สดช. ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างกลุ่มงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค (DESG) และคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ (TELWG)
รองเลขาฯ สดช. ในฐานะประธานการประชุมกลุ่มงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค (DESG) ร่วมเสนอวิสัยทัศน์ ตอกย้ำ Roadmap การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หนุนครอบคลุมทั่วถึง ยกระดับความเท่าเทียมด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเป้าหมายระดมความร่วมมือภาคี เพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ยั่งยืนในภูมิภาค
เอกพงษ์ หริ่มเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า วันนี้ (29 ต.ค. 65) ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานในการประชุมกลุ่มงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค (Digital Economy Steering Group : DESG)
ภายใต้การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2565 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม DESG-TEL Joint Meeting and Public-Private Dialog ในหัวข้อ “การดำเนินการตามแผนที่นำทาง AIDER เพื่อสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ความยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจ APEC”
สำหรับการประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง DESG และคณะทำงานเอเปคด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ (TELWG) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเขตเศรษฐกิจเอเปค
ได้แก่ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สดช., Head of Public Sector Google Thailand, เอกอัครราชทูตประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สภาหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce: ICC), Director of the ITU Regional Office for Asia and the Pacific, Head of the Regulatory Policy Unit of the Federal Telecommunications Institute (IFT), Director of Multilateral Economic Affairs Office และ Director of the Asian and Pacific Training Centre for ICT for Development (APCICT) เป็นต้น
ทั้งนี้ การประชุมแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้ 1. Joint Meeting โดยมี Dr. Nam Sang-yirl ประธาน APEC TEL ทำหน้าที่ประธานการประชุม เป็นการทบทวนการดำเนินงานและการรายงานความก้าวหน้าของทั้งสองกลุ่มงานและการอภิปรายใน หัวข้อความร่วมมือในการขับเคลื่อน 11 ประเด็นหลัก
ภายใต้แผนที่นำทางการพัฒนาอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเปค หรือ AIDER (APEC Internet and Digital Economy Roadmap) ให้ความสำคัญใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัล การมีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่เข้าถึงได้อย่างทั่วถึง และการยกระดับความเท่าเทียมด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล
และ 2. Public-Private Dialog เป็นการอภิปรายในหัวข้อบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ยั่งยืน ในการขับเคลื่อนงานภายใต้โรดแมปของ AIDER ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 11 ประเด็น
ครอบคลุมตั้งแต่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัล การสนับสนุนการทำงานร่วมกัน การสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและเกิดการประยุกต์ใช้ในด้านเทคโนโลยีและการบริการ ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสร้างความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัล
“ได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในหัวข้อนี้ ในฐานะประธาน APEC DESG ซึ่งในเวทีการอภิปราย มุ่งเน้นใน 3 ประเด็น ภายใต้โรดแมปข้างต้น ได้แก่ ประเด็นที่ 6 การสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและเกิดการประยุกต์ใช้ในด้านเทคโนโลยีและการบริการ (Promoting innovation and adoption of enabling technologies and services)
ประเด็นที่ 7 การยกระดับความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Enhancing trust and security in the use of ICTs) และประเด็นที่ 11 การอำนวยความสะดวกการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสร้างความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัล (Facilitation of E-commerce and advancing cooperation on Digital Trade) ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงทั้งจากกูเกิล และสภาหอการค้านานาชาติ เข้าร่วมบรรยายด้วย” เอกพงษ์กล่าว
เอกพงษ์ กล่าวว่า การประชุมในหัวข้อดังกล่าว เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ และได้แสดงบทบาทการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการแบ่งปันความรู้ที่แตกต่าง หลากหลายจากทั้งภาครัฐและเอกชน
ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพของการบูรณาการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคของเอเปคต่อไป