Thursday, November 21, 2024
NEWS

สสว.เผยผลการประมวลมาตรการส่งเสริม SME ตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด 19 ถึงปี 2565

สสว. เผยผลการประมวลมาตรการส่งเสริม SME ตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด 19 ถึงปี 2565 พบว่า ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือกว่า 82 มาตรการ/โครงการ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นด้านพัฒนาปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ SME มองว่ามาตรการทางการเงินได้รับประโยชน์มากที่สุดโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ รองลงมาคือการลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจ และการสนับสนุนองค์ความรู้

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการศึกษาเพื่อประมวลผลมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 หรือตั้งแต่ปี 2563-2565 เพื่อทราบผลจากนโยบายของภาครัฐในมิติต่างๆ

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ทั้งด้านความเหมาะสม ความยากง่ายในการเข้าถึง ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการได้รับ รวมถึงปัญหา-อุปสรรค เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง พัฒนา รวมถึงออกแบบนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอี ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา จากการประมวลผลโดยภาพรวม พบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวมีมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี รวมไม่น้อยกว่า 82 มาตรการ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐรวมกว่า 30 หน่วยงาน แบ่งเป็นกลุ่มมาตรการหลักๆ 3 กลุ่ม

โดยกลุ่มมาตรการส่งเสริมที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ด้านการพัฒนาปัจจัยเอื้อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอี มีสัดส่วนร้อยละ 42.68 รองลงมาเป็นด้านการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี คิดเป็นร้อยละ 37.80 และด้านการเงิน คิดเป็นร้อยละ 19.51 ทั้งนี้ พบว่า มาตรการที่เอสเอ็มอีเห็นว่าเป็นประโยชน์มากที่สุดโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 คือมาตรการทางการเงิน อาทิ การพักชำระหนี้หรือผ่อนผันการชำระหนี้ การลดค่าน้ำ ค่าไฟ การกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ฯลฯ

ส่วนกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ได้รับประโยชน์จากโครงการอบรมความรู้และการพัฒนาศักยภาพมากที่สุด ขณะที่ สสว. มีมาตรการสำคัญที่ยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเช่น มาตรการ THAI SME-GP หรือมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS เป็นต้น

สำหรับในปีนี้ได้คัดเลือกมาตรการสำคัญ 2 มาตรการ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อ SME ในวงกว้าง เพื่อให้ศึกษาปัญหาอุปสรรค และแนวทางการพัฒนาต่อยอด ได้แก่ มาตรการการกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และมาตรการช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว สำหรับลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โดยมีผลการศึกษา ดังนี้

ในเรื่อง การกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบการ SME ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 จากการศึกษาในครั้งนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.50 ได้รับ Credit Term จากคู่ค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

คือ กรณีเป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป Credit Term ต้องชำระไม่เกิน 45 วัน กรณีสินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ต้องชำระไม่เกิน 30 วัน โดยอุปสรรคสำคัญมาจากการที่คู่ค้ากำหนดช่วงเวลาการรับวางบิล การชำระหลังจากวันที่มีการส่งมอบสินค้าหรือบริการครบถ้วนถูกต้อง ในส่วน SME ที่เป็นผู้ขายยังขาดความเข้าใจในการรักษาสิทธิ์ของตนเอง ในกรณีที่คู่ค้ากำหนด Credit Term ไม่เป็นไปตามที่กฎหมาย จะสามารถร้องเรียนได้ที่ไหน หรือได้รับการคุ้มครองอย่างไร เป็นต้น

ส่วนมาตรการช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว สำหรับลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พบว่า เป็นมาตรการที่ช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึง

โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 59.90 เห็นว่า ช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของธุรกิจ อาทิ มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจโดยเพิ่มหลักประกัน / ปรับการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง / พักชำระหนี้เงินต้น / ลดอัตราดอกเบี้ยและการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ในจำนวนนี้มีร้อยละ 6.40 ที่ได้รับข้อแนะนำเพื่อการแก้ไขหนี้อย่างเหมาะสม

จึงสะท้อนได้ว่า นโยบายดังกล่าว สามารถพัฒนาด้วยการให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกแนวทางที่เหมาะต่อการปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือรับรู้เกี่ยวกับมาตรการ ซึ่งอาจจะมีผลมาจากขาดการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากการศึกษาจะนำไปสู่การพัฒนาหรือออกแบบนโยบาย/มาตรการส่งเสริม SME ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสถานการณ์ปัจจุบัน โดยยึดผู้ประกอบการ SME เป็นศูนย์กลาง กำหนด SME กลุ่มเป้าหมายและปัญหาที่ชัดเจน เร่งสร้าง Ecosystem

เช่น Big Data ระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษา เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยให้ SME สามารถพัฒนาตนเอง รวมถึงการปรับ Mindset ของผู้ประกอบการด้านการเป็นผู้ประกอบการ Entrepreneurial ให้มองการเปลี่ยนแปลงควบคู่กับองค์ความรู้การตลาด และการเงิน เพื่อสร้างโอกาสต่อยอดในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป