Friday, January 10, 2025
ArticlesColumnistDr.Kriengsak ChareonwongsakManagement

มหาวิทยาลัย…แหล่งสร้างคนค้นหาสัจธรรม

มหาปัญญาลัย

หลายครั้งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ครั้งนี้ขอกล่าวถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่ควรกลับมาทำบทบาทหน้าที่ของตนเอง ควรเป็นแหล่งค้นหาและค้นพบสัจธรรม แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจำนวนมากยังไปไม่ถึงอุดมคติดังกล่าว

มเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับความหมายของมหาวิทยาลัยเอาไว้ในหนังสือ มหาวิทยาลัยที่ทางแยก: จุดประกายวิสัยทัศน์อุดมศึกษาไทยในอนาคต ว่า รากศัพท์คำว่า มหาวิทยาลัย มาจากคำภาษาอังกฤษว่า University มาจากรากศัพท์ Universitas เกี่ยวข้องกับคำว่า Universal Truth 

ซึ่งผู้เขียนเคยบัญญัติเป็นภาษาไทยไว้เมื่อราวปี 2541 ว่า Universal Truth คือ สัจจะสากล หรือการแสวงหาสิ่งที่เป็นจริงที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

ความรู้คือสัจจะ สัจจะเป็นจริงเสมอ ทุกที่ ทุกเวลา ความรู้และสัจจะมีความโยงใยกัน ยิ่งเข้าใจความรู้ยิ่งทำให้เข้าถึงสัจจะ แต่สัจจะอาจมิใช่เพียงความรู้ โดยความรู้ควรเป็นตัวสะท้อนสัจธรรมและเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ขัดแย้งกับสัจธรรม การศึกษาแท้จริงจึงคือ การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อนำไปสู่การเข้าใจสัจธรรม 

มหาวิทยาลัยเป็นที่อาศัยของความรู้ มีการรวบรวม สะสม ถ่ายทอด สร้าง และกระจาย ความรู้อย่างเป็นระบบ ตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มนุษย์เป็นผู้ใช้ความรู้เรื่อยมา มหาวิทยาลัยจึงอยู่คู่กับสังคมมาทุกยุคทุกสมัย แม้ช่วงแรกจะมิได้อยู่ในรูปแบบของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการเฉกเช่นในยุคปัจจุบัน 

ผมวิเคราะห์และนำเสนอแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็นทั้งหมด 7 ยุค มหาวิทยาลัยแต่ละยุคแสวงหาและค้นพบสัจธรรมบางระดับตามยุค เช่น กฎศีลธรรม กฎธรรมชาติ กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน เป็นต้น 

ซึ่งผมได้นำเสนอความคิดดังกล่าวนี้ในการบรรยายหัวข้อ Building World-Class Universities in Thailand: Opportunities and Challenge สำหรับการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 

ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โดยผู้เขียนแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็นทั้งหมด 7 ยุคดังนี้

ยุคที่ศูนย์ มหาวิทยาลัยก่อนยุคบรรพกาล (Pre-Primitive: Informal University) 

เป็นมหาวิทยาลัยในยุคสังคมเร่ร่อน (Nomadic Society) หรือสังคมล่าสัตว์ (Hunting Society) หรือสังคมเก็บของป่า (Gatherer Society) มีลักษณะสังคมแบบไม่เป็นทางการ เกี่ยวข้องกับความรู้อย่างง่ายตามอัธยาศัย (informal education) ในการดำรงชีวิตและความอยู่รอด เช่น วิธีล่าสัตว์ วิธีหาของป่า

ยุคนี้มีการแสวงหาและค้นพบสัจธรรมอย่างง่ายผ่านการเรียนรู้สังเกตปรากฎการณ์และกฎเกณฑ์ธรรมชาติต่างๆ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง เป็นต้น 

ยุคที่หนึ่ง มหาวิทยาลัยยุคบรรพกาล (Primitive: Nonformal University) 

ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยในยุคสังคมเร่ร่อนเก็บของป่าหรือสังคมล่าสัตว์ ยังไม่มีสถาบันทำหน้าที่หลักอย่างเป็นทางการ เกี่ยวข้องกับความรู้ในการดำรงชีวิตและความอยู่รอดที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การสร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น การแสวงหาและค้นพบสัจธรรมในยุคนี้เริ่มมีความสลับซับซ้อนขึ้น เช่น ฤดูกาลและการเพาะปลูก เป็นต้น

ยุคที่สอง มหาวิทยาลัยยุคโบราณ (Ancient: Semi-Formal University) 

เป็นเมล็ดพันธุ์ของอารยธรรม เป็นจุดเริ่มต้นความเจริญของสังคมมนุษย์ มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยแบบกึ่งทางการ มีอาณาบริเวณที่ตั้งเอื้อต่อการถ่ายทอดความรู้กระจายอยู่ตามบริเวณพื้นที่ต่างๆ เช่น สถาบันตักศิลา เป็นต้น 

การแสวงหาและค้นพบสัจธรรมมีลักษณะเป็นระบบมากขึ้น เช่น ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ เทววิทยา แพทยศาสตร์ การก่อสร้างปิรามิดและการทำมัมมี ในประเทศอียิปต์ เป็นต้น

ยุคที่สาม มหาวิทยาลัยยุคสมัยใหม่ (Modern: Formal University) 

เริ่มแรกยังไม่ค่อยเป็นระบบเป็นทางการ มีลักษณะที่ผมขอเสนอว่าเป็น อาศรม ทางปัญญา ในภาษาลาตินที่เรียกว่า Collegiate ต่อมาภายหลังมีการรวมกลุ่มของผู้มีความรู้จำนวนมากและมีการถ่ายทอดความรู้กันไปมา ทำให้มีการจัดระบบเป็นทางการมากขึ้น (สยามอารยะ แมนนิเฟสโต: แถลงการณ์สยามอารยะ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2555

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

มหาวิทยาลัยจึงได้ก่อตัวขึ้นตามเมืองสำคัญๆ ของยุโรป เช่น มหาวิทยาลัยซาเลอโน และมหาวิทยาลัยโบโลญญา ในประเทศอิตาลี

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยมองต์เพิลลิเยร์ ในประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น โดยการแสวงหาและค้นพบสัจธรรมในยุคนี้มีลักษณะลงลึกเชี่ยวชาญตามศาสตร์

ยุคที่สี่ มหาวิทยาลัยยุคสว่างไสว (Enlightenment: Knowledge University) 

ก่อนหน้านี้เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ขึ้นหลายรอบ จนกระทั่งยุคปัจจุบันอีกครั้ง เกิดเป็นมหาวิทยาลัยยุคสังคมความรู้ (Knowledge Society) ในราวเกือบ 400 ปีที่ผ่านมา เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัย ปรินซตั้น

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในท้ายของยุคนี้ราวหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา เป็นต้น มหาวิทยาลัยยุคนี้มีการแสวงหาและค้นพบสัจธรรมผ่านกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ 

ยุคที่ห้า มหาปัญญาลัย (Convergence: Wisdom University) 

มีเอกลักษณ์ที่ผมเสนอว่า การบรรจบกันระหว่างศิลป์กับศาสตร์ นำสู่ผลลัพธ์ที่มากกว่าความรู้ เรียกว่า ปัญญา ปัจจุบันเมื่อไม่นานนี้เริ่มเห็นรอยกระเพื่อมเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยยุคนี้แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบแห่งสิงคโปร์ (Singapore University of Technology and Design) เป็นต้น

ซึ่งคำว่า ปัญญา นั้น ผู้เขียนเคยนำเสนอในการปาฐกถา ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 และการปาฐกถาเปิดงานเสวนาหัวข้อ ศิลปะเพื่อยกระดับความคิดและสติปัญญาของมวลชน ในงาน Art Bangkok Symposium 2011 ณ ห้องบอลรูม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันอังคาร 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ยุคที่หก มหาศุภาลัย (Integration: Araya University) 

เป็นมหาวิทยาลัยยุคสุดท้าย มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางด้านการบูรณาการครบถ้วนทุกด้านของ 3ศ. ศาสตร์ (science) ศิลป์ (arts) และศาส์น (ideologue) ที่ดี เช่น มหาวิทยาลัยการสร้างชาตินานาชาติหรือ Nation-Building International University ที่ผมอยากสร้างให้เกิดขึ้นในไทยเพื่อเป็นนวัตกรรมเอกของโลก (อารยะสร้างชาติเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2562) เป็นต้น

ปัจจุบันทั้งโลกกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ มหาวิทยาลัยยุคสว่างไสว และจำนวนหนึ่งเริ่มเข้าสู่ มหาปัญญาลัย มหาวิทยาลัยแต่ละยุคควรสร้างคนให้เหมาะสมกับยุค มีลักษณะเป็นคนประจำยุค

ตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาคนให้สอดคล้องกับยุคสมัย

คลื่น

คน

มหาวิทยาลัย

งาน

ทักษะ (เน้น)

ผู้นำ

คลื่นลูก 0

วนาชน

มหาวิทยาลัยก่อนยุคบรรพกาล

หาของป่า ล่าสัตว์

เท้า

ผู้นำนักล่า

คลื่นลูก 1

ปฐพีชน มหาวิทยาลัยยุคบรรพกาล เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ มือ

ผู้นำนักรบ

คลื่นลูก 2 ธนาชน มหาวิทยาลัยยุคโบราณ ทำงานร่วมกับเครื่องจักรกล ร่างกาย ผู้นำนายทุน
คลื่นลูก 3 สารชน มหาวิทยาลัยยุคสมัยใหม่ จัดการและสื่อสารข้อมูล หัวใจ ผู้นำไอที
คลื่นลูก 4 วิทยาชน มหาวิทยาลัยยุคสว่างไสว ใช้ความคิดนำ สมอง ผู้นำนวัตกรรม
คลื่นลูก 5 ปัญญาชน มหาปัญญาลัย ประยุกต์ความรู้ เจตน์/เจตจำนง ผู้นำปัญญา
คลื่นลูก 6 ธรรมมิกชน มหาศุภาลัย ใช้อุดมการณ์ จิต ผู้นำธรรมิกชน
วรธรชน มหาวิชชาลัย มีความรู้ ปัญญา ความดี ผู้นำวรธรชน
อารยาวิชชาชน อารยาวิชชาลัย มีความรู้ ปัญญา ความดี ขั้นสูงสุด ผู้นำอารยาวิชชาชน
ที่มา: ต่อยอดจากความคิดคลื่นอารยะ 7 ลูก (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2555)

ความรู้แต่ละยุคมีพัฒนาการมาอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์ (scientific process) มากขึ้น จากความรู้ทางด้านจิตภาพที่เชื่อมโยงกับปรัชญาและศาสนามาเป็นเน้นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ชัดเจนที่สุดในมหาวิทยาลัยยุคสว่างไสวหรือมหาวิทยาลัยยุคสังคมความรู้ ที่เน้นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก 

ขณะที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของโลกจำนวนหนึ่งยังคงหลงเหลือร่องรอยขององค์ความรู้ทางด้านจิตภาพอยู่บ้าง เช่น ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น 

มหาวิทยาลัยมีความเกี่ยวโยงกับการค้นหาสัจธรรม เพราะมหาวิทยาลัยเป็นที่อยู่ของความรู้และการแสวงหาความรู้ เช่น การทำวิจัยสร้างความรู้ใหม่ เป็นต้น การค้นพบความรู้ที่เป็นสัจธรรมทางศาสตร์และศิลป์นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่สังคม มีการนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ด้วยการแบ่งเป็นศาสตร์และศิลป์หรือสาขาวิชาต่างๆ เพื่อความสะดวก 

เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จิตวิทยา เป็นต้น แต่แม้กระนั้นทุกความรู้และความจริงในจักรวาลความรู้ล้วนมีความโยงใยกันหมด ไม่ขัดแย้งกันและเป็นเนื้อเดียวกันจนผมเรียกว่าสากลสัจจะมีความเป็นเอกเป็นหนึ่ง 

มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งค้นหาและค้นพบสัจธรรม แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจำนวนมากยังไปไม่ถึงอุดมคติดังกล่าว เป็นมหาวิทยาลัยเชิงพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นผ่านคุณภาพงานวิจัยและคุณภาพบัณฑิต (กรมประชาสัมพันธ์, 2566) ที่เป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัย เช่น การมุ่งเพื่อการประกอบอาชีพ การวิจัยค้นพบความรู้ใหม่ยังมีน้อยไปมาก เป็นต้น 

คำถามที่ตรงไปยังบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

ผมขอเสนอว่า มหาวิทยาลัยควรกลับมาทำบทบาทหน้าที่ของตนเอง ด้วยการพัฒนาตนเองให้เป็นแหล่งที่อยู่ของความรู้อันนำไปสู่การเข้าใจสัจธรรม ส่งเสริมให้นักศึกษาค้นหาและค้นพบ สัจธรรม ใช้สัจธรรมเป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิตและงาน เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพของสังคม เปี่ยมล้นด้วย ความรู้ ปัญญา และความดี พร้อมกับพัฒนาตนเองให้เป็น มหาปัญญาลัย มหาศุภาลัย มหาวิชชาลัย และอารยาวิชชาลัยในที่สุด

มหาวิทยาลัยทำหน้าที่บ่มเพาะหล่อหลอมสร้างกำลังคนของประเทศ อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร ส่วนสำคัญอยู่ที่การสร้างกำลังคนของสังคมผ่านมหาวิทยาลัยในวันนี้ 

มหาวิทยาลัยควรตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง มุ่งสร้างคนคุณภาพเป็นคนดี เก่ง กล้า ที่มีทั้งความรู้ ปัญญา ความดี มีใจรักการค้นหาและค้นพบและดำเนินชีวิตตามสัจธรรม

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by rawpixel.com on Freepik