Thursday, November 21, 2024
NEWS

แผนปฏิบัติการ สสว. ปี 2567 ขยายโอกาส SME ในตลาดภาครัฐให้ได้ 50%

THAI SME-GP

บอร์ด SME เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ SME ปี 2567 ที่ สสว. บูรณาการร่วมกับ 53 หน่วยงาน รวม 163 โครงการ วงเงิน 6,244.70 ล้านบาท

อร์ด SME เห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ SME ปี 2567 ที่ สสว. บูรณาการร่วมกับ 53 หน่วยงาน รวม 163 โครงการ วงเงิน 6,244.70 ล้านบาท และเห็นชอบโครงการปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อช่วย SME รายเล็ก ๆ ในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง วงเงิน 30 ล้านบาท

พร้อมทั้งมอบหมายให้ สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลางภายใต้มาตรการ THAI SME-GP เพื่อขยายโอกาสให้ SME มีส่วนแบ่งในตลาดภาครัฐเพิ่มเป็นกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้ SME เพิ่มขึ้นกว่า 95,000 ล้านบาทต่อปี

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 2/2566

ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประจำปี 2567 รวมถึงโครงการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชน และรายย่อยเพื่อเข้าถึงโอกาสทางการตลาดและช่องทางการตลาด

สำหรับแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี 2567 สสว. ได้บูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชน จาก 14 กระทรวง 53 หน่วยงาน ในการจัดทำข้อเสนอโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ตามแนวทางของแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570)

ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการส่งเสริม SME ของประเทศ รวมจำนวน 163 โครงการ วงเงินงบประมาณ 6,244.70 ล้านบาทและนำเสนอให้สำนักงบประมาณ ใช้เป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SME ประจำปี 2567

โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะมุ่งช่วยเหลือ SME ให้อยู่รอดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เพิ่มขีดความสามารถให้ปรับตัวได้ทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งยกระดับ SME ที่มีศักยภาพและกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ซึ่งหลังจากบอร์ดส่งเสริม SME ให้ความเห็นชอบแล้ว สสว. จะนำแผนปฏิบัติการฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานส่งเสริม SME ต่อไป

ในส่วนโครงการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชนและรายย่อยเพื่อการเข้าถึงโอกาสทางการตลาดและช่องทางการตลาด งบประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการประจำปี 2566 เพิ่มเติม โดย สสว. จะส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain ให้สามารถเดินหน้ากิจการตอบรับกับภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวได้ทันการณ์

ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการทุกกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการดำเนินงานจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางธุรกิจด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ จัดทำหลักสูตรเฉพาะทางและจัดกิจกรรมอบรมความรู้

รวมถึงสร้างโอกาสในตลาดออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้า (Physical Market) ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน สสว. ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (มาตรการ THAI SME-GP) ซึ่งในปี 2565 จนถึงไตรมาส 3 (1 ต.ค.2564-30 มิถุนายน 2565) ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจาก SME มูลค่า 393,284 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.20 ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างรวม

ซึ่งที่ประชุมบอร์ดส่งเสริมฯ ให้ความเห็นว่าเนื่องจากมาตรการนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยขยายโอกาสให้ SME มีขีดความสามารถที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

จึงมอบหมายให้ สสว. ประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ จัดซื้อจัดจ้างจาก SME ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน

ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จคาดว่าวงเงินที่จัดซื้อจัดจ้างจาก SME จะเพิ่มขึ้นประมาณ 95,000 ล้านบาท/ปี ช่วยให้ SME สามารถสร้างรายได้และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ สสว. เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์หรืออำนวยความสะดวกให้ SME โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการทบทวนและปรับปรุง กฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ (กีโยตินกฎหมาย)

เนื่องจากปัจจุบันการจะเริ่มต้นทำธุรกิจหลายประเภท จะต้องมีกระบวนการ ขั้นตอน ในการขออนุญาตหรือต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเริ่มดำเนินกิจการได้ ดังนั้นเพื่อให้การประกอบธุรกิจทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

สสว. จึงได้รับมอบหมายให้เสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งจัดให้มีเครื่องมือการประเมินศักยภาพ SME (Credit Scoring) เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยเชื่อว่าปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้หากได้รับการแก้ไขเพื่อลดปัญหา จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเข้มแข็งให้ SME เป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป