Thursday, November 21, 2024
NEWS

สสว.บูรณาการ 8 แพลตฟอร์ม เน้นสร้างเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้ใหม่ในวงกว้าง

สสว. บูรณาการ 8 แพลตฟอร์ม เน้นสร้างเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้ใหม่ในวงกว้าง สร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อไป

รพจน์ ประสานพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้เปิดเผยว่า สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สสว. มีเป้าหมายในการที่จะบูรณาการ แพลตฟอร์มทั้ง 8 แพลตฟอร์ม ของ สสว. ให้มีความทันสมัยให้มากขึ้น รวมไปถึงสร้างการรับรู้ออกไปให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

วรพจน์ ประสานพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

วรพจน์ กล่าวอีกว่า การบูรณาการ 8 แพลตฟอร์ม จะช่วยให้ สสว.ได้ประเมินถึงจุดดีจุดด้อยในแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อที่จะนำมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นพร้อมที่จะประชาสัมพันธ์เผยแพร่ออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมองหาจุดเด่นจุดด้อยของแพลตฟอร์มต่างๆ

สำหรับ 8 แพลตฟอร์มของ สสว. ประกอบไปด้วย

1. SME COACH : เป็นแพลตฟอร์มที่มีจุดเด่นในด้านการให้คำปรึกษาด้านเอสเอ็มอี ฟรี โดยมีผู้เชี่ยวชาญถึง 14 ด้าน สามารถให้คำปรึกษาออนไลน์ สามารถคุยกับโค้ชผ่านระบบแชทออนไลน์ พร้อมทั้งมีทีมช่วยเหลือ อีกทั้งสามารถติดตามสถานะได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านระบบหรือผ่าน Line OA ของ SME COACH โดย สสว. มุ่งหวังจากการบูณาการในครั้งนี้ให้แพลตฟอร์ม SME COACH เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ไม่ต่ำกว่า 100 คน

2. BDS : เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่ผู้ประกอบการจะสามารถเลือกรับการบริการ หรือรับการพัฒนากับผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service Provider : BDSP) ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน

โดย สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้แก่ผู้ประกอบการแบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50–80 ตามขนาดของธุรกิจ ซึ่งการบูรณาการจะช่วยให้แพลตฟอร์ม BDS มีการอนุมัติการยื่นข้อเสนอให้เร็วมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยเหลือทางด้านงบประมาณให้ได้อย่างรวดเร็ว

3. SME ONE : คือ Web Portal ที่ให้บริการผ่าน www.smeone.info Platform ที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารในแวดวงเอสเอ็มอี การจัดกิจกรรมอบรมสัมมนา หรือเวิร์คชอปสำหรับผู้ประกอบการจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมทั้งมอบข้อมูลให้กับผู้ประกอบการในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการเงิน การตลาด เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ คลิปวิดีโอสร้างแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจจากผู้ประกอบการตัวจริงเสียงจริง และคลิปวิดีโอแนะนำการให้บริการเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ SME ONE ยังให้บริการผ่านโซเซียลมีเดีย ช่องทางต่างๆ ได้แก่ Facebook Fan Page : SMEONE  Tiktok : smeone.info และ Line OA @smeone

4. SME CONNEXT : Mobile Application เพื่อผู้ประกอบการไทย ที่รวบรวมทุกอย่างที่เกี่ยวกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น บทความ การจับคู่ธุรกิจ หรือกิจกรรมอบรม เสวนาทางธุรกิจ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ พร้อมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการอย่างครบถ้วน ส่งตรงทุกข่าวสารและกิจกรรมผ่านมือถือ และเป็นช่องทางการเชื่อมต่อบริการไปยังแพลตฟอร์มให้บริการต่างๆ เพื่อย่อโลกการให้บริการแบบอัดแน่นไว้ในมือถือเป็น แอพพลิเคชันคู่ใจสำหรับผู้ประกอบการ

5. Thai SME GP (ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ) : เป็นแพลตฟอร์ม ที่เพิ่มโอกาสการเป็นคู่ค้ากับหน่วยงานภาครัฐผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ซึ่งพัฒนาระบบสนับสนุนให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คือ www.thaismegp.com หรือ THAI SME-GP โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขึ้นทะเบียนรายชื่อและรายการสินค้าและบริการในระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

6. ระบบการส่งต่อเพื่อรับบริการภาครัฐ : เป็นแพลตฟอร์มเพื่อประสานความร่วมมือร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานสนับสนุน MSME ในการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือการให้บริการแบบเครือข่ายระหว่างหน่วยงาน เพื่อส่งต่อการให้บริการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการรับบริการต่างๆได้ไวขึ้น และสามารถติดตามขั้นตอนในการให้บริการได้

7. SME ONE ID : หรือ หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification : SME One ID ) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน และให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ

และลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาตและการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย โดยโครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่มีมากกว่า 3 ล้านราย ซึ่งหลังจากการบูรณาการจะทำให้เพิ่มการเข้าถึงผู้สมัครให้มากขึ้น ต้องการให้ข้อมูลของ SME One ID น่าเชื่อถือมากขึ้นเปรียบเสมือนบัตรประชาชน และสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

8. SME ACADEMY 365 : E-learning Platform ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้มีแหล่งเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และเพิ่มทักษะการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ โดยมีสาระน่ารู้ และเทรนด์ใหม่ ๆ อัปเดตอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งปี เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาหาความรู้ได้ เข้าถึงได้ เข้าถึงง่าย ไม่ต้องรอ

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีบทความจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่มีเฉพาะใน SME ACADEMY 365 เท่านั้น การบูรณาการในครั้งนี้ สสว. คาดหวังว่าต้องการให้ได้รับความนิยม ทั้งผู้ที่เป็นเอสเอ็มอีและ ผู้ที่อยากเป็นเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ เข้ามาหาข้อมูล ตามข่าวสาร พร้อมทั้งมุ่งเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจ Soft Power ให้มากเพิ่มยิ่งขึ้น

“จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าการจัดกิจกรรมบูรณาการในครั้งนี้ ที่ สสว. มุ่งเน้นในการหาจุดแข็งและจุดที่ต้องปรับปรุง เพื่อที่จะนำมาพัฒนาทั้ง 8 แพลตฟอร์มให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งต้องการที่จะสร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อไป

และนอกจาก 8 แพลตฟอร์มที่กล่าวมานี้ สสว. ยังมีอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะรองรับข้อมูลจากทั้ง 8 แพลตฟอร์มมาเพื่อเก็บเป็น Data ในการที่จะปรับปรุงแพลตฟอร์มต่างๆให้ดียิ่งขึ้นนั่นก็คือ SME Profile โดยแพลตฟอร์มนี้จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ นำมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความน่าสนใจและสร้างบริการที่รองรับความต้องการของผู้ประกอบการต่อไป” วรพจน์ กล่าวทิ้งท้ายทั้งนี้