Sunday, November 24, 2024
5GAIExecutive TalkInterview

หัวเว่ย แสดงวิสัยทัศน์นวัตกรรม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคอัจฉริยะ

เดวิด หลี่

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) เผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทย

ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อนวัตกรรมดิจิทัลล้ำยุคอย่าง AI ถูกนำมาใช้โดยหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมต่างๆ กันมากขึ้น การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้มาใช้งานในหลากหลายรูปแบบ นำไปสู่ประสิทธิภาพที่เยี่ยมยอดยิ่งขึ้นสำหรับภาคธุรกิจ

ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางดิจิทัล และกลายเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนและบ่งชี้การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต คำถามที่ตามมาคือ นวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกบ้าง และประเทศไทยพร้อมจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีเหล่านี้หรือยัง

ภายในงานสัมมนาหัวข้อ การขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม” (Innovation Driving Thai for the New Future) เมื่อเร็วๆ นี้ เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยว่า

“จากผลวิจัยโดยองค์กรอิสระด้านการวิจัย เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่าภาคอุตสาหกรรม เช่น สุขภาพ การศึกษา การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และการธนาคาร จะได้รับประโยชน์มหาศาลจากนวัตกรรมอย่าง AI ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มอีกกว่า 2.6 ถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับจีดีพีโลก”

“ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมต่อนวัตกรรมเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่เราจะได้ใช้ประโยชน์จากยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศยิ่งขึ้น หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ได้บูรณาการ AI เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ”

“โดยปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของประเทศให้ใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพทางการผลิตที่เพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับการส่งเสริมการเติบโตในด้านใหม่ๆ ให้กับประเทศ และประเทศไทยก็สามารถเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและผู้ผลิตเทคโนโลยีระดับสูงในภูมิภาคนี้ได้เช่นกัน”

“อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายไปสู่ ยุคอัจฉริยะแห่งอนาคต สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญคือ กระบวนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีและบุคลากร”

“ทั้งนี้ แม้ว่าสังคมไทยจะเปิดรับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ แต่ประเทศไทยกลับมีบริษัทและสำนักงานเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว”

จากรายงานสมุดปกขาวเกี่ยวกับบุคลากรทางด้านดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี 2565 (Thailand National Digital Talent White Paper 2022) พบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยในโลกดิจิทัลมีอัตราสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเห็นได้จากความสำเร็จของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่างๆ รวมไปถึงความนิยมในการใช้งานโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม มีประชากรเพียง 16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงานหรือในสถานที่ทำงาน และมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถสร้างเครื่องมือดิจิทัลได้เองหรือสามารถพัฒนา use case ใหม่ๆ ได้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังคงห่างจากเกณฑ์มาตรฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่มาก

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย รวมถึงบุคลากรของประเทศยังต้องการการพัฒนาศักยภาพอีกมาก ในส่วนของเทคโนโลยี AI จากข้อมูลสถิติระดับโลกพบว่า ผู้ใช้งาน AI สามารถสร้างรายได้โดยเฉลี่ยปีละ 5,000 ถึง 10,000 เหรียญดอลลาร์ ในขณะที่ผู้สร้าง AI สร้างรายได้ที่สูงกว่ามาก โดยเฉลี่ยปีละ 30,000 ถึง 40,000 ดอลลาร์

เทคโนโลยีนวัตกรรมอื่นๆ เช่น 5G และคลาวด์ มีจำนวน use case ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการในหลากหลายอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ยังช่วยลดต้นทุนด้านการดำเนินงานได้มหาศาล พร้อมๆ กับช่วยให้หลายๆ ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าทุกประเทศจำเป็นต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่คล่องตัวและสอดประสานกัน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านแบบอัจฉริยะที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่มากขึ้นระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการลงทุนในระบบนิเวศด้านดิจิทัล และการบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลให้กับประเทศ

เดวิด หลี่ อธิบายเพิ่มเติมว่า “หัวเว่ยได้กำหนดปัจจัยหลัก 4 ประการเพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอัจฉริยะแห่งอนาคต ประกอบด้วย ข้อมูล, ระบบโครงสร้างพื้นฐาน, อีโคซิสเต็ม และบุคลากร

“เรามุ่งพัฒนาทั้ง 4 ปัจจัยนี้ด้วยการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการรวบรวมข้อมูลและระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแบบบูรณาการ ผ่านการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย”

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมุ่งสนับสนุนอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลของประเทศไทย ด้วยการผนึกกำลังกับสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลกว่า 100 บริษัท และพันธมิตรด้านเทคโนโลยีคลาวด์ในประเทศอีกกว่า 300 แห่ง รวมถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลในอนาคตให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อประเทศต้องการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาในอนาคตผ่านนวัตกรรม ทั้งนี้ จากโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เราดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน หัวเว่ยประสบความสำเร็จในการฝึกอบรมบุคลากรทางด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 70,000 คน และวางแผนที่จะบ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ เพิ่มอีก 20,000 คน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านบุคลากรดิจิทัลของภูมิภาคในอนาคต”

ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีไอซีทีที่มีประสบการณ์กว่า 24 ปีในไทย หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดให้กับไทย พร้อมกับการบ่มเพาะบุคลากรทางด้านดิจิทัลและการลงทุนในศูนย์ข้อมูลภายในประเทศ

และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากการผนึกกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายในท้องถิ่น หัวเว่ยประสบความสำเร็จในการเปิดตัวโมเดลภาษาขนาดใหญ่ Pangu AI Model ที่สามารถนำมาบูรณาการเข้ากับโมเดลพยากรณ์อากาศ โดยความร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา

โมเดล Pangu Meteorology หรือ โซลูชัน ผานกู่ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแม่นยำมากกว่าเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศแบบดั้งเดิมถึง 20% ช่วยให้เตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงได้ดียิ่งขึ้น และลดความสูญเสียลงได้มาก

เดวิด หลี่ กล่าวสรุปว่า “หัวเว่ย จะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย สอดรับกับความตั้งใจของรัฐบาลไทย นอกเหนือจากโครงการที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนแล้ว เราเชื่อว่าการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านนโยบายและการลงทุน จะนำไปสู่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีอันแข็งแกร่ง”

“ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความอัจฉริยะและเอื้อประโยชน์ในการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย และมีความตั้งใจเสมอมาที่จะสนับสนุนประเทศชาติในการบรรลุศักยภาพทางด้านดิจิทัล สอดคล้องกับพันธกิจของเราในการเดินหน้าสร้างคุณค่าและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์”