Tuesday, September 17, 2024
AIDigital TransformationExecutive TalkGenerative AI

การวางกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์ม HR ด้วย GenAI

แม้ว่า GenAI จะได้รับการพัฒนาจนนำไปใช้งานได้หลากหลายด้าน และใช้ช่วยในการทำงาน HR ได้แบบ ครบจบทุกกระบวนการ อย่างไรก็ตาม ในการสร้างประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาวไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมและวางกลยุทธ์เพื่อให้ AI สามารถสร้างผลลัพธ์ได้จริง

ปัจจุบันงาน HR ถือเป็นกลไกเบื้องหลังการขับเคลื่อนธุรกิจที่จะขาดไปไม่ได้ เนื่องจากบุคลากรคือทรัพยากรสำคัญขององค์กร เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น งาน HR จึงต้องพัฒนาให้ทันตามการขยายตัวของธุรกิจ ทำให้ฟังก์ชันงาน HR บางส่วนต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถรองรับกลยุทธ์ด้านบุคลากรของธุรกิจได้ในระยะยาว 

สำหรับการขับเคลื่อนงาน HR นั้น เทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการทำงานได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น Generative AI (GenAI) และ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง โดยใช้กระบวนการเรียนรู้จากข้อมูล (Machine Learning) เพื่อสร้างโมเดลที่สามารถทำนายผลลัพธ์จากข้อมูลได้อย่างแม่นยำ

แม้ว่า GenAI จะได้รับการพัฒนาจนนำไปใช้งานได้หลากหลายด้าน และใช้ช่วยในการทำงาน HR ได้แบบ ครบจบทุกกระบวนการ อย่างไรก็ตาม ในการสร้างประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาวไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมและวางกลยุทธ์เพื่อให้ AI สามารถสร้างผลลัพธ์ได้จริง 

พิพัฒน์ ประภาพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย Advanced Analytics บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

พิพัฒน์ ประภาพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย Advanced Insights บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาชั้นนำผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจร ได้ให้ข้อมูลถึง การสร้างกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์ม HR ด้วย GenAI รวมถึงแนะนำ 15 Use Case เพิ่มประสิทธิภาพงานแบบครบวงจร

สำรวจความพร้อมองค์กรก่อนเริ่ม AI

พิพัฒน์ อธิบายว่า แม้ปัจจุบันเทคโนโลยี GenAI ได้รับการพัฒนาจนสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับการนำไปใช้งานภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรมีการเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่อง ได้แก่

1. บุคลากรที่ควรมีทักษะในการถามคำถามเพื่อป้อนคำสั่งที่เหมาะสมสำหรับให้ AI สร้างผลลัพธ์

2. กระบวนการที่ต้องมีแนวทางการเก็บข้อมูล หรือมีนโยบายด้าน Data Governance ในการควบคุมดูแลด้านข้อมูลโดยเฉพาะในการเอา AI ไปใช้สำหรับการทำงานในส่วนต่างๆ 

และ 3. เทคโนโลยีที่ระบบภายในองค์กรควรเป็น Private System ที่มีการปกป้องดูแลความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน 

สำหรับงาน HR นั้น หากมองในภาพรวมแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ประกอบด้วย การสรรหาบุคลากร (Talent Acquisition) การบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) และ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Resource Management) ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนั้น GenAI สามารถนำไปปรับใช้ได้ใน ทุกกระบวนการ 

Use Case Prioritization วางกลยุทธ์ปรับใช้ GenAI

พิพัฒน์ มองว่า ก่อนนำ GenAI ไปใช้จริงสำหรับงาน HR องค์กรควรทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูลก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วข้อมูลในงาน HR แบ่งเป็นข้อมูลภายในองค์กรที่ครอบคลุมตั้งแต่ข้อมูลผู้สมัครงาน ข้อมูลบริษัท นโยบายบริษัท ข้อมูลสิทธิประโยชน์ต่างๆ และระบบการบริหารจัดการด้าน HR 

อีกส่วนคือข้อมูลภายนอก เช่น เทรนด์ตลาดแรงงาน นโยบายและการรับสมัครงานของบริษัทคู่แข่ง ค่าเฉลี่ยเงินเดือนและทักษะของพนักงานในตำแหน่งต่างๆ 

เมื่อเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูลแล้ว องค์กรควรเลือกกรณีการใช้งาน หรือ Use Case ที่เหมาะสมกับธุรกิจ โดยเลือกตามการจัดลำดับความสำคัญ (Use Case Prioritization) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพิจารณาตาม 2 แกนหลัก คือ Business Impact ซึ่งเป็นผลลัพธ์และคุณค่าที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจในแง่ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment) รวมถึงความสอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กร 

และ Feasibility ที่เป็นความพร้อมในการพัฒนาและใช้งานจริง โดยแนวทางการทำ Use Case Prioritization นั้น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามวัตถุประสงค์ขององค์กร

สำหรับแนวทางที่เป็นมาตรฐานสำหรับการทำงานของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน จะเข้าไปช่วยแนะนำองค์กรธุรกิจในการเลือก Use Case ที่เหมาะสม ควรประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

1) สร้าง Use Case โดยพิจารณาจากปัญหาของธุรกิจ เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ขององค์กร และตัวขับเคลื่อนหลักที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายนั้นๆ (Key Driver) 

2) รวบรวม Use Case จากการทำ Value Stream Mapping แผนผังที่จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของกระบวนการและกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างคุณค่าให้ธุรกิจ แล้ววิเคราะห์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจและความพร้อมในการดำเนินการ

3) วางแผนการปรับใช้ Use Case ตามการจัดลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด 

4) เลือก Use Case ที่เป็น Quick-win ซึ่งสามารถทำได้เร็วและสร้างผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเริ่มดำเนินการก่อน 

15 GenAI & AI Use Cases แนะนำสำหรับงาน HR

ในมุมมองของพิพัฒน์ จากประสบการณ์ในการเข้าไปช่วยวางกลยุทธ์ GenAI Use Cases ที่น่าสนใจสำหรับงาน HR ทั้งการสรรหาบุคลากร การบริหารผลการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล สามารถ จัดกลุ่มการใช้งานใหญ่ๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม และแบ่งออกเป็น 15 Use case ได้แก่

กลุ่มการสรรหาบุคลากร (Talent Acquisition) 

1) Automated Job Description Generation – วิเคราะห์คำอธิบายตำแหน่งงาน ข้อมูลบริษัท และเทรนด์ในภาคธุรกิจ และสร้างคำอธิบายตำแหน่งงานที่เหมาะสมที่สุด 

2) Targeted Ad Placement – วิเคราะห์ตลาดแรงงานและความสนใจของผู้สมัครงาน จากนั้นให้คำแนะนำในการทำโฆษณารับสมัครงานบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย 

3) Resume Screening – ระบุผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุดจากทักษะและประสบการณ์ทำงานแบบอัตโนมัติ เพื่อหาบุคลากรที่เหมาะกับความต้องการขององค์กร 

4) Skills Matching – จับคู่ผู้สมัครงานที่ตรงกับความต้องการของตำแหน่งงาน โดยอิงจากทักษะและประสบการณ์ทำงาน 

5) Predictive Personality Assessment – ระบุแนวโน้มลักษณะผู้สมัครงานที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร

กลุ่มการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) 

6) Skills Gap Analysis – วิเคราะห์ทักษะพนักงานและให้คำแนะนำในการเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต 

7) Attrition Prediction – วิเคราะห์ข้อมูลและผลการปฏิบัติงานเพื่อหาความเสี่ยงการลาออก

8) Succession Planning – ระบุตัวพนักงานที่มีศักยภาพได้รับการเลื่อนตำแหน่ง 

9) Personalized Learning Paths – แนะนำโปรแกรมฝึกอบรมพนักงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน ทักษะ และประสบการณ์ทำงาน 

10) Knowledge Management – จัดระบบเอกสาร ระเบียบปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาสำหรับพนักงาน 

กลุ่มการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Resource Management)

11) Career Pathing – ช่วยพนักงานในการสร้าง Career Path ที่เหมาะสมกับตัวเอง 

12) Personalized Benefits – สร้างแพคเกจสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน 

13) Payroll Automation – เพิ่มประสิทธิภาพของระบบบัญชีเงินเดือน เช่น การคำนวณค่า OT หรือการเข้ากะของพนักงาน 

14) Compliance Monitoring – ติดตามและแจ้งเตือนความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ 

15) Chatbots for HR Helpdesk – แชทบอทตอบคำถามเกี่ยวกับ HR ตลอด 24 ชั่วโมง 

สุดท้ายแล้ว การสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจจาก AI ไม่ใช่แค่การทำเทคโนโลยีมาใช้งาน แต่ต้องมาจากการวางกลยุทธ์และการจัดลำดับความสำคัญว่าจะนำ AI ไปใช้สร้างคุณค่าให้องค์กรที่จุดไหน และต้องมีความพร้อมเรื่องข้อมูลสำหรับพัฒนาโมเดล AI ให้สร้างผลลัพธ์ได้ตามความต้องการ สำหรับธุรกิจที่ต้องการวางกลยุทธ์ด้าน AI เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตให้องค์กร

Featured Image: Image by freepik