Thursday, November 21, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

ทิศทางคนอายุยืนในไทย เพื่อรับมือ สังคมสูงอายุ

คิกออฟ!! โครงการวิจัยในคนอายุยืน รับมือกับ สังคมสูงอายุ ในบริบทของไทย ค้นหาปัจจัยที่ทำให้คนอายุยืน สุขภาพดี และมีความสุข

ถาบันการสร้างชาติ (NBI) จัดการประชุมโต๊ะกลม เรื่อง “การวิจัยคนอายุยืนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ คอมพัสแคมพัส บางนา เพื่อรับฟังมุมมองจากผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับความร่วมมือในงานวิจัยและทิศทางการวิจัยเกี่ยวกับคนอายุยืนในประเทศไทย

ผมได้ริเริ่มโครงการวิจัยในคนอายุยืน โดยได้รับความร่วมมือจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายการวิจัยศตวรรษิกชนระดับโลก นำโดย ศาสตราจารย์ซัลวาตอเร ดิ ซอมมา ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งโรม ประเทศอิตาลี, ศาสตราจารย์เดวิด เบรนเนอร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา และผู้บริหารสูงสุดของบริษัทแซนฟอร์ด

เบอร์แฮม พรีบีส และศาสตราจารย์โอลเล่ เมลานดา ศาสตราจารย์และนักวิจัยด้านโรคหัวใจ มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน โดยมี พญ.กัลยรัตน์ สุขเรือง จากสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยในพื้นที่นำร่องในประเทศไทย

การประชุมโต๊ะกลม เรื่อง “การวิจัยคนอายุยืนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ คอมพัสแคมพัส บางนา ที่มา: Facebook drdancando

ประเทศไทยเข้าสู่ สังคมสูงอายุ โดยที่ยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ขณะที่อายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้น แต่ช่วงเวลาที่สุขภาพไม่ดีก็เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

การรับมือกับความท้าทายนี้ จำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การจัดการสังคมผู้สูงอายุ จากการมองผู้สูงอายุเป็นภาระ เป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายพัฒนาประเทศไทยเป็น สุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ (GoldenZone) หรือพื้นที่ที่คนมีอายุยืน สุขภาพดี และมีความสุข

โดยแผนเบื้องต้นจะดำเนินโครงการวิจัยนำร่องในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลทุติยภูมิพบว่า เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความชุกของคนอายุยืนที่สุดในประเทศไทย

โดยเป็นการศึกษาปัจจัยอย่างครอบคลุม และใช้วิธีวิจัยผสมผสานทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อประเมินภาวะสุขภาพและความเสี่ยงของการเป็นโรคที่เกี่ยวกับอายุ และทำความเข้าใจว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาว สุขภาพดี และมีความสุข

ซึ่งผมได้เชิญศาสตราจารย์ ซัลวาตอเร ดิ ซอมมา มาแบ่งปันประสบการณ์การวิจัยคนอายุยืนในเมืองซิเลนโต ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชากรมีอายุคาดเฉลี่ยสูงถึง 90 ปี และมีความชุกของประชากรอายุยืนที่มีสุขภาพดี โดยทำการวิจัยปัจจัยด้านพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมอย่างครอบคลุม รวมทั้งใช้วิธีวิจัยที่หลากหลาย

สังคมสูงอายุ
ศาสตราจารย์ซัลวาตอเร ดิ ซอมมา (ซ้าย) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ มหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งโรม ประเทศอิตาลี ที่มา: Facebook drdancando

ทั้งการตรวจวัดตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ความเสี่ยงโรคหัวใจ สมรรถนะทางร่างกายและสมอง สุขภาพจิต พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การนอน การออกกำลังกาย ความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นต้น

ผลการศึกษาในซิเลนโตพบว่า คนอายุยืนเป็นพิเศษมีตัวชี้วัดด้านสุขภาพกาย สุขภาพสมอง และสุขภาพจิตที่ดี และมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและมะเร็งต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างควบคุมที่มีอายุน้อยกว่า หรืออยู่ในพื้นที่อื่น

โดยมีหลายปัจจัยที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ ได้แก่ การรับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียน การไม่สูบบุหรี่ การทำงานหนัก ความยืดหยุ่นทางจิตวิทยา การมองโลกในแง่ดี ความผูกพันกับครอบครัวและศาสนา ปัญญาและความเข้าใจชีวิต ความต้องการควบคุม และความรักต่อผืนแผ่นดิน ซึ่งทำให้ผู้สูงวัยมีจุดมุ่งหมายในชีวิต

ผมหวังว่าผลการวิจัยคนอายุยืนในประเทศไทย เป็นข้อค้นพบที่จะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในบริบทของไทย ในขณะเดียวกัน ผลการศึกษาจะถูกนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลการวิจัยคนอายุยืนในต่างประเทศด้วย เพื่อค้นหาปัจจัยร่วมที่ทำให้คนอายุยืน สุขภาพดี และมีความสุข

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by jcomp on Freepik