“หัวเว่ย เปิดการแข่งขัน โครงการ ICT Competition 2022 เปิดโอกาสเด็กไทย บนเวทีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านไอซีที การฝึกทักษะในการปฏิบัติจริง และการพัฒนาศักยภาพไประดับโลก
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์ สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย สานต่อโครงการ ICT Competition ต่อเนื่อง ผสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันอุดมศึกษาและบรรดาพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มบุคลากรดิจิทัลอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการ ฝ่ายเครือข่ายธุรกิจผู้ให้บริการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หัวเว่ย กล่าวว่า “แผนการสนับสนุน การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 4 ยุทธศาสตร์หลักของหัวเว่ย ที่ให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง”
“หัวเว่ยลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยวางกรอบและแนวทางการปฏิบัติในมิติต่างๆ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถในระดับสูง เห็นได้จากการก่อตั้ง หัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี (Huawei ASEAN Academy) ในประเทศไทย ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 นั้นได้ฝึกอบรมบุคลากรไอซีทีไปแล้วกว่า 60,000 คน และธุรกิจ SMEs ไปแล้ว 2,600 ราย เพื่อสร้างผลกระทบในเชิงลึกและยิ่งใหญ่ขึ้น”
“สำหรับการขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้กระจายออกไปยังกลุ่มต่างๆ นั้น หัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี มีกิจกรรมและความร่วมมือกับหลายส่วน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 37 แห่งของประเทศไทย ดำเนินโครงการ Seeds for the Future อันถือเป็นโครงการเรือธงเพื่อสังคมของหัวเว่ย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยมีนักเรียนไทยที่มีความสามารถเข้าร่วมแล้วกว่า 220 คน”
“ภายใต้อีโคซิสเต็มนี้ หัวเว่ยและพันธมิตรได้จัดโครงการ ICT_Competition ซึ่งเป็นโครงการเรือธงระดับโลกของหัวเว่ยที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 สามารถสร้างประโยชน์ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยไปแล้วกว่า 1,000 คน”
“และในปีนี้ เราตั้งเป้าที่จะเสริมสร้างความรู้ด้านไอซีทีที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ให้แก่เยาวชนที่มีความรู้ความสามารถอีกกว่า 200 คน ตอกย้ำพันธกิจของหัวเว่ยที่ว่า เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)” อาเบล กล่าว
ICT Competition 2022 เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านไอซีที การฝึกทักษะในการปฏิบัติจริง และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั่วโลก ในการสร้างนวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับการศึกษาและสร้างทักษะบุคลากรรุ่นใหม่
โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะจากการแข่งขันจะได้รับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท
ส่วน โครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี (ประเทศไทย) ได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในประเทศอีก 37 แห่ง ในการสร้างบุคลากรไอซีทีในประเทศไปแล้วกว่า 26,000 คน และตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมบุคลากรดิจิทัลสัญชาติไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2566