ฟอร์ติเน็ต ลงนามร่วมม.นอร์ทกรุงเทพ ส่งมอบ Labs การเรียนรู้ด้านการป้องกันภัยบนไซเบอร์
“ฟอร์ติเน็ต ลงนามร่วม ม.นอร์ทกรุงเทพ ส่งมอบ Labs ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ สนับสนุนการเรียนการสอนสร้างกำลังพลรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์แบบเข้มข้น
ฟอร์ติเน็ต ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบอัตโนมัติและครบวงจร ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ วิทยาเขตสะพานใหม่ ในการส่งมอบ Labs การเรียนรู้ด้านการป้องกันภัยบนไซเบอร์ (Security Academy Program) เพื่อการเรียนการสอนโดยไม่คิดมูลค่า พร้อมแต่งตั้งมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เป็นพันธมิตรทางวิชาการในโครงการ Academic Partner Program ของสถาบัน Fortinet Training Institute ด้วยจุดมุ่งหมายในการผลิตกำลังพลคนรุ่นใหม่ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้
ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ปัญหาภัยคุกคามด้านความปลอดภัยบนไซเบอร์ทวีจำนวนและความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ความต้องการบุคลากรมืออาชีพที่สามารถรับมือทั้งในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจมตีบนไซเบอร์ขยายตัวขึ้นเป็นอย่างมาก
ฟอร์ติเน็ต ประเทศไทย ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ในด้านโซลูชันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีการใช้งานมากที่สุดและมีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่มีการจัดส่งไปยังทั่วโลกสูงสุด มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ วิทยาเขตสะพานใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นกำลังหลักที่แข็งแกร่งในการต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์
“ในฐานะที่ฟอร์ติเน็ตคือผู้นำทางไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่ได้รับความเชื่อมั่นและได้รับการนำไปใช้งาน (Deploy) สูงที่สุดในโลก ส่วนนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสด้านการทำงานให้กับนักศึกษาที่ได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรการเรียนรู้ของฟอร์ติเน็ตมากยิ่งขึ้น ในส่วนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เราได้มอบ Labs เพื่อการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบของการเรียน On-site และการเรียนรู้ผ่านคลาวด์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้ามาเรียนรู้และทบทวนการเรียนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ทางมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและความสามารถในการจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ออกสู่สนามปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต” ภัคธภา กล่าว
ทั้งนี้ จากรายงาน 2023 Global Cybersecurity Skills Gap Report ของฟอร์ติเน็ต ผู้บริหารและองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างต้องการบุคลากรที่มีทักษะทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และจะให้น้ำหนักในการพิจารณาเพิ่มมากขึ้นหากผู้เชี่ยวชาญนั้นๆ ได้รับใบรับรอง (Certificate) เพื่อยืนยันถึงทักษะและความเชี่ยวชาญ โดยรายงานชี้ว่า ใบรับรองคือสิ่งที่ผู้ว่าจ้างต้องการ นอกเหนือจากประสบการณ์ ผู้ว่าจ้างมองว่าใบรับรอง และการฝึกอบรมคือเครื่องยืนยันที่น่าเชื่อถือถึงทักษะของบุคคล โดย 90% ของผู้นำธุรกิจเลือกที่จะว่าจ้างคนที่ได้ใบรับรองที่เน้นในด้านเทคโนโลยี
ผศ.ดร.ปัทมา รูปสุวรรณกุล รองอธิการบดีอาวุโส มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจในการที่จะสร้างกำลังคนทางด้านดิจิทัลพร้อมความรู้ความสามารถในด้านการดูแลความปลอดภัย ป้องกันภัยคุกคามบนไซเบอร์ ด้วยความร่วมมือจากฟอร์ติเน็ต นักศึกษามหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ สามารถลงทะเบียนเข้าเรียนได้ฟรี
และเมื่อสอบผ่านหลักสูตรจะได้รับ Voucher เพื่อเข้าสอบใบประกาศนียบัตร Network Security Professional ไปจนถึง Network Security Analyst และ Network Security Specialist และยังรวมถึงการฝึกอบรมคณาจารย์ในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านโครงการ Train The Trainer อีกด้วย
ดร. อมรวิทย์ วัชรพฤกษาดี คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีแรกในการเปิดหลักสูตรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในด้านการเรียนการสอนเช่นเดียวกัน เนื่องจากนักศึกษาจะใช้เวลาในห้องเรียนเพียงปีครึ่ง และจะออกสู่สนามฝึกงานในสภาพแวดล้อมจริงเพื่อฝึกทั้งในด้านการทำงานและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ตลอดระยะเวลาที่เหลือในการศึกษา ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการทำงานร่วมกับฟอร์ติเน็ต
ซึ่งเป็นผู้นำที่มีความน่าเชื่อถือในตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในครั้งนี้ โดยความร่วมมือจะอยู่ในหลักสูตรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับปริญญาตรี จะเป็นการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เป็นวิชาเอกเลือกที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับใบประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อรับรองความสามารถโดยเฉพาะ วิชาเรียนจะเป็นสาย Network & Security ซึ่งเป็นสายที่ผู้เรียนต้องเรียนด้านระบบเครือข่ายและความปลอดภัยทั้งหมด
“จากการเข้าร่วมประชุมทางวิชาการในหลายๆ ที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าจำนวนบุคลากรในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีการขาดแคลนในระดับหลักล้านคน อาทิ ในประเทศอินเดีย มีการขาดคนในส่วนนี้สูงถึง 7-8 ล้านคน นั่นหมายความว่าประเทศไทยในอนาคตน่าจะประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เราจึงแผนในระยะยาวเพื่อการสร้างบุคลากรตั้งต้นทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพื่อเป็นรากฐานของประเทศต่อไป”