
“AOC 1441 เตือนภัย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็นตำรวจ ลวงโอนเงินตรวจสอบบัญชี คดีฟอกเงิน รายงานอาชญากรรมออนไลน์เดือนมีนาคม สูญกว่า 40 ล้านบาท
วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 31 มีนาคม – 6 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 25,950,795 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา แจ้งว่าผู้เสียหายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฟอกเงินและคดียาเสพติด ซึ่งจะต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานสอบสวน และเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามกฎหมาย
พร้อมทั้งให้ดำเนินการโอนเงินในบัญชีธนาคารเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน ภายหลังการตรวจสอบความบริสุทธิ์เสร็จสิ้นแล้ว จะดำเนินการคืนเงินให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อให้ความร่วมมือโอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้และไม่ได้รับเงินคืน ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 6,721,681 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ แจ้งให้ผู้เสียหายรับเอกสารจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ที่ทำการไปรษณีย์
แนะนำให้ผู้เสียหายยืนยันการรับเอกสารโดยดำเนินการตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร เมื่อทำรายการเสร็จพบว่าเงินถูกโอนออกไปจากบัญชีจนหมด และไม่สามารถติดต่อกลับได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3,045,402 บาท โดยผู้เสียหายโพสต์ขายเสื้อผ้าผ่านช่องทาง Facebook มิจฉาชีพติดต่อเข้ามาแจ้งว่าสนใจจะขอซื้อสินค้า จากนั้นเพิ่มเพื่อนผ่าน Line ต่อมาได้ชักชวนให้ผู้เสียหายลงทะเบียนร้านค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย
ในช่วงแรกมีการซื้อสินค้าและได้รับเงินจริง มิจฉาชีพแจ้งให้โอนเงินเพื่อเปิดระบบ เปิดการมองเห็นร้านค้าและทำกิจกรรมให้เลือกสินค้า ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำการโอนเงินไป ภายหลังไม่สามารถถอนเงินออกได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 3,171,232 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาเทรดเหรียญดิจิทัล ลงทุนง่ายผลตอบแทนสูง ผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงสอบถามผ่าน Messenger Facebook จากนั้นเพิ่มเพื่อนผ่าน Line สอบถามพูดคุยรายละเอียดการเทรดเหรียญดิจิทัล มิจฉาชีพแจ้งว่าได้ผลตอบแทนสูง
ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินร่วมเทรดหุ้นเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังผู้เสียหายลงทุนโอนเงินเพื่อเทรดเหรียญดิจิทัลจำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถทำรายการถอนออกได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 1,470,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งว่าจะคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้ โดยให้เพิ่มเพื่อนผ่าน Line พร้อมทั้งส่ง QR Code ให้ผู้เสียหายสแกนเพื่อรับเงินคืน
หลังจากสแกนและทำตามขั้นตอนพบว่าเงินในบัญชีถูกโอนออกไป เมื่อสอบถามกลับไปได้รับการแจ้งว่าเกิดจากระบบผิดพลาดให้ทำรายการใหม่อีกครั้ง แล้วจะดำเนินการโอนเงินคืนให้ทั้งหมด ผู้เสียหายหลงเชื่อทำรายการซ้ำไปเรื่อยๆ จนเงินหมดบัญชี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 40,359,110 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 4 เมษายน 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,608,587 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,087 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 589,009 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,230 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่
- หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 186,735 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.70
- หลอกลวงหารายได้พิเศษ 139,986 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.77
- หลอกลวงลงทุน 87,004 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.77
- หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 66,662 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.32
- หลอกลวงให้กู้เงิน 42,496 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.21 และคดีอื่นๆ 66,126 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.23
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยข่มขู่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกลวงเหยื่อว่าเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และคดียาเสพติด โดยให้เหยื่อโอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชี กว่า 25 ล้านบาท”
“ทั้งนี้ขอย้ำว่า หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด”
“ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ และติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” โฆษกดีอี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ
โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ Anti Fakenews Center
Featured Image: rawpixel.com