“ลุมพินี วิสดอมฯ แนะ 3 นวัตกรรมทางเลือกป้องกันฝุ่น PM 2.5 ภายในที่อยู่อาศัย เพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตเพื่อสุขอนามัยที่ดีด้วยงบไม่เกินหลักหมื่นบาท
ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าววา ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทวีความรุนแรงขึ้น และกลายเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน
โดยจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม และเบาบางลงในช่วงเดือนเมษายน ของปี จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีการเจ็บป่วยที่สูงกว่าคนในวัยอื่นซึ่งเกิดจากการได้รับสัมผัสมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานาน ทำให้ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อนำมาใช้ในการ แก้ไขปัญหาฝุ่นโดยเฉพาะภายในที่อยู่อาศัย โดยสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงอาคารและที่อยู่อาศัยเดิม และสำหรับการก่อสร้างและการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่
“นวัตกรรมเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 ภายในอาคารและที่อยู่อาศัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ถึงแม้ต้นทุนในการพัฒนาจะสูงขึ้น แต่จากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของสภาพอากาศที่ปลอดฝุ่นภายใน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทุกคนต้องให้ความสำคัญ” ประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
จากแนวโน้มดังกล่าว “ลุมพินี วิสดอมฯ” ได้ศึกษา 3 นวัตกรรมเป็นทางเลือกที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเพิ่มคุณภาพอากาศที่ดีภายในที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย
สร้างพื้นที่สีเขียวภายในที่อยู่อาศัย (Passive Design)
ปัญหาฝุน PM2.5 เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก เป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรม การใช้เครื่องยนต์ในระบบฟอสซิล จึงเกิดนวัตกรรมการขจัดมลภาวะและ PM 2.5 เกิดขึ้นทั่วโลก นวัตกรรมที่น่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้ภายในที่อยู่อาศัยในประเทศไทยได้ในแบบที่เป็น Passive Design คือ London City Trees หรือ แผงกรองมลพิษด้วยต้นมอสจากอังกฤษ เทียบเท่าต้นไม้ 275 ต้น ระบบนี้เป็นการนำมอสสายพันธุ์ต่างๆ มาบรรจุอยู่ในหอคอยทรงสูง
ซึ่งมอสจะผลิตออกซิเจนและช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศได้เป็นอย่างดี ผลการศึกษา London City Trees พบว่ามีคุณสมบัติช่วยเก็บความชื้นและมีคุณสมบัติเทียบเท่าต้นไม้กว่า 275 ต้น โดยใน City Trees มีระบบจัดการน้ำที่มีศักยภาพทำให้สามารถทนได้ในทุกสภาพอากาศ และยังทำหน้าที่เก็บข้อมูลสภาพอากาศโดยรอบเพื่อนำไปวิเคราะห์และแก้ปัญหาสภาพอากาศได้อีกด้วย
ปัจจุบัน London City Trees ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟใต้ดิน Leytonstone ถนน High Road และถนน Crownfield ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ และสามารถปรับมาใช้ในที่พักอาศัยได้โดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อให้ช่วยในการดักจับฝุ่นละอองในอากาศ
จากรายงานเรื่อง Interior Landscape Plants for Indoor Air Pollution Abatement เป็นการศึกษาค้นคว้าขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา (NASA) ร่วมกับ Associated Landscape Contractors of America (ALCA) ได้ค้นพบว่า ไม้ประดับธรรมดาที่ปลูกในบ้านหรือที่ใช้ตกแต่งห้อง ต่าง ๆ ก็มีประสิทธิภาพในการดูดซับและกำจัดสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทิลีน เบนซิน และสารมลพิษอื่น ๆ ได้ และราคาไม่แพง เช่น เดหลี พลูด่าง กล้วยไม้ เยอบีร่า ว่านหางจระเข้ ลิ้นมังกร เป็นต้น
นวัตกรรมวัสดุดักจับและฟอกอากาศ(AIR ION)
ปัจจุบันผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างหลายๆ ค่ายมีการนำนวัตกรรมดักจับฝุ่นและฟอกอกาศ เข้าไปใส่ในวัสดก่อสร้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น การพัฒนานวัตกรรมกระเบื้องฟอกอากาศ (AIR ION) ที่สามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าฝุ่นจิ๋ว ตัวการสำคัญสามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 89% พร้อมเพิ่มมวลอากาศสดชื่นภายในบ้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กระเบื้องฟอกอากาศ คือ นวัตกรรมกระเบื้อง ที่ผสมจากแร่ธาตุธรรมชาติ Tourmaline บนผิวหน้ากระเบื้อง ปล่อยประจุไอออนลบในระดับ 3,000 ions/cm3 เพื่อเข้าดักจับฝุ่น โดยฝุ่นลดลงไปถึง 89% ภายในระยะเวลา 30 นาที โดยกระเบื้องดังกล่าว สามารถติดตั้งโดยปูได้ทั้งพื้นและกรุผนัง
แต่ถ้าให้ดีที่สุดควรติดตั้งบริเวณผนังเพื่อการดักจับฝุ่นที่ลอยในอากาศ ซึ่งอยู่ในระยะการหายใจของมนุษย์ และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการช่วยดักจับฝุ่น ควรติดตั้งประมาณ 40% ของพื้นที่ภายในห้อง ซึ่งเทียบเท่ากับ ผนัง 2 ด้าน หรือ พื้น+ผนัง 1 ด้าน จะช่วยลดฝุ่นภายในบ้านได้เยอะ แถมยังสามารถใช้งานได้ตลอดการติดตั้ง โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ยิ่งใครที่อยู่คอนโดฯ ก็ยังช่วยประหยัดพื้นที่มากขึ้น ไม่ต้องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องกรองอากาศให้เปลืองพื้นที่อีกด้วย
นวัตกรรมการฟอกอากาศ และ ระบบแรงดันบวก (Positive Air Pressure)
การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศัย และการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยโดยการนำระบบแรงดันบวก(Positive Air Pressure) เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง และ PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบันเครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อมีการติดตั้งระบบฟอกอากาศเข้าไปในระบบปรับอากาศด้วย ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน
นอกจากเครื่องฟอกอากาศแล้ว ปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมแรงดันบวก หรือ Positive Air Pressure เข้ามาติดตั้งในที่อยู่อาศัยทุกประเภท โดยหลักการของระบบดังกล่าวคือ ติดตั้งพัดลมอัดอากาศที่มี Filter กรองฝุ่นและเชื้อโรค โดยเจาะผนังอาคารเป็นช่องนำอากาศเข้า นอกจากกรองฝุ่นและเชื้อโรคแล้ว ยังเป็นการเติมก๊าซอ๊อกซิเจน (O2) เข้ามาภายในบ้านด้วย ฝุ่นและเชื้อโรคต่างๆรวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(Co2) ก็จะถูกผลักผ่านการรั่วซึมตามรอยต่อประตูหน้าต่างนั่นเอง
จากการตรวจสอบของ “ลุมพินี วิสดอมฯ” ตามรายงานของ Xiaomi ระบุว่าการติดตั้งระบบ Positive Air Pressure สำหรับห้องขนาด 50 ตารางเมตรอยู่ที่ ประมาณ 9,500 บาท และอยู่ที่ 11,000 บาท สำหรับพื้นที่ขนาด 80 ตารางเมตร
จากการศึกษาของ “ลุมพินี วิสดอม” พบว่าการปรับสภาพที่อยู่อาศัยเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดจากฝุ่น PM 2.5 มีตั้งแต่ค่าใช้จ่ายหลักร้อย ไปจนถึงหลักหมื่นต้นๆ ขึ้นอยู่กับการเลือกและขนาดของห้อง ถ้าเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ซึ่งเป็นผลจาก PM 2.5 แล้ว การลงทุนเพื่อปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดจากฝุ่น PM 2.5 ไม่แพงและคุ้มค่าสำหรับการลงทุนทั้งเพื่อการปรับปรุงที่อยู่อาศัย หรืออาคารที่ใช้งานเดิม และไม่ทำให้ต้นทุนในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสูงขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับคุณค่าด้านสุขอนามัยที่ส่งมอบให้กับลูกค้า
“ผมเชื่อว่าต่อไปการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มาพร้อมนวัตกรรมลดฝุ่น PM 2.5 จะกลายเป็นมาตรฐานสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกประเภท ที่ไม่ใช่อุปกรณ์เสริมอีกต่อไป” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว