Thursday, November 21, 2024
ArticleseGovernmentSustainability

ความร่วมมือ รัฐ เอกชน ประชาชน สร้างความสำเร็จของเมืองยั่งยืน

ความสำคัญของความร่วมมือระหว่าง รัฐ เอกชน และประชนชน เป็นกระบวนการสำคัญก้าวสู่ความสำเร็จของการพัฒนาเมืองยั่งยืน

ารขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) เป็นหนึ่งในแนวโน้มและความท้าทายสำคัญ Megatrends ที่โลกจะต้องเผชิญในคริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ.2593 โลกจะมีประชากรเมืองประมาณ 2.4 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อย ละ 66 ของประชากรโลก

การขยายตัวของเมือง เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ปัจจุบันเมืองต่างๆ ทั่วโลกประสบปัญหาและความท้าทายมหาศาล เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทำให้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีความจำเป็นที่จะต้อง แก้ปัญหาและพัฒนาเมืองเพื่อ ความยั่งยืน

คําว่า ความยั่งยืนของเมือง คือ เมืองที่มีกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและสมดุล ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการยืดหยุ่นรับการเปลี่ยนแปลง (Resilience) การพึ่งพาตนเอง (Self-reliance) และ ประโยชน์ต่อเมืองอื่น (Positive Externality) โดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

เมื่อ มิถุนายนที่ผ่านมา มีการเปิดประเด็นเรื่องการสร้างเมืองยั่งยืนขึ้น ผ่านโครงการ เมืองยั่งยืน 2023 (Sustainable City 2023) ซึ่งเป็นงานสัมมนาที่เกิดจากความร่วมมือ ระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช. หรือ ONDE) และสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย (Thai Digital Technology User Group Association: DUGA) เป้าหมายก็เพื่อ เป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายเมืองยั่งยืนรวมกันอย่างบูรณาการ

DE เน้นย้ำ PPP จะนำความยั่งยืนสู่เมืองและชุมชน

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในงานสัมมนา ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่าง รัฐ เอกชน และประชนชน ในการสร้างเมืองยั่งยืนว่า ความสำเร็จของการพัฒนาเมืองยั่งยืนต้องเกิดจากความร่วมมือ

โดยงานสัมมนานี้เกิดจากความร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย ที่ต้องการพัฒนาเมืองจากนวัตกรรม สามารถที่จะขยายผลและนำไปใช้ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากได้

เมืองยั่งยืน
ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การจัดงานในลักษณะอย่างนี้จะทำให้เกิดความรู้ในการที่จะแลกเปลี่ยนกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องการให้ ผู้นำท้องถิ่นสามารถจะพิจารณาแล้วก็เลือกเอาหลายสิ่งหลายอย่างที่มีประโยชน์กับประชาชนในท้องถิ่นไปใช้ได้ กระทรวงฯ มีหน้าที่สนับสนุนโครงสร้างต่างๆ ให้ผู้นำท้องถิ่นสามารถเลือกเรื่องที่เป็นประโยชน์จริงๆ

เมืองยั่งยืนเป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการพัฒนา โดยเน้นที่เรื่องของการปรับ Mindset ของคน เช่น การดูแลขยะของเมือง ที่ต้องปรับเรื่องคนและกระบวนการ ซึ่งในส่วนนี้เป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืนกว่า มีความละเอียดอ่อนมากกว่า และจะเป็นผลกับประชาชนในพื้นที่ เกิดผลทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสังคม

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เราสามารถเลือกนวัตกรรมที่ดี แล้วขยายผลไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งมี 6,000 – 7,000 แห่งและมีกระบวนการที่ใช้ได้ราว 200 กระบวนการ นั่นจะทำให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้รับประโยชน์ เดินหน้าสู่ความยั่งยืน

ร่วมผลักดันเมืองที่สมาร์ทด้วยเทคโนโลยีให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หนึ่งในองค์กรผู้ร่วมสนับสนุน กิจกรรม เมืองยั่งยืน 2023 กล่าวว่า “เราคาดหวังว่า การพัฒนาสมาร์ทซิตี้กับเมืองยั่งยืนต้องมีการบูรณาการกัน

คือสมาร์ทด้วยเทคโนโลยีให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน ชุมชนมีความสุข และเอาเทคโนโลยีไปใช้และปรับใช้ ถ้าทุกหน่วยงานผลักดันในเรื่องนี้ เชื่อมโยงกัน บูรณาการกัน ระหว่างกระทรวง DE, สดช. และภาคเอกชน”

“บทบาทของหน่วยงานภาครัฐคือ การร่วมกันพิจารณาที่จะสนับสนุนในเรื่องอะไรได้บ้าง เป็นตัวเสริมในการขับเคลื่อน และไปสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เราวางไว้ 3-4 ระยะ

ซึ่งระยะนี้เป็นเรื่องของการ Transformation ทำอย่างไรให้กระบวนงานของรัฐนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการบริการประชาชนอย่าง 100% เป็นเป้าหมายราชการจะเป็นรัฐบาลดิจิทัล”

“จะเริ่มเห็นโครงการเมืองยั่งยืนนี้ เป็นตัวอย่างของรูปแบบการพัฒนาที่เริ่มจากเอกชน สนับสนุนโดยรัฐบาล โครงการเมืองยั่งยืนได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย เป็นแม่งานในการขับเคลื่อน โดยเอาเมือง ชุมชน ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นตัวอย่าง แล้วทางกระทรวงฯ จะไปถ่ายทอดต่อให้เกิดประโยชน์ในมุมอื่นๆ โดยไม่ต้องไปศึกษาใหม่ ไม่ต้องไปลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ เน้นการสร้างความยั่งยืน และความสุขของประชาชนเป็นหลัก”

ปตท.สผ. พี่ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีสร้างความยั่งยืน

ทางด้าน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ ได้กล่าวถึง การปรับตัวของธุรกิจพลังงานสู่ความยั่งยืน โดยยึดกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนของ ปตท.สผ. 3 ด้าน ประกอบด้วย

หนึ่ง การมุ่งสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ, สอง การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และสาม การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน โดยทุกๆ ปี ปตท.สผ. มีการประเมินและทบทวนประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัท ครอบคลุมด้าน ESG และนำผลดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์องค์กร โดยปีที่ผ่านมา บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์หลักขององค์กร 3 ด้าน ได้แก่

  1. Drive Value คือ การขับเคลื่อนการเติบโตในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการในประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
  2. Decarbonize การลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 และมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ
  3. Diversify คือการเติบโตในธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูง หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้ง เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) และธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับอนาคต เช่น ไฮโดรเจน

สำหรับการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ของ ปตท.สผ. เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาเมืองยั่งยืนนั้น บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ได้มีการพัฒนานวัตกรรม เช่น VARUNA Smart Forest Solution เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว

เมืองยั่งยืน

โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และโดรนมัลติสเปกตรัม เพื่อประมวลข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วย AI ในการบริหารจัดการ วางแผนและติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่พื้นที่และสิ่งแวดล้อม และสามารถคำนวณคาร์บอนเครดิตผ่านแพลตฟอร์มได้ในรูปแบบใหม่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ (Large Scale Carbon credit Solution)

สามารถช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนและเข้าถึงยาก

นอกจากนี้ ยังมี BEDROCK Smart City Data Platform ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลดิจิทัลที่รองรับการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ เอกชน และประชาชนในเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้วางแผนบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเมืองที่มีความซับซ้อนให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน และพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองให้กับท้องถิ่นไทยกว่า 100 แห่งแล้ว

รวมถึงระบบเพื่อการสนับสนุนการบริการประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เช่น ระบบการขออนุญาตก่อสร้าง ระบบเพื่อการจัดเก็บภาษี เป็นต้น นับเป็นการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาและดูแลท้องถิ่นไทย

DUCA ผู้ประสานความร่วมมือสร้างความยั่งยืน

สุภาวดี ตันติยานนท์ นายกสมาคมผู้ใช้ดิจิทัลไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายเมืองยั่งยืนร่วมกันอย่างบูรณาการ เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดเวทีการร่วมมือทำงานแบบ PPP สร้างกระบวนการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และเปิดโอกาสให้บริษัทนำเสนอเทคโนโลยี รวมถึง Case Study ที่สำคัญในการสร้างเมืองยั่งยืน”

“การพัฒนาเมืองยั่งยืนนั้น ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ดังนั้นเราต้องพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาดแล้วก็เรียนรู้จากคนที่ประสบความความสำเร็จแล้ว ซึ่งงานนี้เป็นเครือข่ายการการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วพัฒนาเพิ่มขึ้นไปอีก เพื่อเป้าหมายของประชาน และเมืองที่ยั่งยืน”

Featured Image: Image by jcomp on Freepik