“ปันบุญ โดย ทีทีบี เสริมองค์ความรู้แก่มูลนิธิองค์กรสาธารณกุศล ระดมทุนในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ แนะกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ ปรับใช้ได้จริง
ปันบุญ โดย ทีทีบี สนับสนุนมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล ปรับตัวระดมทุนในยุคดิจิทัล จัดสัมมนาเสริมองค์ความรู้ โดยกูรูผู้เชี่ยวชาญ แนะกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ ให้แก่ผู้บริหารมูลนิธิต่าง ๆ นำไปปรับใช้บริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริจาครายใหม่มากขึ้น พร้อมเสนอแพลตฟอร์ม “ปันบุญ” เป็นผู้ช่วย สนับสนุนให้มูลนิธิเติบโตอย่างยั่งยืน
วีระชัย อมรรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจทหารองค์กรรัฐ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลมีเพิ่มขึ้นมาก และคนไทยมีแนวโน้มที่จะทำบุญมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะเห็นได้จากจำนวนผู้บริจาคบนแพลตฟอร์มปันบุญที่มากขึ้นถึง 350,000 ราย
ซึ่งการทำบุญในปัจจุบันมีทางเลือกในการบริจาคที่หลากหลาย และสะดวกมากขึ้น อีกทั้งเรื่องของ e-Donation การได้สิทธิลดหย่อนภาษี การประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทำให้การทำบุญเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายขึ้นกว่าในอดีต ที่ผู้บริจาคเงินต้องเดินทางไปที่มูลนิธิเอง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ ยังต้องการความรู้และทักษะในการใช้ช่องทางการสื่อสารทางการตลาดที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริจาครายใหม่ ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักมูลนิธิมากขึ้น และต้องการเครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อช่วยลดขั้นตอนและความยุ่งยากในการทำงาน
จากปัญหาดังกล่าว ทางธนาคารได้เล็งเห็น และอยากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้กับมูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลให้มากขึ้น ปันบุญ โดย ทีทีบี จึงได้จัดงานสัมมนา “การระดมทุนในยุคดิจิทัล ต้องทำอย่างไร?” ให้กับผู้บริหารที่ดูแลมูลนิธิได้รับความรู้จากกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการตลาดดิจิทัล เพื่อนำไปบริหารจัดการขององค์กรให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งมีทั้งองค์ความรู้เรื่องกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ในปัจจุบัน เพื่อปรับตัวและนำไปใช้ได้จริงในองค์กรให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริจาครายใหม่ การรับฟังประสบการณ์ตรงจากมูลนิธิที่ใช้การตลาดออนไลน์ในการรับมือและทำให้มูลนิธิเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งคำแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาด้านผลิตภัณฑ์ บริการและโซลูชัน ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการมูลนิธิ สะดวก มีประสิทธิภาพ และช่วยสนับสนุนให้มูลนิธิเติบโตอย่างยั่งยืน
แคทรีน อมตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เฮด วัน ฮันเดรด จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการตลาด กล่าวว่า หลังจากที่มีสถานการณ์โควิด-19 องค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ เริ่มมีการปรับตัว และมีการเชิญชวนให้คนมาร่วมบริจาคในรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการใช้รูปแบบสตอรี่ วิดีโอออนไลน์ สร้างคอนเทนต์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริจาคเกิดความสนใจมากขึ้น ซึ่งการใช้ช่องทางดิจิทัลในการทำการตลาดมีความสำคัญมาก โดยสิ่งองค์กรสาธารณกุศล ต้องคำนึงถึง HEART CHARITY MARKETING JOURNEY นั่นคือ
1.Heart-Hitting: หา insight ที่ใช่ เป้าหมายที่มีความหมายพอที่จะสร้างการโน้มน้าวโดนใจผู้บริจาคได้ 2. Engaging Stories: สร้างเรื่องราวที่มีความหมาย ดีกว่าสถิติที่ไกลตัว รูปแบบวีดีโอสร้างความรู้สึกร่วมได้ดีกว่า แล้วเลือกประเภทเนื้อหาตรงพฤติกรรมผู้บริโภค 3. Always There! อยู่ถูกที่ เลือกช่องทางให้ถึงตัวกลุ่มเป้าหมาย เสิร์ชต้องเจอ โซเชียลต้องแน่น และจับมือพันธมิตรร่วมขยายผล 4. Real Time & Really Easy รวดเร็วแบบเรียลไทม์ เตรียมรับมือทุกคำถามทุกช่องทาง ทำให้การบริจาคเป็นเรื่องง่าย 5. Testimonials & Fans สร้างกระบอกเสียงและ “FC” ให้ได้
ด้าน พญ.พนิดา ศรีสันต์ ผู้จัดการกองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก กล่าวว่า เดิมรูปแบบการขอรับการสนับสนุนของมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก จะเป็นการขอสนับสนุนจากในแวดวงบุคลากรภายใน และจากผู้ปกครองคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ภายหลังได้เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น
โดยใช้แพลตฟอร์ม “ปันบุญ” ของทีทีบี เป็นพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของผู้ป่วย เพื่อขอรับความช่วยเหลือรวมไปถึงการระดมทุนขอรับบริจาค เป็นรูปแบบการรับบริจาคที่ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถร่วมเสริมสร้างสุขภาพเด็กไทยได้
นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังมีการทำดิจิทัล มาร์เกตติ้ง เป็นคลิปวิดีโอนำเสนอความสำคัญของเครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยเด็กจากประสบการณ์จริง เผยแพร่ให้คนในสังคมได้รับทราบ กระจายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อระดมเงินบริจาคและนำไปช่วยเหลือเด็กที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยล่าสุดได้จัดทำโครงการ “อยู่เพื่อยิ้ม” เพื่อระดมเงินบริจาคให้กับเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวหรือผิดปกติทางกล้ามเนื้อ
พนิดา พรหมจรรยา ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม กล่าวว่า มูลนิธิ ฯ ให้การช่วยเหลือเด็กและผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ แผลไฟไหม้ รวมทั้งความผิดปกติบนใบหน้าอื่น ๆ ทั้งนี้มูลนิธิฯ เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย “อาสาสมัคร” ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครนักเรียน
โดยในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ไม่สามารถออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ กิจกรรมที่นำนักเรียนไปหน่วยแพทย์จึงไม่สามารถทำได้ ทางมูลนิธิจึงจัดกิจกรรม Student Webinar โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล จัด “สัมมนาออนไลน์” ให้ความรู้ในเรื่องของการเรียนสายแพทย์
ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากและสามารถระดมทุนจากการจำหน่ายบัตรสัมมนาและการมีสปอนเซอร์สนับสนุน นอกจากนี้มูลนิธิฯ ได้เข้าร่วม “ปันบุญ” ของทีทีบี ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้เป็นช่องทางการบริจาคจากเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ ลิงค์ไปที่เพจของปันบุญ
ซึ่งนอกจากเป็นช่องทางบริจาคแล้ว ยังเป็นพื้นที่ในการแจ้งข่าวสารด้วย นับว่า “ปันบุญ” เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้มูลนิธิฯ ได้รับการบริจาคที่เพิ่มมากขึ้น เพราะทำให้เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้นในวงกว้าง
ด้าน กนกพร จูฑา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต ย้ำกว่า ทีทีบี ต้องการเป็นพันธมิตรของมูลนิธิอย่างแท้จริง จึงพัฒนา “ปันบุญ” โซลูชันบริหารจัดการ มูลนิธิและองค์กรสาธารณกุศลแบบครบวงจร เพื่อเป็นตัวช่วยให้มูลนิธิสามารถเข้าถึงฐานผู้บริโภคได้กว้างขึ้น สามารถรองรับช่องทางรับบริจาคทั้งออฟไลน์และออนไลน์
ซึ่งผู้บริจาคจากทั่วโลกสามารถเข้ามาร่วมบริจาคได้ตลอดเวลา ด้วยช่องทางการบริจาคที่ครบ ง่ายและสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการสแกนคิวอาร์โค้ด, e-wallet รวมถึงบัตรเครดิตที่รองรับได้ทั้งการบริจาคเป็นรายครั้งและรายเดือน ทั้งยังช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่มูลนิธิในการจัดการงานเอกสารหลักฐานการลดหย่อนภาษีและการทำบัญชี เนื่องจากทางธนาคารจัดทำและนำส่งข้อมูลกรมสรรพากรผ่านระบบ ซึ่งผู้บริจาคไม่ต้องเก็บใบเสร็จกระดาษ และทางมูลนิธิได้รับรายงานการรับบริจาคโดยอัตโนมัติ