Thursday, November 21, 2024
ArticlesDigital TransformationHealthTech

จาก ไลน์ แชท สู่ Telemedicine ทางเลือกช่วยหน่วยงานแพทย์ไทยในยามวิกฤต

เครื่องมือการสื่อสารในรูปแบบที่แสนธรรมดาอย่าง ไลน์ แชท ที่ประยุกต์ไปสู่ Telemedicine เพิ่มทางเลือกช่วยหน่วยงานแพทย์ไทยในยามวิกฤต สามารถคุยวิดีโอรายบุคคล สื่อสารเป็นกลุ่ม ทั้งตัวอักษรและประชุม

ารใช้มือถือหรือสมาร์ทโฟนเพื่อติดต่อพูดคุยกันไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนก็ใช้สื่อสารกันเป็นปกติผ่านโปรแกรม Chat อยู่แล้ว แต่สำหรับการแชทเพื่อพูดคุยหารือกับบุคลากรทางการแพทย์ นำไปสู่การให้คำปรึกษาและแนวทางการรักษาผู้ป่วยแบบทางไกล หรือที่เรียกว่า เทเลเมดิซีน (Telemedicine) นั้นกำลังจะเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่เริ่มใช้แพร่หลายอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงที่เราไม่ควรออกนอกบ้าน ลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อจากสถานที่ชุมชนต่างๆ

Telemedicine แท้จริงแล้วคืออะไร?

เทเลเมดิซีน เป็นคำที่วงการแพทย์คงได้ยินมานาน เพราะมันคือการปรับใช้เทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสารให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านแชต ผ่านระบบ VDO conference ที่สามารถมองเห็นหน้าหรือสนทนาได้โดยตรง ไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ง่าย สะดวกสบาย แต่ยังคงได้รับบริการเหมือนกับที่โรงพยาบาล ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน หลายสถานพยาบาลในไประเทศไทยได้พัฒนาระบบเทเลเมดิซีน มาให้บริการมากขึ้น

คำถามที่ตามมาคือ “แล้วจะใช้เครื่องมือเทเลเมดิซีนนี้อย่างไร” “ต้องโหลดโปรแกรมอะไร ต้องเสียเงินเพิ่มหรือเปล่า” “การใช้งานจะยุ่งยากไหม” ซึ่งคำตอบนั้นฟังแล้วอาจจะประหลาดใจ เพราะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมให้ยุ่งยาก เทเลเมดิซีนอยู่ในมือของทุกคนแล้ว ถ้าทุกคนใช้ LINE ก็สามารถใช้เทเลเมดิซีนได้เลย

ฟีเจอร์ LINE เบื้องต้นก็นำมาใช้ทำ Telemedicine ได้

แล้วผู้ให้บริการจะใช้ LINE เป็นเครื่องมือสื่อสารรักษาผู้ป่วยแบบทางไกลได้อย่างไร หากมีข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรด้านไอที งบประมาณและเวลาท่ามกลางสถานการณ์เร่งด่วนเช่นนี้?… คำตอบคือสามารถทำได้โดยการใช้ฟีเจอร์ใน LINE Chat เบื้องต้นง่ายๆ ที่ออกแบบมาเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ เพียงเปลี่ยนสถานะของผู้ใช้มาเป็น “คนไข้” กับ “คุณหมอ” เท่านั้น

LINE VDO Call: ที่สามารถทำได้ทั้งในห้องแชต 1:1 หรือในกรุ๊ปแชต เพียงกดไอคอนรูปโทรศัพท์ตรงมุมขวาในห้องแชต รออีกฝ่ายกดรับสายก็สามารถพูดคุยแบบเห็นหน้ากันได้แล้ว อีกทั้งคุณหมอยังสามารถแชร์หน้าจอผลการรักษาหรือผลการตรวจต่างๆ ให้คนไข้ได้เลย ขณะเดียวกันคนไข้เองก็สามารถโชว์อาการบาดเจ็บหรืออาการป่วยให้คุณหมอเห็นได้ทันทีด้วยเช่นกัน

LINE Meeting: ในกรณีที่คุณหมอไม่ได้เป็นเพื่อนกับคนไข้ใน LINE หรือไม่อยากสร้างกรุ๊ปใน LINE เพิ่มขึ้นมาใหม่ การใช้ LINE Meeting สร้างลิงก์สำหรับพูดคุย ประชุมออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกได้เช่นกัน โดยเหมาะสำหรับการพูดคุย ปรึกษาคนไข้กลุ่มใหญ่ที่ทุกคนอาจจะไม่ได้เป็นเพื่อนกันใน LINE สมาชิกสามารถนำลิงก์ไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมได้ทันที ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมได้โดยง่าย ได้รับข้อมูลตรงกัน โดยรองรับการประชุมร่วมกันได้มากสุดถึง 500 คน

LINE OpenChat: คอมมิวนิตี้แหล่งใหญ่ที่สามารถสร้างห้องสนทนาย่อยตามหัวข้อที่แตกออกไปได้ เหมาะสำหรับเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือคนไข้ในรูปแบบข้อแนะนำ คำตอบสั้นๆ จากคุณหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นต้องวิดีโอคอล โดยหน่วยงานสามารถมอบหมายให้บุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่แอดมินกรุ๊ป คอยตอบปัญหาสุขภาพ ปัญหาพื้นฐานที่คนมักถามได้อย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างฉับไว รวดเร็ว

ฟีเจอร์เหล่านี้อาจเป็นแค่ตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ทุกคนสามารถเข้าถึง Telemedicine ได้โดยง่าย เพียงรู้จักปรับใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ใน LINE มาเป็นช่องทางการให้บริการที่สะดวกและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายในช่วงเวลาวิกฤต โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำระบบให้ซับซ้อน

ฟีเจอร์ LINE สำหรับ Telemedicine

ใช้ LINE OA ต่อยอด อำนวยความสะดวกคนไทยเข้าถึง เทเลเมดิซีน

แต่สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานการแพทย์ที่มีการใช้ LINE Official Account (LINE OA) อยู่แล้ว ฟีเจอร์พื้นฐานของ LINE OA ก็สามารถช่วยยกระดับการให้บริการ Telemedicine ให้เข้าถึงสะดวกและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น ฟีเจอร์ริชเมนู (Rich Menu) เมนูหลักที่ปรากฏด้านล่างของห้องแชตใน LINE OA ที่แอดมินสามารถออกแบบให้แต่ละช่องลิงก์ไปสู่หน้าปลายทางใดๆ ก็ได้ตามต้องการ

หลายหน่วยงานพยาบาลใช้ Rich Menu นี้เป็นช่องทางลัดให้คนไข้เข้าถึงบริการแบบทันใจ ไม่ว่าจะเป็นการจองคิวนัดหมาย ติดตามข้อมูลสุขภาพหรือประวัติการรักษาของตนได้เอง รวมถึงเป็นช่องทางลัดให้คนไข้สามารถติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานได้โดยตรง

ยกตัวอย่างเช่น LINE OA @Ramacovid ที่ใช้ฟีเจอร์ Rich Menu เป็นช่องทางให้คนไข้เลือกเข้าถึงบริการต่างๆ ของโรงพยาบาลได้เองแบบทันใจ โดยเลือกคลิกในสิ่งที่พวกเขาอยากรู้และต้องการคำตอบได้เอง ตัดปัญหาการใช้เวลาและแรงงานในการพูดคุยเบื้องต้นไปด้วยในตัว

เช่น ข้อมูลวัคซีน เช็คสถานที่รับตรวจ และสามารถติดต่อขอปรึกษาพยาบาลแบบส่วนตัวผ่าน LIVE Chat ได้ ถือเป็นตัวอย่างการใช้ฟีเจอร์ใน LINE OA มาอำนวยความสะดวกให้คนไข้อย่างครบถ้วนโดยไม่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลโดยไม่จำเป็น

หรืออีกหนึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่าง ศิริราชพยาบาล ที่ได้พัฒนาทำ_Telemedicine ผ่าน LINE OA @SIRIRAJConnect ที่นอกจากจะใช้เครื่องมือแชทในการการบรอดแคสต์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ประจำวันทางการแพทย์แล้ว

ยังใช้ฟีเจอร์ Rich Menu เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล เพื่อเป็นช่องทางลัดในการเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลเบื้องต้น เช่น ลงทะเบียนทำนัดหมายพบแพทย์ ตรวจสอบสิทธิ์ในการรักษา แสดงตารางวันนัดพบแพทย์ รวมถึงให้บริการพบแพทย์ออนไลน์บน LINE OA ด้วย

การใช้ฟีเจอร์ Rich Menu ใน LINE OA สำหรับ Telamedicine

นอกจากนี้ หลากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ COVID-19 ยังได้ใช้แชทมาเป็นช่องทางให้บริการประชาชนในช่วงวิกฤต โดยไม่ต้องเดินทางและยังช่วยแบ่งเบาภาระของสายด่วนต่างๆ ที่ต้องทำงานหนัก เช่น การใช้ @sabaideebot ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในเขตกทม.และปริมณฑล เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลงทะเบียนหาเตียงโดยมีทีมติดตามให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น

ต้องบอกว่าในช่วงเวลาอันแสนวุ่นวายนี้ มองทางไหนก็ดูยากลำบากไปหมด โดยเฉพาะสำหรับหน่วยงานการแพทย์ทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้บริการทางการแพทย์ต่างๆ ยังคงเดินหน้าให้บริการประชาชนได้อย่างว่องไวในช่วงวิกฤตนี้ โดย LINE พร้อมเป็นอีกหนึ่งกำลังใจและเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานให้หน่วยงานการแพทย์ทั่วไทยนำไปประยุกต์ใช้ สู่การให้บริการ ‘เทเลเมดิซีน’ เพื่อช่วยเหลือคนไทยได้อย่างทันท่วงที