“ขอชี้ให้เห็นถึง ความสำคัญที่ประเทศไทยควรเร่งพัฒนาและส่งเสริม หัวหิน ให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพดี อายุยืน (GoldenZone) พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ที่จะทำให้หัวหิน เดินไปสู่จุดนั้นได้
ปัจจุบันการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์และระบบสาธารณสุข ทำให้อายุขัยเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปี 1840 เป็นต้นมา อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เดือน ในทุกปี
ทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นจากประมาณ 40 ปี เป็นใกล้ 80 ปี เนื่องจากมนุษย์สามารถเอาชนะการป่วยและตายจากโรคได้ดีขึ้น แม้คนที่มีอายุยืนเกิน 100 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ยังมีน้อยกว่าร้อยละ 0.01 ของประชากรโลก และมีสุขภาพไม่แข็งแรง
ผมจึงเกิดคำถามว่า แท้จริงแล้ว….ขีดจำกัดของอายุขัยของมนุษย์ อยู่ที่กี่ปี? ในอดีตมีบันทึกในหลายพื้นที่ว่ามนุษย์มีอายุหลายร้อยปีแต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ งานวิจัย ที่วิเคราะห์อัตราการเสื่อมของอวัยวะตามอายุ ระบุขีดจำกัดของอายุขัยที่ประมาณ 120 ปี
การทดสอบเลือดของประชากร 5 แสนคน และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ พบว่า อายุขัยทางชีววิทยา (biological age) สูงสุดของมนุษย์อยู่ระหว่าง 120-150 ปี และมีการอ้างอิงจากอายุของมนุษย์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลกเท่าที่มีหลักฐานการบันทึกที่น่าเชื่อถือในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คือ Jeanne Calment ซึ่งมีอายุ 122 ปี 164 วัน
ผมจึงเชื่อว่า ขีดจำกัดของอายุขัยมนุษย์ที่น่าจะเป็นไปได้ อยู่ที่ 123 ปี ผมจึงให้เป้าหมายการมีชีวิต 123 ปี ที่ประกอบด้วย 3 คำ “ยืนยาว แข็งแรง มีความสุข”
ปีที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอแนวคิดการทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาว มีสุขสภาพดี และมีความสุข ที่เรียกว่า GoldenZone (จาก หนังสือสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ : สุขสถานะของศตวรรษิกชน)คือ พื้นที่ที่มีคนอายุ 123 ปี แห่งแรกในโลก โดยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 100 ปีขึ้นไป (Centenarian) 110 ปีขึ้นไป (Supercentenarian) และ 120 ปีขึ้นไป (Ultracentenarian) สูงกว่าพื้นที่อื่น
โดยวัตถุประสงค์การจัดประเภท เพื่อให้ครอบคลุมระดับการพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศที่สนับสนุนให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น แข็งแรง และมีความสุข ไปสู่จุดสูงสุดของขีดจำกัดมนุษย์
เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น GoldenZone ผมเสนอว่า ประเทศไทยควรพัฒนาบางพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยพื้นที่ที่เหมาะสมในความเห็นผม คือ “หัวหิน” เนื่องจาก
1) รัฐบาลมีนโยบาย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Thailand Wellness Sandbox) ให้หัวหินและชะอำให้เป็นที่รู้จักระดับโลก
2) คนหัวหินมีสุขสภาพแข็งแรงดี เป็นพื้นฐาน โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 100 ปีขึ้นไป 0.42 คน ต่อประชากรผู้สูงอายุ 100 คน สูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ
3) อาหารดี หัวหินเป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลาย ทั้งอาหารทะเล โดยเฉพาะปูม้า (ที่อร่อยที่สุดในโลก) ไม้ผล โดยเฉพาะสับปะรด มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าวทับสะแก และทุเรียนป่าละอู
4) อากาศดี หัวหินได้รับลมบกและลมทะเล อากาศไหลเวียนตลอด ไม่ร้อน อ้างอิงสมมติฐานจาก “Blue Zone” ทั้งหมดอยู่ใกล้ทะเล อาจมีแร่ธาตุในดิน น้ำ ผลผลิตที่ทำให้อายุยืน
5) สิ่งแวดล้อมดี หัวหินมีพื้นที่สีเขียว เส้นทางออกกำลังกาย อากาศดี เพราะรูปร่างเมืองยาว ขนานชายฝั่ง รับลมบกและลมทะเลตลอดเวลา
6) บริการและกิจกรรมเชิงสุขสภาพดี มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสุขภาพ อาทิ สปา นวดแผนไทย การแพทย์แผนไทย สมุนไพร สนามกอล์ฟ และรีสอร์ทเพื่อสุขสภาพ ที่มีชื่อเสียงและคุณภาพสูง เช่น ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท
7) ที่ตั้งดี หัวหินระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครและมีระบบคมนาคมทุกโหมด เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงในอนาคต สนามบินในอนาคต และท่าเรือเฟอร์รี่
8) ตำแหน่งทางการตลาดดี ดัชนี Global Retirement Index ของอินเทอร์เนชันแนล ลิฟวิง ปี 2022 จัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย โดย กรุงเทพ เชียงใหม่ และหัวหิน เป็น 3 เมืองที่เป็นเป้าหมายของชาวต่างชาติที่ต้องมาใช้ชีวิตหลังเกษียณ เนื่องจากค่าครองชีพที่ถูก อาหารอร่อย และผู้คนเป็นมิตร
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผมจึงนำเสนอยุทธศาสตร์รังสรรค์หัวหินสู่เมืองแห่งสุขภาพดี อายุยืน ไว้หลายประการ ดังนี้
1. พัฒนาคนให้มีความรู้ด้านอายุยืนยาว (Longevity Literacy)
สร้างองค์ความความรู้ ความตระหนัก การเห็นคุณค่าชีวิตที่ยืนยาว พฤติกรรม วิถีชีวิต ที่เอื้อต่อการมีอายุยืนยาว สำหรับทุกวัย มีการพัฒนาองค์ความรู้ หรือออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับการพัฒนาองค์ความรู้ แนวทางการปฏิบัติ รวมทั้งวิธีการใช้ชีวิตที่ทำให้คนมีชีวิตยืนยาว แข็งแรง และมีความสุข
2. พัฒนาองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านอายุยืนยาว (Longevity)
ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์และสุขสภาพ (Wellness) ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน longevity ตั้งสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญ โดยมีการศึกษาวิจัยที่ครอบคลุมทั้ง ปัจจัยด้านชีววิทยาของมนุษย์ ปัจจัยเชิงพฤติกรรม โมเดล 12อ. ประกอบด้วย (จาก หนังสือสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ : สุขสถานะของศตวรรษิกชน)
1) อาหาร 2) อุทกคุณ: ของเหลวที่เป็นคุณ 3) โอโซนคุณะ: อากาศสะอาดที่เป็นคุณ 4) ออกกำลัง 5) อาจม: การขับถ่ายที่เป็นคุณ 6) อนามัย 7) อารมณ์ 8) อบอุ่นสัมผัส-โอบกอด 9) ออแกสซึ่ม: กิจกรรมที่ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข 10) อัคคนิทรา: การนอนหลับ 11) อานิกลักษณ์ (Loving Relationship) 12) อารยชีวลักษณ์-อารยฉลักษณ์ (Life Long Araya Life)
และปัจจัยเชิงมหภาค เช่น เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี สาธารณสุข และการเมือง เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความยืนยาวของชีวิต
3. พัฒนาด้านการกินอาหารให้อายุยืน Hua Hin Diet
มีการพัฒนาด้านการกินอาหาร คล้ายกับการกินแบบชาวโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น (Okinawa Diet) หรือ การกินแบบชาวแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Diet) ซึ่งเป็นแนวทางการกินอาหารที่ทำให้อายุยืน แข็งแรง ที่มีชื่อเสียง โดยผมได้เสนอแนวคิด โมเดล 4 G&G ยุทธศาสตร์อาหารเพื่อสุขสภาพ (Food Wellness) อาทิ
ด้านที่ 1 Green and Germless Food อาหารไร้/ปลอดสารพิษ และไร้เชื้อโรค
ด้านที่ 2 Gratis and Geriatric Food อาหารป้องกัน รักษาโรค เหมาะแม้สำหรับวัยชรา
ด้านที่ 3 Gourmet and Gastronomic Food อาหารเลิศและอร่อย
ด้านที่ 4 Greed and Grab Food อาหารราคาถูกคุ้มค่า และเข้าถึงง่าย
รวมถึงมีการพัฒนา ห่วงโซ่อุปทานอาหารปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานการผลิตอาหารรองรับ และมีราคาไม่แพง วัดคุณภาพเมนูอาหารโดยใช้มาตรฐาน 4 G&G รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนาผลผลิตเจาะจงเฉพาะด้าน เฉพาะกลุ่มคน ตลอดจนพัฒนาเป็นโปรแกรมการรับประทานอาหาร เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพ เป็นต้น
4. การพัฒนาเมืองแบบ Natural Exercise
การออกแบบเมืองที่เอื้อให้เกิดการออกกำลังกายโดยธรรมชาติ หรือที่ผมเรียกว่า “Natural Exercise” โดยออกแบบเมืองให้มีทางเท้าที่สะดวก สบาย สวยงาม และร่มเย็น เหมาะสำหรับเดินหรือวิ่ง โดยทุกพื้นที่มีเลนสำหรับจักรยาน มีจุดจอดที่ปลอดภัย บริการจักรยานสาธารณะให้กับนักท่องเที่ยวได้ปั่นท่องเที่ยวชมเมือง และพัฒนาพื้นที่กิจกรรม ออกกำลังกาย ลานกีฬา ประจำวันในการลดความเครียดในชีวิต
5. พัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุ (Silver Economy)
ถ้าหัวหินจะเป็น “GoldenZone” ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ การมีงานทำของผู้สูงอายุ การเตรียมด้านการเงินสำหรับการเกษียณอายุที่ยาวนานขึ้น รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการและความจำเป็นสำหรับผู้สูงวัย ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เป็นต้น
6. พัฒนาโครงสร้างสังคมและชุมชน (Longevity Wellness)
โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “หัวหิน” ให้มีชุมชนที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์อยู่เสมอ ไม่รู้สึกเหงา หรือโดดเดี่ยว อาจใช้ชมรมเชื่อมความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง (Fraternity Unit) ให้ผู้สูงอายุมาพบปะกัน หรือสร้างชมรมผู้สูงอายุสร้างชาติ และมีการสร้างวัฒนธรรมให้เกียรติยกย่องผู้สูงอายุ (Centenarian Icon) โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของผู้สูงอายุ ทำให้คนสูงอายุยังรู้สึกว่าชีวิตยังมีคุณค่า
ผมเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ประเทศไทยควรเร่งพัฒนาและส่งเสริม “หัวหิน GoldenZone” เป็นเมืองแห่งสุขภาพดี อายุยืน หากการผลักดันนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นเหมือนตราที่ช่วยรับรองความเป็นเมืองหลวงโลกทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะด้านการอภิบาลคนชราและด้านสุขสภาพ
ซึ่งเป็นโอกาสดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้สนใจเข้ามาทำงาน อยู่อาศัย ท่องเที่ยว ลงทุน และใช้ชีวิตวัยเกษียณมากขึ้น นอกจากจะสร้างรายได้เข้าประเทศ ยังเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการรักษาความเจ็บป่วยและดูแลคนชรา และการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการผู้สูงอายุ ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรมเปลี่ยนเป็น ‘City of Health’ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายการมีชีวิต 123 ปี “ยืนยาว แข็งแรง และมีความสุข” ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า เต็มศักยภาพสูงสุดของชีวิต
อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
Featured Image: Image by Wiroj Sidhisoradej on Freepik