Wednesday, December 4, 2024
InsurTechNEWS

คปภ.ปลดชนวนปัญหากรณี อู่ซ่อมรถยนต์ เทลูกค้า อาคเนย์ประกันภัย

คปภ.ปลดชนวนปัญหากรณี อู่ซ่อมรถยนต์ “เทลูกค้า” อาคเนย์ประกันภัย จัดประชุมผ่านระบบ Microsoft Teams ถก 4 ฝ่าย ได้ข้อยุติแนวทางแก้ไขปัญหา

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)

ร. สุทธิพล  ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง โดยระบุว่า อู่ซ่อมรถยนต์ส่วนใหญ่ ปฏิเสธรับซ่อมรถยนต์จากบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2565 ไปจนกว่าจะมีความชัดเจนจากบริษัทฯ

ซึ่งอู่ซ่อมรถยนต์ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากอู่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถยนต์เองทั้งหมด และต้องไปทำการตั้งเบิกในภายหลัง โดยมีความกังวลว่าจะไม่สามารถเบิกค่าซ่อมรถยนต์จากบริษัท อาคเนย์ฯ ได้ หรือให้ผู้เอาประกันภัยชำระค่าซ่อมไปก่อนแล้วนำเอกสารไปตั้งเบิกกับบริษัท อาคเนย์ฯ ในภายหลัง

เพื่อมิให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบและเดือดร้อนสำนักงาน คปภ. ได้ติดตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางแก้ไข

โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เลขาธิการ คปภ. ได้มอบหมายให้ ชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานในการประชุมหารือกรณีอู่ซ่อมรถยนต์ในเครือของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธการจัดซ่อมรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย ผ่านระบบ Microsoft Teams

โดยมี โสรัจจ์  แรกสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. ชยพล หมื่นแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินราคา บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ศุภกร ลีภัทรวรกุล นายกสมาคมอู่กลางการประกันภัย ดร. ธีระพงศ์ ธนเจริญรัตน์ เลขาธิการสมาคมอู่กลางการประกันภัย ภัณฑิรา จงปิติทรัพย์ นายกสมาคมการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย และนางสาวกัลยา จุกหอม ผู้แทนสมาคมประกันวินาศภัยไทย เข้าร่วมประชุมด้วย

จากการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนจากบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงว่าบริษัทฯ ได้รับทราบปัญหาและไม่ได้นิ่งนอนใจกรณีตามที่เป็นข่าวว่าอู่ในเครือของบริษัท อาคเนย์ฯ ขาดความเชื่อมั่นในการรับซ่อมรถยนต์ให้กับลูกค้าของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้ทำความเข้าใจกับอู่ไปแล้ว

และได้กำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอู่และผู้เอาประกันภัย ดังนี้ 1. กำหนดให้บริษัท อาคเนย์ฯ จะจ่ายเงินค่าซ่อมให้กับอู่คู่สัญญาภายใน 3 วัน นับแต่วันที่อู่ได้วางบิลกับบริษัท อาคเนย์ฯ 2. หากอู่คู่สัญญารายใดไม่เชื่อมั่นว่าจะเบิกค่าซ่อมได้หรือไม่ บริษัท อาคเนย์ฯ พร้อมจะจ่ายค่าซ่อมทันทีก่อนจัดซ่อมรถยนต์เสร็จ 3 วันทำการ โดยปัจจุบันบริษัท อาคเนย์ฯ มีอู่คู่สัญญาที่กลับมารับงานซ่อมครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว จำนวน 390 อู่ ศูนย์บริการ จำนวน 281 ศูนย์

อย่างไรก็ดี หากผู้เอาประกันภัยของบริษัท อาคเนย์ฯ ประสบปัญหาอู่คู่สัญญาของบริษัท อาคเนย์ฯ ปฏิเสธการจัดซ่อมรถยนต์ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1726 ทั้งนี้ผู้แทนจากบริษัทฯ ยืนยันว่าปัจจุบันทั้งเรื่องการอนุมัติราคา การติดตามการซ่อม และการจัดอะไหล่จะไม่เป็นประเด็นปัญหาต่อผู้เอาประกันภัยของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ในส่วนของสมาคมอู่กลางการประกันภัย และสมาคมการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย ได้มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1. ให้อู่ที่รับซ่อมรถเสนอราคาและบริษัทฯ คุมราคาพร้อมอนุมัติค่าซ่อมโดยเร็ว แล้วตั้งเบิกให้อู่ซ่อมก่อนจ่ายในนามอู่ซ่อมแล้วส่งภาพการซ่อมอะไหล่คืนตามหลังในระบบ EMCS

เนื่องจากเป็นกรณีที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนผู้เอาประกันภัย ประกอบกับมีข่าวทางโซเชียลเกี่ยวกับการขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย 2. ให้บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาอะไหล่การซ่อมให้แก่อู่ และ 3. ค่าแรงการซ่อมรถที่บริษัทฯ อนุมัติแล้วให้สามารถเบิกได้ครั้งเดียว หากมีรายการต่อเนื่องอู่ซ่อมจะไม่สามารถเบิกค่าแรงเพิ่มภายหลังได้ ในกรณีที่บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาอะไหล่ อู่สามารถเบิกอะไหล่จากบริษัทฯเพิ่มเติมได้เป็นระยะ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันระหว่างผู้แทนจากอู่ซ่อมรถยนต์ กับบริษัท อาคเนย์ฯ ดังนี้

1. ให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องระหว่างบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) สมาคมอู่กลางการประกันภัย และสมาคมการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับผู้เอาประกันภัยที่นำรถเข้าซ่อม

2. ให้บริษัท อาคเนย์ฯ แจ้งอู่ในเครือของบริษัทฯ ให้รับทราบเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับอู่ซ่อมรถยนต์และผู้เอาประกันภัย และ

3. ให้บริษัท อาคเนย์ฯ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งทางสำนักงาน คปภ. ได้กำชับให้บริษัทฯ ดำเนินการตามแนวทางของที่ประชุมอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย โดยให้รายงานความคืบหน้าต่อสำนักงาน คปภ. โดยเร็ว