“หัวเว่ย จับมือ สกมช. เร่งเสริมบทบาทสตรีด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมปลูกฝังทักษะเพื่อสร้างแรงงานด้านไซเบอร์ที่แข็งแกร่งและมีความหลากหลาย
ภูมิทัศน์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในทุกมิติ ในปัจจุบัน หลายองค์กรได้บูรณาการความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายความว่าหลายภาคอุตสาหกรรมจะต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเติมเต็มความต้องการที่กำลังเติบโตในสายงานด้านนี้
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังขาดแคลนความแตกต่างหลากหลายของผู้มีความรู้ความสามารถ ความไม่สมดุลของจำนวนเพศชายและหญิงยังคงปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนในสายงานด้านนี้ โดยพบว่า ในปี 2565 มีผู้หญิงจำนวนคิดเป็นสัดส่วนแค่ 25%[1] ที่ทำงานในด้านนี้ ทั้งนี้ ในยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ต่างพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถเพื่อให้รองรับกับความท้าทายที่เกิดจากอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบัน
หนึ่งในความพยายามดังกล่าวคือความร่วมมือระหว่างหัวเว่ย และ สกมช. ในการจัดการแข่งขัน ‘Women Thailand Cyber Top Talent 2023’ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความรู้ความสามารถให้แก่แรงงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างภูมิทัศน์ดิจิทัลที่แข็งแกร่งและสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้กล่าวถึงโครงการจัดการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ในประเทศไทยมีจำนวนผู้หญิงที่ทํางานในสายไซเบอร์ซีเคียวริตี้คิดเป็น 3% ของแรงงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 10% เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับหัวเว่ยในการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์หญิงในประเทศและส่งเสริมความหลากหลายทางเพศให้กับอุตสาหกรรมไอทีด้วยการจัดการแข่งขัน ‘Women Thailand Cyber Top Talent 2023’
ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนรู้ เพิ่มทักษะ และพัฒนาประสบการณ์ ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ หัวเว่ย และ สกมช. ไม่เพียงแต่มองเห็นการเสริมศักยภาพของผู้หญิงในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เท่านั้น แต่ทั้งสององค์กรมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตซึ่งให้ความสำคัญกับความหลากหลายซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของนวัตกรรมและความเป็นเลิศในโลกดิจิทัลที่พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว”
การแข่งขัน ‘Women Thailand Cyber Top Talent 2023’ ประกอบไปด้วยการแข่งขันในรอบคัดเลือกผ่านระบบออนไลน์ มีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 218 ทีมจากสามระดับ ได้แก่ ระดับนักเรียน (Junior) ระดับนักศึกษา (Senior) และระดับประชาชนทั่วไป (Open) รวมผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ระดับ กว่า 407 คน และมีการจัดการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศแบบออนไซต์ เพื่อเฟ้นหาทีมชนะเลิศในแต่ละระดับจากทีมที่ได้รับคัดเลือกจํานวน 30 ทีม
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้าน ICT ให้แก่ผู้หญิงและผู้มีเพศสภาพหญิง ซึ่งจะปูทางไปสู่การสร้างผู้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ การแข่งขันยังเป็นการยกระดับความรู้ ทักษะ ให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ และยังช่วยให้ประเทศไทยมีแรงงานความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอกับความต้องการในปัจจุบันและในอนาคต
พิมพ์ชนก อุตตะมี ตัวแทนผู้ชนะจากทีม ‘NR01’ ในระดับนักเรียน (Junior) กล่าวว่า “การได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน ‘Women Thailand Cyber Top Talent 2023’ ถือเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเข้าร่วมการแข่งขันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นครั้งแรก ประสบการณ์ที่ได้รับค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่ซึ่งช่วยเปิดโอกาสอันมากมายให้ได้เรียนรู้และแสดงความสามารถ และทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น
ในฐานะผู้หญิงยุคใหม่ซึ่งมีความสนใจในสายงานด้านนี้ บทบาทสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ การเผยแพร่ความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่ผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ และเราทุกคนล้วนแล้วแต่สามารถส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกของเยาวชนไทยในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติหรือการรู้เท่าทันถึงภัยคุกคามไซเบอร์”
“เทคโนโลยีจากหัวเว่ยและองค์กรเอกชนอื่น ๆ จะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับและป้องกันกิจกรรมที่ละเมิดกฎหมายไซเบอร์ เช่น การใช้ประโยชน์จาก AI ในการตรวจจับและคาดการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ นอกจากนี้ การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนความรู้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการเสริมสร้างความเข้าใจอันแข็งแกร่งเกี่ยวกับความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับคนไทย” พิมพ์ชนก กล่าวเสริม
ร.ท.หญิง รติรส แผ่นทอง ร.น. และ จ.ส.ต.หญิง ณัฐธยาน์ เรื่อศรีจันทร์ จากทีม ‘hacKEr4nDtHECA7-1’ ในระดับประชาชนทั่วไป (Open) กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนศูนย์ไซเบอร์ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ของกองทัพไทยโดยตรง เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้
เพราะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพหน่วยงานของเราในการปกป้องความปลอดภัยระบบนิเวศทางไซเบอร์ของประเทศไทย อีกทั้งเป็นการวัดระดับขีดความสามารถของพวกเราเมื่อเทียบกับบุคคลภายนอก พร้อมเป็นการส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงในกับหน่วยงานได้”
“เราอยากจะสนับสนุนให้ผู้หญิง หรือผู้ที่มีเพศสภาพเป็นหญิง รวมไปถึงเพศสภาพอื่นๆ (LGBTIQA+) ให้ลองออกมาทำในสิ่งที่ท้าทายตัวเองมากขึ้น เช่น การเพิ่มความรู้ด้านเทคโนโลยี ด้วยการยกระดับทักษะและการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมศักยภาพแรงงานดิจิทัลของทั้งอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ การสร้างสรรค์ให้เกิดความหลากหลายภายในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วยการเพิ่มจำนวนผู้หญิงและผู้ที่มีเพศสภาพเป็นหญิง (LGBTIQA+) จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนผู้มีความรู้ความสามารถและส่งเสริมไอเดียนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ดังเช่นหัวเว่ยซึ่งให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และบุคลากรมาโดยตลอด ความร่วมมือนี้จะมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งสำหรับประเทศต่อไป” ร.ท.หญิง รติรส กล่าวเสริมในตอนท้าย
ทั้งนี้ หัวเว่ยดำเนินงานในประเทศไทยมาเป็นเวลา 24 ปี และบริษัทได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็วของประเทศ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเหล่าพาร์ทเนอร์รายสำคัญ สร้างสรรค์มาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ ช่วยให้ประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ตามพันธกิจ ‘เติบโตในประเทศไทย เพื่อประเทศไทย’ (In Thailand, For Thailand) และ ‘ก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง’ (Leading Everyone Forward and Leaving No One Behind) ของหัวเว่ย บริษัทจะยังคงลงทุนในประเทศไทยต่อไปเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับสถานะของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค
[1] https://cybersecurityventures.com/women-in-cybersecurity-report-2023/