สสว. เผย 5 ธุรกิจดาวรุ่งประจำปี 2567 คือ ธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ที่ในปี 2566 มีการเติบโตสูงถึง 1,925% และธุรกิจผลิตน้ำอัดแก๊สและโซดาที่เติบโตถึง 1,109% ขณะที่ธุรกิจเข้าข่ายต้องเฝ้าระวัง คือ ธุรกิจขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสอง ที่มีการหดตัวลงถึง 82% เและธุรกิจเกสเฮาส์ ที่หดตัวถึง 65%
วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลการศึกษาสถานการณ์และแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของ SME โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดสำคัญคืออัตราการเติบโตของธุรกิจเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
พบว่า ในปี 2567 มีธุรกิจของ SME ทั้งกลุ่มที่เป็นดาวรุ่ง และกลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง โดยกลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567 พบว่า มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นดาวรุ่งต่อเนื่องสองปีซ้อน และกลุ่มดาวรุ่งพุ่งแรงสำหรับปี 2567 ดังนี้
กลุ่มธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งต่อเนื่องสองปีซ้อน ได้แก่ 1. ธุรกิจขายของชำ หรือ ร้านโชห่วย ซึ่งเติบโตถึง 940% เนื่องจากร้านค้าเหล่านี้ สามารถซื้อสินค้าครั้งละน้อย ๆ และยังยืดหยุ่นในการชำระเงินได้ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในชุมชน
2. ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนสัมผัสวัฒนธรรมชนบท เติบโตถึง 187% หลังสถานการณ์โควิด-19 เทรนด์การท่องเที่ยวของโลกเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเยียวยาชีวิตและจิตใจ รวมทั้งได้สัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ความเรียบง่าย อาหารจากธรรมชาติ บรรยากาศที่เงียบสงบ ความผ่อนคลาย สัมผัสธรรมชาติเพื่อเติมพลัง
3. ธุรกิจขายของในบ้านมือสอง และซ่อมเฟอร์นิเจอร์ เติบโตกว่า 263% เนื่องจากราคาซ่อมมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจัดซื้อใหม่ หลายสินค้าราคาสูงจากต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งความจำเป็นในการใช้งานตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ กำลังซื้อที่ลดลง ประกอบกับเทรนด์การรักษ์โลก ผู้คนหันกลับมามองสิ่งของรอบตัวที่เรามีในชีวิตประจำวัน
4. ธุรกิจเกี่ยวกับสื่อ เช่น การตัดต่อ และการจัดผังรายการ เติบโตที่ 199% เนื่องจากหลังโควิด-19 ธุรกิจเกี่ยวกับสื่อปรับกลยุทธ์ขยายแพลตฟอร์มไปทางกลุ่มสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่อาชีพ Youtuber และการสร้างกระแสในโลก Social ที่ง่ายขึ้น เกิดช่อง Youtube ของคนไทยเป็นจำนวนมาก
5. ธุรกิจผับ บาร์ และร้านที่ขายแอลกอฮอล์เป็นหลัก เติบโต 125% เนื่องจากหลังโควิด-19 มีการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกลับมาใช้ชีวิตยามราตรีได้ตามปกติ สอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัว อีกทั้งธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่สร้างอัตรากำไรสูง ผู้ประกอบการสามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตได้
กลุ่มธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงในปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นมาจำนวน 5 อันดับ ได้แก่
1. ธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 1,925% ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่จากรูปแบบพฤติกรรมกลุ่มคนเมืองที่เปลี่ยนไปต้องการใช้เวลาในการทำกิจกรรมในชีวิตหรือพักผ่อน พื้นที่ในที่พักมีจำกัด โดยบริการนี้เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญสามารถซักและอบเสร็จได้ในเวลาเพียง 20-40 นาที ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องซัก-อบที่มีราคาสูง คาดจะขยายตัวในเขตชุมชนจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เริ่มมีการแข็งขันเข้มข้นในธุรกิจนี้
2. การผลิตน้ำอัดแก๊สและโซดา มีอัตราการเติบโต 1,109% หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายผลิตภัณฑ์น้ำดื่มได้รับความนิยม มีรสชาติและรูปแบบแปลกใหม่มากขึ้นทั้งในรูปน้ำผลไม้ต่าง ๆ จากแต่ละท้องถิ่นที่นำมาอัดแก๊สในรูปแบบที่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมดื่ม ผู้บริโภคเองก็มีทางเลือกมากขึ้น
3. ร้านตัดเย็บและซ่อมเครื่องแต่งกาย เช่นการแก้ทรงเสื้อ การตัดขากางเกง เติบโต 667% จากที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างชะลอตัว หลังโควิดผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายนำเสื้อผ้าเก่ามาแก้เพื่อใช้งานหรือการหาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ที่มีราคาถูกแต่อาจต้องปรับแก้ทรงเนื่องจากไม่ได้ลองก่อนซื้อ 3. กิจกรรมสันทนาการ เช่น ร้านขายเครื่องดนตรี ร้านเกม มีอัตราการเติบโต 349% เนื่องจากสามารถรวมตัวกันทำกิจกรรมบันเทิง งานแสดงดนตรี หรือร้านเกม เปิดได้ตามปกติทำให้กิจกรรมนี้กลับมาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
4. บริการเกี่ยวกับงานศพครบวงจร เติบโต 285% ให้บริการขนย้าย ตกแต่งสถานที่ พิธีกรรม เป็นธุรกิจที่ตอบสนองคนเมือง ครอบครัวขนาดเล็ก ที่ช่วยลดความยุ่งยากและเวลาในการดำเนินการซึ่งมีให้เลือกตามงบประมาณของลูกค้า อีกทั้งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ต่อเนื่อง
5. ธุรกิจร้านเสริมสวย เติบโต 193% ผลจากการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กิจกรรมบันเทิงและความงามยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ รวมถึงราคาการให้บริการไม่สูงนักเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการให้เลือกใช้บริการจำนวนมากแต่บางธุรกิจที่ได้รับความนิยมผ่านสื่อ Social อาจต้องจองคิวเพื่อเข้าใช้บริการ
ส่วนธุรกิจในกลุ่มเฝ้าระวัง มีทั้งธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง 2 ปีต่อเนื่อง 2566 และ 2567 คือ ธุรกิจหอพักนักศึกษา เนื่องจากสถานศึกษาในระดับต่าง ๆ มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งมีทางเลือกของที่พักในรูปแบบอื่น ๆ โดยนักศึกษาส่วนใหญ่เลือกพักห้องเช่าแบบอพาร์ทเม้นท์และคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันมีธุรกิจที่เริ่มต้องเฝ้าระวังในปี 2567 เนื่องจากเคยเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงจากปี 2566 แต่ในปี 2567 กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลง มีจำนวน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสอง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หดตัวมากถึง 82% อันเนื่องมาจาก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีในปัจจุบันมือหนึ่งราคาถูกลงมาก มีหลายระดับให้เลือก ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคมีการเปรียบเทียบราคาได้ง่าย เพื่อความคุ้มค่าในการจ่ายเงิน สินค้ามือสองกลุ่มนี้จึงได้รับความนิยมน้อยลง
2. ธุรกิจขายงานฝีมือและของที่ระลึก เช่น เครื่องเงิน เครื่องจักรสาน หดตัวถึง 75% เนื่องมาจากการขายสินค้าในออนไลน์เป็นที่นิยม และมีสินค้าเกือบทุกประเภทขายบนออนไลน์ จึงทำให้มีแรงกระตุ้นน้อยลงที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต้องซื้อสินค้าจากการไปท่องเที่ยวที่นั้น ๆ และ
3. ธุรกิจเกสเฮ้าส์ หดตัวกว่า 65% เนื่องจากมีการเติบโตอย่างมากในปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่อนคลายในช่วงแรก ห้องพักแบบเกสเฮ้าส์เป็นตัวเลือกที่ราคาไม่สูงนักเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียว กลุ่มวัยรุ่นและเป็นการพักในระยะยาว แต่หลังโควิด-19 ผ่านไป พฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวนิยมพักระยะสั้น-กลาง หันไปนิยมห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า หรือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวมากขึ้น
ทั้งนี้สามารถติดตามรายงานสถานการณ์ SME รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่าน แอปพลิเคชัน SME Connext หรือเว็บไซต์ของ สสว. https://www.sme.go.th