Tuesday, April 1, 2025
ArticlesColumnistDr.Kriengsak ChareonwongsakSustainability

ไทยถังขยะโลก – สารพัดสารพิษทุกชนิด บทเรียนกรณีแคดเมียม

แคดเมียม

ผู้เขียนขอร่วมวิเคราะห์ปัญหาการจัดการสารพิษในประเทศไทย พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวข้ามบทบาทการเป็นถังขยะโลก

.

ทุกสารบนโลกนี้มีประโยชน์หากใช้อย่างเหมาะสม แต่หากใช้เกินความจำเป็นหรือไม่ถูกวิธี ย่อมก่อให้เกิดโทษต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ การรบกวนธรรมชาติมากเกินไปอาจนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรง เช่น การขุดน้ำมันเกินขอบเขตอาจทำลายโครงสร้างธรรมชาติ หรือการใช้ถ่านหินในปริมาณมากก็ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน น้ำแข็งละลาย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างพอดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ

แต่ทว่า ประเด็นมิได้อยู่เพียงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้พอดี เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการใช้สารเคมีของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ก็กำลังส่งผลกระทบระยะยาวต่อธรรมชาติและสุขภาพมนุษย์ เช่น การใช้สารเคมีในการเกษตรทำให้ดินปนเปื้อนสารพิษ ซึ่งสะสมในพืชผัก 

และเมื่อบริโภคเข้าไปก็ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว สารพิษเหล่านี้ยังคงวนเวียนในดิน น้ำ และอากาศ สร้างวัฏจักรของการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของมนุษย์เอง

ผมเชื่อว่าทุกคนต้องการประเทศที่ผู้คนบริโภคอาหารปลอดภัย มีอากาศบริสุทธิ์ ดินและน้ำสะอาด แต่ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาจากพฤติกรรมที่ขาดความรอบคอบของมนุษย์ ส่งผลให้ดิน น้ำ และอากาศปนเปื้อนสารพิษ อันเป็นอันตรายต่อชีวิต 

เหตุการณ์ต่างๆ เช่น การสูญหายของซีเซียม -137 ในปราจีนบุรี การปนเปื้อนสารเคมีในดินป่าดงซี น้ำมันรั่วจากเรือขนส่ง น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาขยะที่ก่อให้เกิด PM 2.5 ล้วนสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างล่าสุดที่เป็นประเด็นร้อนในชั่วข้ามคืนคือ กรณีการหายไปของกาก แคดเมียม จากพื้นที่ฝังกลบในจังหวัดตากกว่า 13,832 ตัน เมื่อชาวบ้านในพื้นที่รวมถึงคนไทยทั่วประเทศได้รับทราบข่าวว่า มีการเปิดบ่อเพื่อขุดเอากากแคดเมียมออกมาขาย 

บทความโดย: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

สิ่งที่น่าสนใจคือ กากแคดเมียมที่หายไปนี้กลับถูกตรวจพบในหลายพื้นที่ รวมถึงจังหวัดสมุทรสาครและชลบุรี คำถามที่เกิดขึ้นคือ เหตุใดกากแคดเมียมซึ่งเป็นสารอันตราย จึงสามารถกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ ในเมื่อแคดเมียมไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยตัวเอง?

เราจะมาร่วมวิเคราะห์ปัญหานี้และเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

1. ปัญหาที่เกิดขึ้น
1.1 จุดอ่อนของการบังคับใช้กฎหมาย

หากพิจารณาจากกระบวนการขนย้ายแคดเมียม นับว่าผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง กระบวนการขนส่งที่ถูกต้องต้องมีใบอนุญาต ขออนุญาตตามกระบวนการ มีตราสัญลักษณ์ประจำรถขนส่งเฉพาะ พร้อม GPS ติดรถ ส่วนกรณีนี้คือ การลักลอบขนย้าย ซึ่งกำลังสะท้อนว่ากฎหมายมีช่องโหว่ หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง 

1.2 ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมกำลังวิกฤต 

ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมไทยกำลังวิกฤต พิจารณาจากการประกอบกิจการกำจัดกากอุตสาหกรรมในประเทศ หากไม่มีการแจ้งประกอบกิจการ จะไม่มีการตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก เมื่อไม่มีการตรวจสอบ จึงกลับกลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการลักลอบทำสิ่งผิดกฎหมายได้ง่าย

1.3 ผู้ประกอบการแสวงหาผลประโยชน์

ผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีนี้พยายามเพิ่มมูลค่าให้กากแคดเมียม โดยการนำไปหลอม เพราะยิ่งหลอมได้ความบริสุทธิ์ของแคดเมียมมากขึ้น จะยิ่งขายได้ราคาดี 

ซึ่งแคดเมียม 1 ตัน ราคาสูงนับแสนบาท พฤติกรรมเช่นนี้กำลังสะท้อนว่า ผู้ประกอบการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่า การตระหนักถึงผลกระทบต่อส่วนรวม 

1.4 เจ้าหน้าที่ไม่รับผิดชอบ แต่จะแก้ปัญหาเมื่อเป็นกระแส

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ไม่ทราบถึงการขนย้ายกากแคดเมียมได้อย่างไร อีกทั้งยังไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดตั้งแต่ต้นทางว่า มีการเปิดหลุมฝังแคดเมียมขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และเหตุใดจึงไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนถึงวิธีการป้องกันตนเองจากสารเคมีอย่างเป็นรูปธรรม

การแก้ไขปัญหาดูเหมือนจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อสื่อมวลชนเริ่มทำงาน และประเด็นนี้กลายเป็นข่าวที่แพร่สะพัดทั่วประเทศ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา เนื่องจากประชาชนทั้งประเทศกำลังจับตามองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด

1.5 แคดเมียมเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

แคดเมียม เป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก โดยถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมและมีราคาเติบโตอย่างต่อเนื่องใน 3 สาขาอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การผลิตแบตเตอรี่ที่ให้พลังงานสูงกว่าลิเธียม การชุบโลหะเพื่อเพิ่มความต้านทานต่อการกัดกร่อน และการผลิตเม็ดสีที่ให้สีสดและทนทานต่อแสง 

ตามรายงานของ Report and Data คาดว่าขนาดตลาด แคดเมียม โลกจะมีมูลค่าถึง 44.53 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2024 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 4.23% และจะมีมูลค่าตลาดถึง 64.65 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2033 ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายบางกลุ่มพยายามลักลอบหลอมแคดเมียมเพื่อนำไปขายต่อ 

2. ข้อเสนอแนะ

การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นกรณีลักลอบขนและหลอมแคดเมียมขึ้นอีก เราควรมีมาตรการและระบบการจัดการที่ครอบคลุม โดยศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ เช่น กรณีโรงงานระเบิดที่ Chempark เยอรมนี ซึ่งมีการแจ้งเตือนประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน NINA หรือกรณีสึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ที่มีการใช้หุ่นยนต์ในการเก็บกู้แท่งปฏิกรณ์และบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ผมจึงมีข้อเสนอสำหรับประเทศไทย ดังนี้

2.1 การพัฒนาระบบจัดการขยะอย่างเป็นระบบ

เริ่มต้นจากการกำหนดโซนพื้นที่จัดการขยะอย่างเหมาะสมเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเลือกพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนและแหล่งน้ำ พร้อมทั้งมีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการฟื้นฟูดิน น้ำ และอากาศทั่วประเทศที่มีการปนเปื้อนของสารอันตราย 

ประเทศไทยควรพัฒนานโยบาย กิจกรรม และเครื่องมือในการจัดการขยะแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิด Ultimate Zero Waste ตามหลักของผม 11 R ได้แก่ Reduce (ลดขยะ) Reuse (ใช้ซ้ำ) Refill (เติมในบรรจุภัณฑ์เดิม) Return (ส่งคืนเพื่อรีไซเคิล) Repair (ซ่อมแซม) Replace (ใช้ผลิตภัณฑ์ยั่งยืนทดแทน) Recycle (รีไซเคิล) Renovate (ปรับปรุง) Reconstitute (ประกอบใหม่) Reform (ปฏิรูปกระบวนการ) และ Revolve (สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน)

2.2 การพัฒนากฎหมายและมาตรการควบคุมขยะ

การพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายการแยกขยะอย่างเข้มงวดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กฎหมายควรครอบคลุมทุกมิติ เช่น การออกใบอนุญาตด้านสารพิษ การติดตามและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันช่องโหว่ในการทำผิดกฎหมาย 

นอกจากนี้ ควรจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดการกับปัญหาสารพิษและคดีสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

2.3 การบูรณาการการใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม 

การนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI มาใช้ในโรงงานกำจัดขยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแยกและรีไซเคิล ลดความผิดพลาดในการดำเนินงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Zero Waste ที่มุ่งเน้นการลดขยะให้เป็นศูนย์ ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและหมุนเวียนในกระบวนการผลิต

2.4 การสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมจากประชาชน

การผลักดันความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมจากประชาชนสามารถทำได้โดย การเผยแพร่ข้อมูลเรียลไทม์เกี่ยวกับสารพิษและการจัดการขยะ เช่น รายละเอียดการขนย้ายสารเคมี เวลาในการขนย้าย จุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง รวมถึงแนวทางการเตรียมตัวสำหรับประชาชน ข้อมูลที่ชัดเจนจะช่วยให้ประชาชนติดตามข่าวสารและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.5 การรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักเรื่องขยะ 

ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันสร้างความรับผิดชอบที่ชัดเจน ทั้งการจัดการกับการทุจริต การรับสินบน ในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ การพัฒนาองค์กรธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม การสนับสนุนภาคประชาชนให้มีพลังในการตรวจสอบและกดดันผู้ที่ทำผิดกฎหมาย 

รวมทั้งการกระตุ้นและสร้างวัฒนธรรมให้ประชาชนใช้ชีวิตด้วยความรับผิดชอบและตระหนักถึงการจัดการขยะอย่างจริงจัง การสร้างนิสัยการแยกขยะ และการลดการสร้างขยะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในระยะยาว

วันนี้เราต้องการให้ประเทศไทยก้าวข้ามบทบาทการเป็นถังขยะโลก โดยมุ่งสู่อนาคตที่ดีกว่าด้วยการเป็นโรงแยกขยะโลกและจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากตนเอง ขยายผลสู่ ชุมชน สังคม และประเทศชาติไปพร้อมกันครับ

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by freepik