
“สวทช. โดยเนคเทค โชว์ Pathumma LLM เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมไทย พร้อมสำหรับการเป็น Multi-Modal Generative AI ที่รองรับการประมวลผลข้อมูลได้หลากหลายทั้งข้อความ รูป และเสียง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศความก้าวหน้าการพัฒนา Pathumma_LLM (ปทุมมา แอลแอลเอ็ม)
โมเดลภาษาขนาดใหญ่ ที่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมไทย มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านภาษา ข้อมูล และบริบทประเทศไทย พร้อมสำหรับการเป็น Multi-Modal Generative AI หรือโมเดล AI ที่รองรับการประมวลผลข้อมูลได้หลากหลายทั้งข้อความ รูป และเสียง

ล่าสุดโดย ดร.ศราวุธ คงยัง นักวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน และทีมวิจัยเนคเทค สวทช. เปิดเผยว่า “Pathumma LLM (ปทุมมา แอลแอลเอ็ม) เป็นการสร้างเทคโนโลยีเอไอ สัญชาติไทย ที่มี 3 ความสามารถหลัก ได้แก่
Text LLM สำหรับประมวลผลภาษาไทย, Vision LLM สำหรับวิเคราะห์และเข้าใจภาพ และ Audio LLM สำหรับจดจำและตอบสนองต่อเสียงภาษาไทย ที่ได้รับการพัฒนาแบบ Open Source เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน และขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของไทย”
จุดเด่นของ Pathumma_LLM
ดร.ศราวุธ อธิบายว่า “Pathumma LLM ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยได้นำเสนอเทคโนโลยี AI สัญชาติไทย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบบริการ AI โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยที่มีความเฉพาะตัวทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม”
“โดยจุดเด่นของ Pathumma_LLM คือเป็นโมเดล AI ที่พัฒนาให้รองรับการประมวลผลข้อมูลได้หลายรูปแบบ ทั้งข้อความ (Text LLM), เสียง (Audio LLM) และภาพ (Vision LLM) เพื่อการใช้งานที่ครอบคลุมและหลากหลาย”
“ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลคำถามและคำสั่งจากข้อความ การแปลงเสียงเป็นข้อความ และการวิเคราะห์ภาพ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน เช่น การให้บริการแชตบอตในภาครัฐหรือเอกชน การถอดความจากเสียงในการประชุม หรือการสร้างคำบรรยายภาพในงานวิจัย”
“โดยล่าสุดหน่วยงานรัฐอย่างรัฐสภา นำไปใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อให้บริการข้อมูลกับประชาชนที่ขอใช้บริการต่าง ๆ ทั้งการสรุปประชุมสำคัญของสภา สรุป (ร่าง) กฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านสภา เป็นต้น”
นอกจากนี้ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการพัฒนา Pathumma_LLM คือ จะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่มีความแม่นยำและสอดคล้องกับการใช้ภาษาไทยและบริบทของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามข้อมูลหรือการสืบค้นข้อมูลในแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงการใช้งานในองค์กรภาครัฐที่ต้องการปกปิดข้อมูล เช่น ธนาคาร หรือสถานพยาบาล
ดร.ศราวุธ กล่าวต่อว่า “สำหรับทิศทางในอนาคต ทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาโมเดลพื้นฐาน (Foundation Model) ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปี 2568 นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับข้อมูลและทำให้ Pathumma_LLM มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชน”
“นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาให้ Pathumma_LLM กลายเป็น “Agentic AI ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ที่สามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริการให้กับผู้ใช้ในอนาคต”
“Pathumma_LLM ไม่เพียงแค่เป็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์และพัฒนาโดยคนไทย แต่ยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาในหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในภาครัฐและเอกชนที่ต้องการระบบบริการที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของประเทศไทย”
“และยังให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และเพื่อประโยชน์ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี AI ของสังคมไทย เกิดประโยชน์ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐบาล และประชาชนทั่วไป” ดร.ศราวุธ กล่าวปิดท้าย