Thursday, November 21, 2024
BlockchainNEWSTechnology

สปสช. ผนึก NT พร้อม Bitkub นำร่องระบบบริการด้านสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สปสช. ผนึก NT พร้อมทีม Bitkub ผุดโครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform) แก่คนทั้งประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแบบครบวงจร

3 พันธมิตรเดินหน้าประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบูรณาการด้านสาธารณสุข พร้อมนำศักยภาพสร้างความร่วมมือผลักดันโครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform) มุ่งเป้าส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน พร้อมต่อยอดนโยบายรัฐบาล ให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ Digital Health เพื่อให้บริการในทุกมิติ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการจัดทำระบบนำรองเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform)”

โดยมี นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการ-ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT วิชัย ทองแตง ประธาน บริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด และ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมพิธีลงนาม ณ ห้อง NT Auditorium อาคารสโมสร NT สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ

โครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform) ระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และบริษัท บิทคับ  เวิลด์เทค จำกัด (Bitkub World Tech) เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการร่วมกันศึกษา ทดสอบ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบูรณาการด้านบริการสาธารณสุขและที่บริการเกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเบื้องต้น 3 หน่วยงานได้นำศักยภาพและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมกันจัดทำ Digital Health ID เพื่อให้บริการสาธารณสุขและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแก่ประชาชน

โดย สปสช. ให้การสนับสนุนข้อมูล นโยบาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ส่วน NT ให้การสนับสนุนการใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การให้บริการเครือข่าย Internet, 4G/5G, LoRa, Cloud Computing, Cyber Security และ Data Center รวมถึงเทคโนโลยีด้านดิจิทัล โดยได้ร่วมกับ Bitkub World Tech พัฒนา Digital Health ID และระบบนำร่อง Health Platform ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันการใช้ระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านสาธารณสุขให้ครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวม โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาระบบบริการร่วมกัน

ดังนั้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ของทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีบทบาทในการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้กับประชาชน  บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่มีบทบาทในการดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนด้านการสื่อสารและบริการดิจิทัลให้กับประเทศ และบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก หนึ่งในกลุ่มบริษัทบิทคับ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain แถวหน้าของประเทศไทย

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการจัดการฐานข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยสูง และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยหรือผู้ให้ข้อมูลได้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณูปการในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคม และจิตใจของประชาชนให้เกิดขึ้น

“ผมขอชื่นชมทั้ง 3 หน่วยงานที่จะได้ร่วมกันดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุขของประเทศเพื่อขยายสู่การบริการแก่ประชาชนแบบครบวงจรในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต”

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพ  ที่ผ่านมา สปสช. ได้นำเทคโนโลยีมาร่วมบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานบริการให้กับประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่าย เช่น ระบบพิสูจน์ตัวตนเพื่อยืนยันเข้ารับบริการ เป็นต้น การลงนามความร่วมมือของ 3 หน่วยงานภายใต้โครงการจัดทำระบบนำร่องเพื่อให้บริการด้านสุขภาพ (Health Platform)

ในวันนี้ เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การพัฒนาระบบ Health Digital ID ที่มีความแม่นยำ เกิดการเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพประชาชนและการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ อันเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการวางโยบายด้านสุขภาพของประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบบริการต่าง ๆ ด้านการแพทย์ในอนาคต อย่าง Telehealth, Telemedicine ที่ตอบโจทย์ผู้รับบริการ โดย สปสช. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งต่อความร่วมมือในครั้งนี้