Saturday, November 23, 2024
AICloudNEWS

หัวเว่ย ประกาศหนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ AI ในภูมิภาค

หัวเว่ย

หัวเว่ย ประกาศแนวทางในการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของ AI ในภูมิภาค ด้วย 4 แนวทาง Localized AI, Industry Centric, Ecosystem และ Security

ดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจคลาวด์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI สำหรับประเทศไทยในงานประชุมสัมมนา Huawei Cloud AI Summit Thailand 2023: Pioneer AI Future with Huawei Cloud

โดยกล่าวว่า “หัวเว่ยมีความความพยายามทำงานร่วมกับ พันธมิตรและลูกค้า พนักงาน มาตลอด 24 ปี เพื่อสร้างประเทศไทยให้พร้อมก้าวสู่โลกอัจฉริยะ ที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ ด้วยระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืน สำหรับการพัฒนาศักยภาพของ AI ให้เติบโตไปพร้อมกัน”

“ซึ่งแนวทางในการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของ AI ในภูมิภาค ประกอบด้วย 4 แนวทางคือ Localized AI, Industry Centric, Ecosystem และ Security

AI ที่ประมวลผลในบริบทของภาษาไทยและดาต้าในประเทศ

หลี่ อธิบายว่า การสนับสนุนประเทศไทยด้วย เทคโนโลยี AI จะต้องมองบริบทในประเทศไทยเป็นหลัก โดยเริ่มจากการฝึกการประมวลผลภาษาไทย (Thailand Large Language Model) บนพื้นฐานของบริบทหรือข้อมูลในประเทศไทย

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

โดยอาศัยความสามารถของ โมเดลภาษาขนาดใหญ่ Pangu AI Model ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ภาษาไทย ซึ่งจะสามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจในประเทศไทยได้ เพื่อช่วยให้เหล่าอุตสาหกรรมและองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐหรือเอกชนได้เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จและการเพิ่มประสิทธิผลขององค์กรในทุกมิติ

นอกจากภาษาแล้ว การมองบริบทของประเทศไทยยังต้องคำนึงถึง พื้นฐานทางวัฒนธรรม ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การดำเนินธุรกิจด้วยหลักการ Soft Power รวมถึงความพยายามในการผลักดันให้บุคลากรของประเทศไทยพัฒนาจากการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี AI ไปสู่การเป็นผู้สร้างสรรค์ AI

AI แบบสั่งตัดสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม

แนวทางที่สองเป็นการมองที่การนำ AI ไปใช้ให้สอดรับกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดย หลี่ อธิบายว่า “การพัฒนาโมเดล AI Pangu ในเวอร์ชันที่สามจะเป็นการปฏิรูปการดำเนินอุตสาหกรรมครั้งใหม่”

การทำงานร่วมกันของ โมเดล AI Pangu บวกด้วยข้อมูลเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม และเครื่องมือในการพัฒนาที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม จะทำให้ประเทศไทยสามารถออกแบบหรือมีโมเดล AI ที่สอดรับกับความต้องการแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ โมเดลการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ โมเดลการสร้างสมาร์ทซิตี้ โมเดลสำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์ โมเดลในอุสาหกรรมการเงิน ฯ

สร้างโมเมนตัมแห่งการเติบโตทั้งระบบ

หลี่ อธิบายว่า การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของ AI ในภูมิภาคนั้น จะเป็นการสร้างโมเมนตัมหรือแรงส่งให้อุตสาหกรรมทั้งระบบเติบโตขึ้น ที่ประกอบไปด้วยหลายมิติ อาทิ การเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศน์ของ AI ที่ใหญ่ในระดับโลก จากบริษัทไอทีในประเทศจีน ซึ่ง 85% ของ 50 บริษัทขนาดใหญ่ของจีนดำเนินธุรกิจด้านไอทีทั้งสิ้น โดยบริษัทเหล่านี้มีพาร์ทเนอร์มากกว่า 4 หมื่นราย

การส่งเสริมผู้ประกอบการในไทยให้แข็งแรงและเติบโตขึ้น อาทิ พาร์ทเนอร์ในเทคโนโลยีคลาวด์กว่า 300 ราย และเทคสตาร์ทอัพกว่า 120 ราย

การบ่มเพาะนักพัฒนา AI ในประเทศไทย จากผู้ใช้ให้กลายเป็นผู้พัฒนา โดยหัวเว่ยได้วางเป้าหมายจะสร้างบุคลากรหรือนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านคลาวด์และ AI ให้ได้ราว 2 หมื่นคนภายใน 3 ปี

รวมถึงประเด็นสำคัญนั่นคือ การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ AI ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหัวเว่ยวางเป้าหมายถึงการที่ประเทศไทยจะกลายเป็นผู้แอปพลิเคชัน AI ที่สามารถรองรับการใช้งานในภูมิภาคนี้ ภายใต้แพลตฟอร์มคลาวด์ของหัวเว่ย

AI ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้

แนวทางสุดท้ายสำหรับยุทธศาสตร์ AI ในประเทศไทยคือเรื่องของ ความปลอดภัยและเชื่อถือได้ของการใช้งานคลาวด์ ประกอบด้วย ประการแรก ธรรมาภิบาลของข้อมูล โดยหัวเว่ยต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการข้อมูลในระดับชั้นต่างๆ การดำเนินตามมาตรฐานและนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ที่สำคัญคือ การการให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลสำคัญภายในประเทศ รวมถึงเข้มงวดกับการไหลข้ามประเทศของข้อมูลต่างๆ

ประการที่สอง เรื่องกฎระเบียบและกรอบการใช้งาน AI ที่หัวเว่ยพร้อมสนับสนุนและดำเนินตามแนวนโยบายภาครัฐ ซึ่งหัวเว่ยมีความกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันอันดันความพร้อมด้าน AI ภาครัฐให้มีอันดันดีขึ้น ที่รัฐได้ตั้งโดยตั้งเป้าหมายไว้ต่ำกว่าอันดับที่ 50 ภายในปี 2025

ประการที่สาม การทำงานร่วมกับหน่วยงานผู้กำกับดูแลด้าน AI และประการที่สี่ ให้ความสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัยกับโครงสร้างพื้นฐานหรือดาต้าเซ็นเตอร์ของหัวเว่ยทั้งสามแห่งในประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นสูงสุดให้ข้อมูลและการใช้งาน AI

“ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย และมีความตั้งใจเสมอมาที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการบรรลุศักยภาพทางด้านดิจิทัล สอดคล้องกับพันธกิจของเราในการเดินหน้าสร้างคุณค่าและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์” หลี่ กล่าวปิดท้าย