ง เกินกว่าจะ เจ๊ง” แคมเปญสื่อสารความรู้ ในรูปแบบการจัดนิทรรศการแบบ Interactive Exhibition ที่มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการพาทุกคนไปสัมผัสกับการ “เจ๊ง” จากการถูกหลอก เพื่อวัด “ความเจ๋ง” ของแต่ละคน ผ่านการจำลองสถานการณ์ในพื้นที่นิทรรศการ ที่จัดขึ้นบนพื้นที่จริงและออกแบบให้ผู้เข้าชมมีประสบการณ์ถูกหลอก
แล้วท้าทายว่าเมื่อถูกกลโกงจากหลากหลายรูปแบบ รวมถึงจากธุรกรรมออนไลน์ จะสามารถเอาตัวรอดได้หรือไม่ และถ้าถูกโกง เลือกที่จะเป็นกลุ่มไปแจ้งความ หรือไม่แจ้งความ ซึ่งแต่ละการตัดสินใจจะแสดงผลออกมาเป็นตัวเลขของความเสียหาย หรือ เงินที่ถูกโกงบนหน้าจอทันที ภายใต้แคมเปญนี้แบ่งนิทรรศการออกเป็น 3 โซน ครอบคลุมกลโกงออนไลน์ที่มาแรงในยุคนี้ ได้แก่ ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์ ภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการถูกหลอกลงทุน เป็นต้น
โดยทีม “ไม่เลือกเวลาทำงาน” มีการวางแผนที่น่าสนใจและมีความตั้งใจว่าหากเป็นไปได้ อยากจะไปจัดนิทรรศการนี้ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ (Bangkok Design Week) เพราะจากตัวเลขผู้เข้าชมงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สูงถึง 1.7 ล้านคน และส่วนใหญ่อายุ 18-30 ปี เป็นกลุ่มที่มีการท่องโลกออนไลน์และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อมากเป็นอันดับต้นๆ
ดังนั้น หากทีมไปจัดนิทรรศการที่งานนี้ได้ นั่นเท่ากับว่า พวกเขาจะมีโอกาสในการกระจายองค์ความรู้ ขยายความร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ ต่อยอดแคมเปญ“Too Cool to Be Fooled เจ๋ง เกินกว่าจะ เจ๊ง”สู่วงกว้างในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย
ทีม “ออนไลน์เมื่อพร้อม” หนังสั้น รู้ทัน-ระวังภัย Digital Footprints
ทีม “Powerpoint Girls” กับการรวมตัวของ 3 สาววัยใส อย่าง สริดา แซ่ตัน สุธาสินี ขาวทอง และอรินดา เกษเพชร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ จากรั้วมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมสร้างสรรค์เกิดเป็นผลงานในแคมเปญหนังสั้น “ออนไลน์เมื่อพร้อม”
ทั้ง 3 คนเล่าถึงที่มาของไอเดียนี้ว่า วันนี้คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียจำนวนมาก หลากหลาย ทั้งเหมาะสม และไม่เหมาะสม เช่น คอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง เรื่องเพศ เข้าข่าย child porn เป็นต้น
แต่เด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กลับเข้าถึงได้อย่างอิสระและง่ายมากๆ ที่สำคัญ ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับสื่อเท่านั้นแต่ยังเป็นผันตัวมาเป็นเจ้าของบัญชีและเผยแพร่สื่อเองด้วย จนอาจขาดความรู้ ความเข้าใจและวุฒิภาวะ ทำให้ถูกหลอกไปทำอนาจารหรือพฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่ตามมา ว่าในอนาคตสิ่งเหล่านั้นอาจกลายเป็น Digital Footprints ที่จะสร้างผลกระทบมหาศาลหรืออาจนำไปสู่ภัยคุกคามทางออนไลน์ได้ในที่สุด
โดยหนังสั้น “ออนไลน์เมื่อพร้อม” เป็นเรื่องราวที่เน้นสะท้อนให้ผู้ชมที่เป็นกลุ่มเยาวชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการระมัดระวังในการท่องโลกออนไลน์และการโพสต์สิ่งต่างๆ ที่ในอนาคตอาจกลายเป็นร่องรอยทางดิจิทัล หรือ Digital Footprint ที่จะกลับมาทำร้ายเราได้ ผ่านการถ่ายทอดบทบาทของ 3 ตัวละครเด่น ที่มีพฤติกรรมการท่องโลกออนไลน์ที่แตกต่างกัน
เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้ด้วยตนเองไปพร้อมๆ กับตัวละคร แต่ละบทบาท และเพราะหนังสั้นเป็นสื่อที่นำเสนอเนื้อหาตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน จึงสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมที่จำกัดแค่กลุ่มเป้าหมาย แต่ยังกระตุ้นความสนใจให้กับทุกเพศทุกวัยได้ไม่ยาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ให้กับเยาวชน และเพื่อให้เกิดการต่อยอดสู่การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ Digital Footprint ได้มากขึ้นและเกิดเป็นกระแสไวรัล ทีม “Powerpoint Girls” มองว่า การตัดเป็นคลิปสั้น ย่อยๆ เผยแพร่ใน TikTok พร้อมติดแฮชแท็ก ก็จะทำให้แคมเปญหนังสั้น “ออนไลน์เมื่อพร้อม” สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทีม “สิทธิวิไล แฟมมิลี่” บอร์ดเกม ฝึกทักษะลงทุนออนไลน์
ทีม “สิทธิวิไล แฟมมิลี่” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ 3 พ่อแม่ลูก ได้แก่ นายรักษ์ศักดิ์ สิทธิวิไล (พ่อ) นางอุณาพร สิทธิวิไล (แม่) และ ด.ญ.อัลปรียา สิทธิวิไล (ลูกสาว) สู่ไอเดียสุดสร้างสรรค์ แคมเปญ “เกมกลเม็ดแก้เผ็ดภัยลงทุนออนไลน์” บอร์ดเกมฝึกทักษะการลงทุนออนไลน์ ที่จะเข้ามาสร้างความรู้และวิธีสังเกตความเสี่ยงจากการลงทุน เพราะมองว่า การหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่มิจฉาชีพกลุ่มนี้ กลับถูกแจ้งความดำเนินคดีค่อนข้างน้อยเนื่องจากการหาตัวผู้กระทำผิดเป็นไปได้ยาก ประกอบกับปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ต แบงกิ้งมีการเติบโตอย่างมาก จึงอาจเปิดช่องให้มิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์เพิ่มขึ้น จนอาจกระทบต่อการสูญเงิน และทรัพย์สิน ที่อาจจะลุกลามเป็นปัญหาทั้งในระดับสังคม และเศรษฐกิจได้ ทีมนี้จึงเลือกใช้บอร์ดเกมมาเป็นสื่อในการรณรงค์สร้างความรู้เท่าทันภัยออนไลน์ให้กับคนไทย ที่เหมาะสำหรับทุกกลุ่ม มีจุดแข็งคือ ยิ่งเล่นยิ่งทบทวน
โดยผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทสมมติที่แตกต่างกัน ตามบทบาทที่กำหนด และผู้เล่นบางคนจะต้องสวมบทบาทโจรออนไลน์ ที่จะคอยหลอกล่อ ให้ผู้เล่นคนอื่นร่วมลงทุน ขณะที่คนที่สวมบทบาทเป็นคนดีก็ต้องคอยทำหน้าที่ในการจับผิดโจรออนไลน์ ไม่หลงเชื่อลงทุน โดยมีการ์ดทักษะ แก้เผ็ด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการตอบโต้และจับผิดซึ่งกันและกัน ถือเป็นสื่อที่ไม่เพียงทำให้ผู้เล่นและผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้
แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นลองผิดลองถูก ตัดสินใจในการรับมือและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีการ์ดข้อมูลที่จะเป็นคลังข้อมูลช่วยเหลือฉุกเฉินให้นำมาใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเมื่อต้องการคำปรึกษา/แจ้งความ เช่น ชื่อหน่วยงานและหมายเลขโทรศัพท์ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในเกม ภายใต้สโลแกน “โดนหลอก คิดอะไรไม่ออก เปิดกล่องเกม” เพื่อให้ผู้เล่นได้ร่วมเรียนรู้และพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ที่สอดแทรกตลอดของการเล่นเกม เรียกว่า คนที่ไม่เคยเล่นบอร์ดเกมมาก่อนก็สามารถเล่นได้ง่ายๆ ที่สำคัญยิ่งเล่นยิ่งได้ทบทวนและสนุกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
นี่คือหนึ่งตัวอย่างของภาพความสำเร็จ จากกิจกรรม EDC Pitching ที่แม้จะเริ่มต้นกิจกรรมเป็นปีแรก แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี นับเป็นก้าวใหม่ที่ชี้ให้เราเห็นว่า การส่งเสริมให้คนไทยรู้ทันภัยออนไลน์ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่คนไทยทุกคนจะต้องมีและร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ผ่านหลากหลายไอเดียจาก Community ของเครือข่ายทุกช่วงวัย
ตลอดจนจากคนในสังคมที่มีศักยภาพ ที่มาร่วมสร้างสรรค์แคมเปญ สื่อประชาสัมพันธ์ ที่เปรียบเสมือนคลังความรู้ วัตถุดิบ ที่พร้อมสู่การพัฒนาต่อยอดขยายไปสู่สังคมไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะเห็นแคมเปญสุดสร้างสรรค์จนกลายเป็นไวรัล ที่เข้ามาช่วยปลุกกระแส สร้างภูมิคุ้มกันสำหรับคนไทย ให้มีภูมิในการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน
ช่วยยกระดับและต่อยอดสู่การเกิด Digital Workforce หรือพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพที่ไม่ใช่เพียงแค่ปริมาณกันอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้แน่นอนถ้าเราร่วมมือกัน มาร่วม “ส่งต่อความรู้ สู่พลเมืองดิจิทัล” กับ EDC ไปด้วยกัน