Thursday, November 21, 2024
NEWS

ILINK ตั้งเป้ารายได้ปี 2024 เท่ากับ 7,002 ล้านบาท

เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน ILINK ตั้งเป้ารายได้ปี 2024 เท่ากับ 7,002 ล้านบาท และต้องมีอัตรากำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 9% ของรายได้ประกาศปันผล 39 สตางค์ต่อหุ้น ราคาพาร์ 1 บาท กำหนดจ่ายปันผล 23 พฤษภาคมนี้

ILINK ก่อตั้งบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 1987 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ โดยได้สร้างปรากฎการณ์ด้วยการไปนำเทคโนโลยีสายสัญญาณ LAN (Local Area Network) เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นรายแรก และนำมาสร้างเป็นธุรกิจเริ่มต้น

ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution) โดยการเติบโตต่อมาของกลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ก็ยังคงมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ด้วยความเชื่อว่า เทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเป็นปัจจัยที่สำคัญให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจและการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติ

ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก และ 1 มูลนิธิฯ ดังต่อไปนี้
  1. ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution Business)
  2. ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business)
  3. ธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom Business & Data Center Business)
  4. มูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจ (Interlink Hai Jai Foundation)

ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ เป็นธุรกิจเริ่มต้น และยังคงเป็นธุรกิจหลักที่แข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานทั้งรายได้ และกำไร ที่เติบโตต่อเนื่องมาตลอดเป็นระยะเวลากว่า 37 ปี มีการดำเนินธุรกิจ โดย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทตั้งต้นของ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ และในปัจจุบันถูกจัดเป็น ผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบสายสัญญาณ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลัก

ได้แก่ สายสัญญาณ LAN (Local Area Network Cable), สายสัญญาณใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable), สายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cable), สายสัญญาณความปลอดภัย (Security Control) และสายระบบควบคุมอัจฉริยะ (Control Cable) รวมทั้งตู้ 19 นิ้ว ใส่อุปกรณ์สื่อสาร (19″Rack Cabinets) เป็นต้น

ปี 2024 ธุรกิจจัดจำหน่ายได้ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยให้โลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น (Technology Transformation) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในตระกูล Super-S Series ที่มีความเพียบพร้อมทั้งความเป็น SMART ใช้งานได้หลากหลาย SMALL ทำให้มีขนาดกะทัดรัดติดตั้งง่าย ลดต้นทุนสายสัญญาณ และ SAVE

ซึ่งช่วยให้ประหยัดทั้งค่าติดตั้ง และค่าวัสดุในการติดตั้งโดยคาดว่า ผลิตภัณฑ์ในตระกูล Super-S Series จะได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดเอเซีย และจะสามารถรองรับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี ข้างหน้า ซึ่งผลิตภัณฑ์สายสัญญาณของ LINK AMERICAN มีการรับประกันยาวนาน 30 ปี

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศอาเซียน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ LINK ที่ถือกำเนิดขึ้นสหรัฐอเมริกา หรือ เรียกว่า LINK AMERICAN และผลิตภัณฑ์ 19″GERMANY EXPORT RACK หรือ เรียกว่า GERMAN RACK โดยสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไม่น้อยกว่า 80% ในปัจจุบัน

ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ ดำเนินงานโดย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยเน้นงานประมูลโครงการภาครัฐที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่บริษัทฯ หรือ กลุ่มบริษัทฯ มีประสบการณ์ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ โครงการสายเคเบิ้ลไฟฟ้าแรงสูงใต้น้ำ (High Voltage Submarine Cable),

โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (High Voltage Transmission Line), โครงการสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน (High Voltage Under Ground Cable), โครงการสถานีไฟฟ้าย่อยแรงสูง (High Voltage Substation) ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีผลงานที่ได้รับการรับรองจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT), การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เป็นต้น

โดยที่ประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาธารณูปโภคพลังงานไฟฟ้าทำให้หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ PEA, MEA, EGAT ต้องออกมาประกวดราคาโครงการด้านระบบไฟฟ้าต่าง ๆ  และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จึงเป็นโอกาสให้ IPOWER ที่มีประสบการณ์ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ สามารถเข้าไปประกวดราคา และได้รับการประกาศให้เป็นผู้ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ได้ต่อเนื่องตลอดไป

ธุรกิจคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ จากจุดเริ่มต้นที่กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telecom Operator) และมีผลงานการติดตั้งโครงข่าย Fiber Optic ให้กับหน่วยงานภาครัฐมากมาย จึงได้นำจุดแข็ง (Strength) ทั้งสอง และเพิ่มด้วยสัมปทานการวางสาย Fiber บนเส้นรถไฟ และถนนทั่วไป

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ITEL) ได้นำจุดแข็งทุกอย่างมาก่อสร้างโครงข่าย Interlink Fiber Optic เพื่อให้บริการวงจรเช่าความเร็วสูงแก่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั่วไปที่ต้องการเชื่อมต่อข้อมูลการสื่อสารจากทุก ๆ สาขาเข้าด้วยกัน (Data Connectivity)

โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบมีโครงข่ายของตัวเอง จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และได้วางโครงข่าย Interlink Fiber Optic ไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย พร้อมให้บริการมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว

อีกทั้งยังได้ลงทุนก่อสร้าง “ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ Interlink Data Center ณ ศูนย์ Interlink R&D เพื่อให้บริการพื้นที่เช่า สำหรับ Data Center ของหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน และ Cloud Web Service ให้หน่วยงานขนาดใหญ่ในต่างประเทศ และภายในประเทศ รวมทั้งภาครัฐด้วย

ซึ่งในเวลาต่อมายังได้ร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้านดาต้า เซ็นเตอร์ ของประเทศออสเตรเลีย ก่อสร้างศูนย์ดาต้า เซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่ในชื่อ Etix Itel Bangkok Data Center เพื่อรองรับความต้องการระบบ Web Service ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศกำลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ตามนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐาในปัจจุบันอีกด้วย

จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมา ITEL ยังสามารถใช้ประโยชน์จากทีมวิศวกรติดตั้ง และซ่อมบำรุงทั่วประเทศ ในการไปเข้าร่วมประมูลโครงการรับเหมาติดตั้ง และดูแลบำรุงรักษาโครงข่าย Fiber Optic ให้กับภาครัฐและให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งนำโครงข่าย Interlink Fiber Optic ไปก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมากมายในโครงการต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เน็ตชายขอบ, อินเทอร์เน็ตทางไกล, โครงการเมืองอัจฉริยะต่าง ๆ เป็นต้น

โดยในวันที่ 24 เม.ย.67 ที่ผ่านมา  บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดการประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้น (AGM) ประจำปี 2567 ในรูปแบบไฮบริด (Hybrid Meeting) ณ อาคารอินเตอร์ลิ้งค์ (สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก) โดยมี กรรมการบริษัทฯ กรรมการอิสระ กรรมการบริหาร อาสาพิทักษ์สิทธิ์ ตัวแทนผู้สอบบัญชี และผู้ถือหุ้น เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ปีงบประมาณ 2566 เผยถึงแผนการขับเคลื่อนธุรกิจ และทิศทางการเติบโตในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ “เติบโต อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน แบบมีคุณภาพ” ให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณารับทราบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น

รวมถึงนำเสนอวาระสำคัญ เพื่อการพิจารณาอนุมัติของผู้ถือหุ้น ได้แก่ การอนุมัติงบการเงินการจ่ายเงินปันผลประจำปี การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การแต่งตั้งกรรมการใหม่ เป็นต้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ถือหุ้นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

 สำหรับผลการดำเนินงาน และผลประกอบการ จากภาพรวมทั้ง 3 ธุรกิจ (ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ และธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์) ตลอดทั้งปี 2566 ที่ผ่านมา ทำรายได้พลิกบวก 4 ไตรมาสรวม 6,965.19 ล้านบาท ขานรับทำกำไรสำหรับงวดโดดเด่น อยู่ที่ 712.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170.24 ล้านบาท พุ่งแรง 31.41% ซึ่งรายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณมีรายได้รวม 2,881.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 366.27 ล้านบาท หรือ 14.56%

โดยทำกำไรสุทธิรวม 309.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.76 ล้านบาท หรือ 51.82% เมื่อเทียบกับปี 65 และธุรกิจวิศวกรรมโครงการเป็นรายได้จากบริษัทย่อย IPOWER ทำรายได้ก้าวกระโดดจากธุรกิจรวม 1,329.18 ล้านบาท เติบโต 178.96 ล้านบาท หรือ 15.56% และทำกำไรสุทธิรวม 106.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.96 ล้านบาท หรือ 70.45%

ในขณะที่มีรายได้จากธุรกิจโทรคมนาคม 4 ไตรมาสรวม 2,754.94 ล้านบาท มีกำไรสุทธิรวม 295.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.75 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 6% โดยในอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 10.74% ของรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32% ถึงแม้จะทำรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 65 นั้น แต่ในทางกลับกัน บริษัทย่อย ITEL กลับสามารถเพิ่มอัตราทำกำไรสุทธิเทียบกับยอดขายได้เพิ่มขึ้น

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตแบบมีคุณภาพได้เป็นอย่างดี ย้ำให้เห็นภาพชัดแล้วว่าทุกธุรกิจในเครือสามารถขับเคลื่อนดำเนินงานให้เป็นไปตามแบบแผน และประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ทำกำไรแตะจุดสูงสุดได้เป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.39 บาท จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งสิ้น 543,632,325 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 1 บาท เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้น 212.02 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และกำหนดวันจ่ายปันผลในวันที่  23 พฤษภาคม 2567 นี้