“หัวเว่ย และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ร่วมลงนามในปฏิญญาความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนความเท่าเทียมทางดิจิทัล
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้นำระดับโลก ด้านโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ยกระดับความร่วมมือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union หรือ ITU) ด้วยการร่วมลงนามในปฏิญญาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านดิจิทัลและการส่งเสริมการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล ภายในงานประชุมว่าด้วยการพัฒนากิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ ITU ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยทั้งสองฝ่ายให้คำปฏิญาณว่าจะยกระดับความร่วมมือในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การร่วมกันจัดเวทีหารือระดับสูงที่เปิดกว้าง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเชิงกฎหมายและนโยบายด้านไอซีที 2) การจัดทำงานวิจัยร่วมกัน 3) การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม 4) การพัฒนาขีดความสามารถทางด้านดิจิทัล 5) การเสริมพลังเด็กและเยาวชนเพศหญิง และ 6) การส่งเสริมความรู้และแนวทางปฏิบัติด้านดิจิทัล
ในโอกาสนี้ ดร. คอสมัส ลัคกีซัน ซาวาซาวา ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของ ITU ได้กล่าวว่า “หัวเว่ยถือเป็นพาร์ทเนอร์รายสำคัญของเราทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค โดยหัวเว่ยได้ให้การสนับสนุนงานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลของภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางสหภาพโทรคมนาคมฯ จะยังคงกระชับความสัมพันธ์ในการทำงานกับหัวเว่ยให้แข็งแกร่งต่อไป และการลงนามในประกาศฉบับนี้ก็จะสร้างผลกระทบและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”
ITU ในฐานะองค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ ได้เสนอวิสัยทัศน์ว่าด้วยการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับโลก หรือ “Connect 2030 Agenda for Global Telecommunication/ICT Development” โดยจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573
ภายใต้ภารกิจของ ITU ในการเชื่อมต่อทุกคนสู่โลกที่ดีกว่า หัวเว่ยได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ร่วมกับ ITU อย่างใกล้ชิดในการขับเคลื่อนนวัตกรรมไอซีทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำรายงานผลการวิจัยว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหลายชิ้น ซึ่งผลการวิจัยเหล่านี้ยังได้รับการนำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านไอซีทีของภูมิภาค เพื่อรายงานถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย รวมไปถึงเพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ตามได้
หนึ่งในวิสัยทัศน์ที่หัวเว่ยและ ITU มีร่วมกัน คือการปิดช่องว่างทางด้านดิจิทัลและการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและไอซีที เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กและเยาวชน ผู้หญิง และกลุ่มเปราะบาง
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หัวเว่ยและ ITU ได้จัดกิจกรรม “Walk into ICT Industry’ ให้แก่เยาวชนกว่า 30 คน และจัดทำโครงการ “Seeds for the Future” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดให้กับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ด้วยการพาเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมโซลูชันและการเรียนรู้ของหัวเว่ย (CSIC) ในกรุงเทพฯ และการจัดหลักสูตรอบรมเพื่อเสริมทักษะด้านดิจิทัลโดย Huawei ASEAN Academy
สำหรับในปี พ.ศ. 2566 นี้ หัวเว่ยได้สนับสนุนโครงการ “Girls in ICT” ของ ITU โดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและโครงการฝึกงานเพื่อดึงดูดให้เยาวชนเพศหญิงหันมาสนใจศึกษาต่อในสาขาวิชา STEM (ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) พร้อมต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี 5G ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเทคโนโลยีคลาวด์
เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงการลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ว่า “นี่ถือเป็นเหตุการณสำคัญครั้งใหม่ในความร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไปสู่ยุคดิจิทัล
ตลอดระยะหลายปีมานี้ ทาง ITU ได้ให้การสนับสนุนและมอบความไว้วางใจให้หัวเว่ยดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านไอซีที สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และสร้างการเชื่อมต่อที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ในก้าวต่อไปท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ มีอยู่สองเรื่องที่แน่ชัดสำหรับเรา
นั่นคือความร่วมมือและการเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน ภายใต้ปฏิญญาร่วมกันนี้ หัวเว่ยจะเดินหน้าเสริมพลังดิจิทัลให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถเชื่อมต่อโดยทั่วถึงกัน ด้วยความร่วมมือกับ ITU และพันธมิตรทุกภาคส่วน”
ภาพของความมุ่งมั่นดังกล่าวได้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นภายในงานประชุมในวันเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และแขกรับเชิญจากสหประชาชาติ รวมกว่า 20 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล โดยนายเดวิด หลี่ ได้นำเสนอมุมมองและประสบการณ์ในการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรเพื่อส่งมอบบริการด้านดิจิทัล พลังงานไฟฟ้า การเชื่อมต่อบรอดแบนด์ให้แก่หมู่บ้านตามพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศไทย
“การสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน เราต้องการกรอบการทำงานที่มีความครอบคลุม ขับเคลื่อนด้วยความจำเป็น มีหลักฐานรองรับ มีการสนับสนุนจากพันธมิตร และสร้างผลลัพธ์ในระยะยาว ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ด้านการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ด้านราคาที่ทุกคนจับต้องได้ ด้านการเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับคนทุกกลุ่ม และด้านการบริการดิจิทัลที่หลากหลายและครอบคลุม” นายเดวิด หลี่กล่าวเสริม
ในขณะเดียวกัน ITU กำลังวางแผนนำเด็กนักเรียนในโครงการ Generation Connect มาเข้าร่วมในโครงการ “Seeds for the Future” ของหัวเว่ย โดยจะมีการจัดทริปพานักเรียนไปเยี่ยมชมและสัมผัสนวัตกรรมและอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ในประเทศจีนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ หัวเว่ย และ ITU ยังคงเดินหน้าผลักดันการขับเคลื่อนนโยบาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการยกระดับอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป