การตั้งภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ (Job Title Inflation) กลยุทธ์ที่ต้องได้รับการทบทวนก่อนจ้างงาน
“กลยุทธ์ การตั้งตำแหน่งงานให้สูงเกินจริง หรือการตั้งภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ (Job Title Inflation) กำลังทำให้เกิดปัญหาต่อผู้หางาน และองค์กร ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว ควรได้รับการทบทวนอย่างรอบคอบหากนำมาใช้ในการจ้างงาน
ในช่วงปีที่ผ่านมา ชื่อตำแหน่งงานในตลาดแรงงานไทยมีความเฟ้อขึ้นอย่างมาก โดยตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย ผู้อำนวยการ เพิ่มขึ้นถึง 24% และตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย หัวหน้าแผนก ที่มีประสบการณ์เพียง 2 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึง 16% ซึ่งชื่อตำแหน่งงานที่สูงเกินจริงเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยดึงดูดผู้สมัครในตลาดและช่วยรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท
กลยุทธ์เหล่านี้ควรได้รับการทบทวนอย่างรอบคอบหากนำมาใช้ในการจ้างงาน เนื่องจากอาจสร้างปัญหาให้กับทั้งบริษัทและพนักงานในภายหลังได้ สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในข้อสังเกตและข้อมูลเชิงลึกจากโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย เกี่ยวกับแนวโน้มภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ
โดย ภาวะตำแหน่งงานเฟ้อ (Job Title Inflation) หมายถึง แนวทางปฏิบัติของบริษัทต่างๆ ในการนำเสนอตำแหน่งงานที่สูงเกินจริง ซึ่งอาจไม่สะท้อนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบจริง ความอาวุโส หรือแม้แต่อัตราเงินเดือนที่แท้จริงของตำแหน่ง
การใช้ชื่อตำแหน่งงานที่สูงเกินจริงเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงาน
ชื่อตำแหน่งงานและการเลื่อนตำแหน่ง เป็นสิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญ จากผลสํารวจความคิดเห็นทาง LinkedIn ที่จัดทำโดยโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย ในเดือนมกราคม 86% ของพนักงานยอมรับว่า ตำแหน่งงานมีความสำคัญมากต่อการสมัครงาน และในบรรดาพนักงานรุ่นใหม่ 36% คาดหวังว่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งภายใน 18 เดือนหลังจากทำงานในบริษัท
เกือบครึ่งหนึ่ง (50%) ของบริษัทที่ทำการสํารวจได้ใช้กลยุทธ์ในการตั้งชื่อตำแหน่งสูงๆ เพื่อดึงดูดผู้สมัครงานซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี แต่มีเพียง 6% เท่านั้นที่ได้ใช้แนวทางที่คล้ายกันโดยไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม 40% ของบริษัทที่ทำแบบสํารวจยังไม่เคยใช้แนวทางนี้
การใช้ชื่อตำแหน่งงานที่สูงเกินจริงเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนถึงความอาวุโสในมุมมองของพนักงาน หากแต่เป็นบทบาทที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารทีม (56%) และความสำคัญในหน้าที่ (39%) ต่างหาก ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงความอาวุโส
ในทางตรงกันข้าม มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ (6%) เท่านั้นที่คิดว่าตำแหน่ง C-Suite หรือขึ้นต้นด้วยคำว่า Head-of ที่บ่งบอกถึงความอาวุโสอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า การได้รับชื่อตำแหน่งงานที่สูงเกินจริงอาจเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่การเป็นผู้นําทีมและความสำคัญของบทบาทนั้นมีน้ำหนักในการกำหนดความอาวุโสมากกว่าตำแหน่ง
ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การตั้งชื่อตำแหน่งงานที่สูงมีประโยชน์ในการช่วยดึงดูดผู้สมัครที่กำลังมองหาความก้าวหน้าทางอาชีพ แนวทางดังกล่าวช่วยสร้างเส้นทางการเติบโตในบริษัทที่มากขึ้น ส่งเสริมต่อการเลื่อนตำแหน่งและส่งผลต่อการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท”
“อย่างไรก็ตาม หากพนักงานได้รับตำแหน่งงานที่สูงเกินจริงโดยไม่ได้ทำงานที่สอดคล้องกับชื่อตำแหน่งอย่างแท้จริง และภายหลังได้ไปทำงานที่บริษัทอื่นที่ต้องการความรับผิดชอบที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่สูงเกินจริงนี้ อาจทำให้เกิดความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน และบั่นทอนความมั่นใจของพวกเขาด้วย”
นัฐติยา ซอล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ทรัพยากรบุคคล ซัพพลายเชนและวิศวกรรม และฝ่ายอีสเทิร์น ซีบอร์ด บริษัทโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
“การนําตำแหน่งงานที่สูงเกินจริงมาใช้ทำให้พนักงานเกิดความสับสนในการทำความเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบของตนเอง และยังสร้างความไม่พอใจให้กับพนักงาน เนื่องจากถูกมองว่าความรับผิดชอบที่แท้จริงไม่ตรงกับความอาวุโสของตำแหน่ง”
นัฐติยา อธิบายอย่างละเอียดว่า “แนวทางนี้อาจสร้างความลำบากในการวางแผนความก้าวหน้าในอาชีพพนักงาน เนื่องจากต้องอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับทักษะและประสบการณ์ที่จําเป็นในตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ตำแหน่งงานที่เฟ้อเกินจริงอาจส่งผลเสียต่อการระบุและระบบบริหารจัดการผู้สืบทอดตำแหน่ง นอกจากนี้ หากผู้สมัครพบว่าตำแหน่งงานและความรับผิดชอบจริงไม่ตรงกัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทได้เช่นกัน”
โรเบิร์ต วอลเตอร์ส แนะนําให้ ผู้จัดการฝ่ายการจ้างงานประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใช้กลยุทธ์การตั้งชื่อตำแหน่งงานที่สูงเกินจริง แม้ว่าในบางสถานการณ์อาจมีความจำเป็น แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียอย่างละเอียดและทำความเข้าใจผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท
ปุณยนุช สรุปทิ้งท้ายว่า “การกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับชื่อตำแหน่งงานที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
Featured Image: Image by rawpixel.com on Freepik