ผลสำรวจ Enterprise Cloud Index พบแนวโน้มการใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบผสมเพิ่มขึ้น
“เปิดผลการสำรวจการใช้คลาวด์ระดับองค์กร พบแนวโน้มการใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบผสม (Mixed Infrastructure) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่องค์กรในประเทศไทยคาดว่าจะใช้แพลตฟอร์มไฮบริดมัลติคลาวด์ เพิ่มขึ้น 50% ในอีก 3 ปี
นูทานิคซ์ประกาศผลสำรวจ ความก้าวหน้าของการใช้คลาวด์ระดับองค์กร Enterprise Cloud Index_(ECI) ปีที่ 5 โดยการสำรวจในปีนี้ ได้ทำการศึกษาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสถานะของการใช้ระบบคลาวด์ขององค์กรทั่วโลก, ความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที, การจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์
การสำรวจนี้ ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีจำนวน 1,450 คน ในเดือนธันวาคม 2022 และมกราคม 2023 เผยให้เห็นถึง การใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบผสม (Mixed Infrastructure) ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีส่วนตัว (ทั้งในองค์กรและการใช้บริการโฮสติ้ง) คลาวด์สาธารณะ และเอดจ์
ความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นกำลังผลักดันให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน IT แสวงหาโครงสร้างพื้นฐานที่รวมเป็นหนึ่ง เพื่อจัดการและรักษาความปลอดภัยของแอปพลิเคชันและข้อมูล
ทั่วโลกยังใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ Mixed Infrastructure ต่อเนื่อง
ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่ง (60%) ใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบผสม (Mixed Infrastructure) และยังมีแผนทำเช่นนี้ต่อไปหรือมีแผนเพิ่มประเภทให้หลากหลายมากขึ้นอีกในอีก 3 ปีข้างหน้า
มีการคาดการณ์ว่า การใช้โมเดลไฮบริดมัลติคลาวด์ ซึ่งประกอบด้วยไพรเวทคลาวด์ที่อยู่ในองค์กรหรือที่เอดจ์ บวกกับแพลตฟอร์มมัลติพับลิคคลาวด์ จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ในขณะที่จะมีการใช้โมเดลอื่นๆ คงที่หรือลดลง ในเวลาเดียวกัน ดาต้าจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่มีบทบาทเบื้องหลังการตัดสินใจด้านไอทีมากขึ้น
องค์กรต่างเผชิญความท้าทายว่าจะลดความซับซ้อนและบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของตนอย่างไรที่จะสามารถรองรับทั้งแอปพลิเคชันและดาต้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสภาพแวดล้อมไอที และบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนและงบประมาณด้วย
องค์กรส่วนใหญ่มีความคืบหน้าในการทำให้การจัดการง่ายขึ้น ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ระบุว่า สามารถทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสภาพแวดล้อมไอทีต่างๆ ของตนได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังขาดการมองเห็นแบบองค์รวมว่าดาต้าของตนอยู่ ณ ที่ใดบ้าง
ในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจใน Enterprise Cloud Index 94% เห็นเหมือนกันว่าความสามารถในการมองเห็นได้ทั้งหมดเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้มีเพียง 40% เท่านั้นที่ระบุว่าสามารถมองเห็นว่าดาต้าของตนอยู่ที่ไหนได้อย่างสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า 60% ยังไม่สามารถทำเช่นนี้ได้
การไม่สามารถมองเห็นว่าดาต้าอยู่ที่ใด ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถขององค์กรในการกำหนดและบังคับใช้นโยบายด้านความปลอดภัยได้อย่างรัดกุมกับทุกแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ใช้
จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเลยที่ผลสำรวจปีนี้พบว่า ความปลอดภัยของดาต้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การกำกับดูแล และปัญหาด้านการควบคุมดาต้า จึงยังคงเป็นสิ่งที่ผู้ตอบแบบสำรวจคำนึงถึงมากที่สุด
องค์กรในประเทศไทย จะใข้ ไฮบริดมัลติคลาวด์ 50% ในอีก 3 ปี
สำหรับผลการสำรวจ Enterprise Cloud Index ยังมีรายละเอียดของการใช้คลาวด์ของ องค์กรในประเทศไทย มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยในหัวข้อการสำรวจเรื่อง การใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบหลากหลาย (Multiple IT Environment) พบว่า
องค์กรในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยการใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบผสมผสาน (36%) น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก (60%) ซึ่งในอีก 1-3 ปี มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นไทย 64% และทั่วโลก 74%
หัวข้อในการสำรวจต่อมาคือเรื่อง รูปแบบโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน และแผนที่จะปรับใช้ใน 1-3 ปี พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันองค์กรไทยยังคงใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีส่วนตัว 56% (ในองค์กร 32% และการใช้บริการโฮสติ้ง 24%) ซึ่งในอีก 3 ปี จะลดลงเหลือ 36%
รวมถึงการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานแบบ ไฮบริดมัลติคลาวด์ ที่ปัจจุบันไม่มีองค์กรในประเทศไทยใช้เลย และคาดการว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในอีก 3 ปี
อธิปไตยของข้อมูล มีอิทธิพลสูงสุดในการตัดสินใจด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ประเด็นต่อมาคือ ปัจจัยขับเคลื่อนการตัดสินใจด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า อธิปไตยของข้อมูล (data sovereignty) ซึ่งหมายถึง ความมีอิสระขององค์กรในการมีอำนาจควบคุมข้อมูลของตนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข เพิ่ม/ลบข้อมูล หรือการย้ายไปเก็บที่อื่นตามต้องการ เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดในการตัดสินใจด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมาคือ ความยืดหยุ่น เพื่อรองรับการทำงานระหว่างระบบคลาวด์และระบบภายในองค์กร ตามมาด้วยเรื่องความยั่งยืน
ประเด็นต่อมาคือ ความท้าทายในการบริหารจัดการดาต้าบนโครงสร้างพื้นฐานแบบผสม ที่นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ และจำเป็นต้องจัดการเวิร์กโหลดและดาต้าทั้งหมดได้จากจุดเดียว โดยผลการสำรวจพบว่า ความท้าทายขององค์กรในประเทศไทยคือ การกู้คืนความเสียหาย/ความต่อเนื่องทางธุรกิจ (52%)
ความท้าทายขององค์กรในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นคือ การวิเคราะห์ข้อมูลและการประสานข้อมูล (51%) ส่วนความท้าทายขององค์กรทั้งหมดคือเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูล (43%) และการวิเคราะห์ข้อมูลและการประสานข้อมูล (43%)
ประเด็นต่อมาคือ เหตุผลในการย้ายแอปฯ ข้ามโครงสร้างพื้นฐานในปีที่ผ่านมา องค์กรไทยย้ายแอปพลิเคชันระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยเหตุผล 3 อันดับแรกคือ เพื่อปรับปรุงความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล, เพื่อปรับปรุงการรักษาความปลอดภัย และเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ และเพื่อให้สามารถควบคุมแอปพลิเคชันได้ดีขึ้น
ส่วนในประเด็นสุดท้ายในเรื่อง ความกังวลใจเกี่ยวกับต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้ระบบคลาวด์ ในภาพรวมนั้น การควบคุมต้นทุนระบบคลาวด์เป็นเรื่องท้าทายสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (องค์กรไทย 96%, เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 86% และทั่วโลก 85%)
Featured Image: Image By vecstock