“จ๊อบส์ ดีบี เปิดรายงานเงินเดือนปี 64 พบงานไอที-ดิจิทัล มาแรง คว้าท็อป 3 ค่าตัวแพง แบงก์กิ้ง-เทเลคอม กลับมาคึกคัก พร้อมเผย 10 สายงานที่ตลาดต้องการ
จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) แพลตฟอร์มหางาน เผย รายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2564 Salary Report 2021 ข้อมูลฐานเงินเดือนต่ำสุด-สูงสุดแบ่งตามประเภทงาน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ถึงระดับผู้บริหาร
พบว่า ในปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ผนวกกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ส่งผลเป็นวงกว้างทำให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ต้องหันมาประยุกต์และปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
อีกทั้งเติบโตไปพร้อมกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อขับเคลื่อน ผลักดันให้ธุรกิจก้าวทันโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จึงเป็นเหตุให้ความต้องการในตลาดแรงงานส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการจ่ายผลตอบแทนเพื่อดึงดูดคนทำงานเพิ่มมากขึ้นในสายเฉพาะทาง
โดยรายงานอัตราเงินเดือน พบว่า ระดับเจ้าหน้าที่ (Officer Level) สายงานที่มีฐานเงินเดือนสูงสุดได้แก่ 1) สายงานไอที 2) สายงานบริการเฉพาะทาง 3) สายงานโทรคมนาคม ในขณะที่ ระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level) 1) สายงานอีคอมเมิร์ซ 2) สายงานโทรคมนาคม 3) สายงานไอที
นอกจากนี้ยังมีรายงาน ระดับผู้จัดการ (Manager Level) ที่ 3 อันดับแรก คือ 1) สายงานประกันภัย 2) สายงานไอที 3) สายงานธนาคาร และ ระดับผู้บริหาร (Top Level) ที่ 3 อันดับแรก ประกอบด้วย 1) สายงานบริการเฉพาะทาง 2) สายงานอีคอมเมิร์ซ 3) สายงานธนาคาร
และ ยังได้เปิดเผยความต้องการแรงงานปี 63 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการกลับมาของหลายภาคธุรกิจในปีนี้ โดยพบว่าสายงานไอที ที่มียอดตำแหน่งงานเปิดรับสูงสุดอันดับหนึ่ง
พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จ๊อบส์ ดีบี ได้จัดทำรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2564 Salary Report 2021 ใน 4 ระดับตำแหน่งงาน ประกอบด้วย
ระดับเจ้าหน้าที่ (Officer Level) ระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level) ระดับผู้จัดการ (Manager Level) ระดับผู้บริหาร (Top Level) โดยพบข้อมูลฐานเงินเดือนต่ำที่สุด-สูงที่สุด แบ่งตามประเภทงาน ดังต่อไปนี้
ระดับผู้จัดการ (Manager Level)
1) สายงานประกันภัย มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 55,762 ถึง 90,716 บาท 2) สายงานไอที ระหว่าง 54,435 ถึง 93,324 บาท 3) สายงานธนาคาร ระหว่าง 52,993 ถึง 94,481 บาท 4) สายงานโทรคมนาคม ระหว่าง 52,353 ถึง 94,607 บาท 5) สายงานบริการเฉพาะทาง ระหว่าง 52,274 ถึง 90,941 บาท
6) สายงานบัญชี ระหว่าง 52,061 ถึง 86,158 บาท 7) สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล ระหว่าง 51,803 ถึง 85,079 บาท 8) สายงานวิทยาศาสตร์และงานวิจัยพัฒนา ระหว่าง 51,615 ถึง 88,427 บาท 9) สายงานขนส่ง ระหว่าง 51,302 ถึง 80,680 บาท และ 10) สายงานวิศวกรรม ระหว่าง 51,237 ถึง 84,776 บาท
ระดับผู้บริหาร (Top Level)
1) สายงานบริการเฉพาะทาง มียอดเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดระหว่าง 113,563 ถึง 164,071 บาท 2) สายงานอีคอมเมิร์ซ ระหว่าง 113,271 ถึง 161,588 บาท 3) สายงานธนาคาร ระหว่าง 112,917 ถึง 165,114 บาท 4) สายงานวิทยาศาสตร์และงานวิจัยพัฒนา ระหว่าง 109,726 ถึง 160,753 บาท 5) สายงานการผลิต ระหว่าง 109,566 ถึง 161,045 บาท
6) สายงานบริการด้านการแพทย์ ระหว่าง 106,630 ถึง 158,478 บาท 7) สายงานไอที ระหว่าง 105,135 ถึง 160,033 บาท 8) สายงานบัญชี ระหว่าง 104,978 ถึง 159,970 บาท 9) สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล ระหว่าง 104,714 ถึง 156,134 บาท และ 10) สายงานวิศวกรรม ระหว่าง 102,298 ถึง 153,763 บาท
จากรายงานอัตราเงินเดือนข้างต้น พบว่า กลุ่มงานสายงานไอที-ดิจิทัล ทุกระดับงานไต่อันดับขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจประจำปี 62 โดยเฉพาะในระดับเจ้าหน้าที่ (Officer Level) ที่ขึ้นแท่นอันดับ 1 จากอันดับ 3 อีกทั้งระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level) และระดับผู้บริหาร (Top Level) ที่ติดโผสายงานหน้าใหม่ที่มีเงินเดือนสูง จากที่เคยอยู่ในอันดับ 13 และ 12 ตามลำดับ ในเวลาเพียงสองปี ตอกย้ำให้เห็นถึงความต้องการในการปฏิรูปที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption)
นอกจากนี้ยังมีอีกสองสายงานที่น่าจับตามอง ได้แก่ สายงานโทรคมนาคม ที่ขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 5 ในระดับเจ้าหน้าที่ (Officer Level) ระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level) และ ระดับผู้จัดการ (Manager Level) สายงานธนาคาร ที่ปรับขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ของรายงานในทุกระดับตำแหน่งงาน สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของทั้งสองสายงานหลังการปฏิรูปที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption)
เห็นได้จาก ธนาคารต่างๆ ที่หันมาให้ความสำคัญกับ Digital Banking จนมียอดธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และปรับรูปแบบการให้บริการของธนาคารสู่ดิจิทัลเต็มตัว เป็นเหตุให้สายงานธนาคาร มีความต้องการใช้บุคคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านไอที การวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างบริการใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาระบบ Digital Banking
และ สายงานโทรคมนาคม ที่พบว่า ไม่ได้มีเพียงแค่องค์กรยักษ์ใหญ่ในสายงานเท่านั้นที่มีสถิติฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่ยังรวมถึง องค์กรขนาดกลางและเล็กที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น และมองหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีมาช่วยพัฒนารากฐานระบบต่างๆ ขององค์กรเพื่อให้พร้อมต่อการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในภาคเศรษฐกิจ
ประกอบกับ สถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน ที่สร้างปรากฏการณ์นิวนอร์มอล (New Normal) ทำให้หลายองค์กรต้องหันมาปรับตัวพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ จ๊อบส์ ดีบี ยังได้เผยถึงความต้องการแรงงานประจำปี 2563 ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการกลับมาของหลายภาคธุรกิจในปีนี้ พบ 10 อันดับสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด โดยพบว่า สายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอันดับหนึ่ง ได้แก่
1) สายงานไอที คิดเป็น 19% 2) สายงานการขาย งานบริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 17% 3) สายงานวิศวกรรม คิดเป็น 10% 4) สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 8% 5) สายงานบัญชี คิดเป็น 7% 6) สายงานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล คิดเป็น 7% 7) สายงานธนาคาร คิดเป็น 5% 8) สายงานการผลิต คิดเป็น 3% 9) สายงานขนส่ง คิดเป็น 3% 10) สายงานบริการเฉพาะทาง คิดเป็น 2%
ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นในสายงานเหล่านั้น และเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัลที่สายงานไอที-ดิจิทัล กำลังได้รับความนิยม จ๊อบส์ ดีบี ยังได้มีการแนะถึง 3 ทักษะใหม่ที่คนทำงานต้องมีในยุคนิวนอร์มอล ได้แก่ ทักษะความรู้ด้านไอที ความสามารถในการสื่อสาร และความสามารถในการรู้จักและเข้าใจตัวเอง พรลัดดา กล่าวทิ้งท้าย