“ปับลิซีส เซเปียนท์แนะไทยชูดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ปลดล็อกศักยภาพองค์กรพัฒนาโอกาสใหม่เหนือคู่แข่ง รับเทรนด์เทคโนโลยี-พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลง
ไนเจล วาซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ปับลิซีส เซเปียนท์ (Publicis Sapient) บริษัทผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Business Transformation) กล่าวว่า ประเทศไทยมีธุรกิจพื้นฐานที่มีโอกาสเติบโตอีกมากมาย เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นมาเป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยพัฒนา
และปลดล็อกศักยภาพอันมหาศาลของธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ช่วยให้เกิดโอกาสที่จะจินตนาการใหม่ (Re-imagine) ถึงธุรกิจในโลกใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม สร้างความสามารถ ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ซึ่งยากที่จะเลียนแบบในโลกธุรกิจใหม่ เพื่อปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มใหญ่ที่นิยมใช้บริการดิจิทัลใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 64 ปีใช้อินเทอร์เน็ตในกิจกรรมด้านการเงินของตนเองสูงถึง 43.7% และมีธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาคบริการ
เช่น บริการทางการเงิน ธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว และสาธารณสุขที่ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นสามารถเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจให้แตกต่างมากขึ้น สร้างสรรค์บริการรูปแบบใหม่ตอบสนองกลุ่มผู้ใช้บริการของตน สร้างประสบการณ์ของลูกค้าไทยให้ดียิ่งขึ้นได้
สำหรับการตอกย้ำความสำคัญตลาดประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคมในปีที่ผ่านมา ปับลิซีส เซเปียนท์ได้เข้าร่วมทุนในบริษัท เอสซีบี เทคเอ็กซ์ จำกัด (SCB Tech X) เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับตลาดฟินเทค
ส่งผลให้ เอสซีบี เทคเอ็กซ์ ยืนเป็นผู้นำด้าน Data-first technology ซึ่งเป็นการช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างจากเดิม และสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านบริการทางด้านการเงิน การบริการ สาธารณสุข พลังงานหรือภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลถือเป็นโอกาสในการพัฒนาและปลดล็อกศักยภาพของธุรกิจและองค์กรในทุกรูปแบบ
ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ในสถานการณ์โควิด-19 อันเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์และวิธีที่องค์กรปฏิบัติต่อลูกค้า คู่ค้าและพนักงานครั้งใหญ่ ในช่วงนั้น ปับลิซีส เซเปียนท์ได้ช่วยพัฒนาแพลทฟอร์ม Robinhood Food Delivery ในส่วนของไรเดอร์
สร้างพื้นฐานของธุรกิจที่องค์กรไม่เคยมีมาก่อนได้ภายในเวลาเพียง 5 เดือน สร้างอาชีพให้กับผู้คนในวงกว้าง ในปัจจุบัน แพลทฟอร์มดังกล่าวครอบคลุมการใช้งานถึง 76 โซนทั่วกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อการปฏิบัติงานของไรเดอร์มากกว่า 27,000 ท่าน
ซีอีโอของปับลิซีส เซเปียนท์กล่าวว่า หัวใจสำคัญของดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญก็คือ ต้องการสร้างให้ธุรกิจมีความพร้อมในโลกดิจิทัล “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นมากกว่าเรื่องเทคโนโลยี แต่เป็นการสร้างศักยภาพเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องและที่ต่อเนื่อง
ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นไม่ใช่จุดเป้าหมายแต่เป็นเส้นทางที่องค์กรจำเป็นต้องมีจินตนาการใหม่ถึงวิธีการทำงานแบบใหม่ วิธีการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าแบบใหม่ตลอดเส้นทางเดินนี้ และในขณะเดียวกัน ต้องช่วยแก้ไขปัญหาท้าทายขององค์กรอีกด้วย”
ปัญหาสำคัญที่นายไนเจลเห็นคือ องค์กรไทยยังไม่สามารถสร้างความศักยภาพที่เหมาะสมได้ ไม่ว่าจะโดยการหาพันธมิตรภายนอกที่เหมาะสม หรือใช้บุคลากรภายในที่องค์กรมีอยู่แล้ว
ไนเจลแนะนำองค์กรไทยให้เริ่มต้นเส้นทางดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นเพื่อปลดล็อคศักยภาพของตนเองดังนี้
- พัฒนาศักยภาพด้าน SPEED ของตนเอง อันหมายถึง S (Strategy) องค์กรต้องชัดเจนว่า จะทำอะไรไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร P (Product) หมายถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับวัตถุประสงค์เพื่อความต่อเนื่องของเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล E (Experience) คือความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าและพนักงานให้แตกต่าง E (Engineering) คือการใช้ไอทีสร้างคุณค่าในโลกธุรกิจใหม่ และ D (Data) คือการดึงใช้ข้อมูลและเอไอให้เป็นประโยชน์ ช่วยพัฒนาธุรกิจ
- ควรเข้าใจว่า ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการสร้างนวัตกรรมที่ต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ตลอดเวลา และจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ
- องค์กรต้องมีความเข้าใจในศักยภาพของตนเอง ต้องแน่ใจว่า ในฐานะที่เป็นองค์กร จำป็นต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอันรวมถึงลูกค้า พันธมิตร ผู้ลงทุน และสังคมมีความเข้าใจในดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น และสร้างสมดุลในการจัดลำดับความสำคัญที่เกี่ยวข้อง