Thursday, November 21, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

แนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป

ASEAN

ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นเรื่อง แนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป 4 ประการ โดยอาศัยคำถาม อย่างไร เป็นแนวทางการสร้างความร่วมมือ

าเซียนและสหภาพยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลก และมีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเป็นทางการมายาวนาน และในอนาคตต่อไปทั้ง 2 ภูมิภาคมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความร่วมมือระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เนื่องจาก สภาวะภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติความสัมพันธ์ของอาเซียนและยุโรปยังไม่แน่นแฟ้นอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าในทางเศรษฐกิจปัจจุบัน อาเซียนและสหภาพยุโรปต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน แต่ข้อตกลงระหว่างชาติในสหภาพยุโรปกับอาเซียน ส่วนมากเกิดขึ้น ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของภูมิภาคต่อภูมิภาค แต่เป็นการเจรจาในระดับประเทศเท่านั้น

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ที่ผ่านมาการสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปมีอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ความห่างกันทางภูมิศาสตร์ ไปจนถึง ความแตกต่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และ ความต่างกันในเรื่องโครงสร้างและระเบียบขององค์กรระหว่างประเทศ กล่าวคืออาเซียนไม่มีกฎความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกที่ชัดเจนเหมือนอย่างสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้อาเซียนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาเซียนและสหภาพยุโรปเห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน จึงมีการพูดคุย มีแผนและข้อตกลงร่วมกันใน ASEAN-EU Strategic Partnership (2023-2027) ซึ่งครอบคลุมหลายด้าน เช่น ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น

ซึ่งดูเหมือนว่าการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันของอาเซียนและสหภาพยุโรป ให้น้ำหนักมากในเรื่องจะร่วมมือกันในเรื่อง “อะไร?” แต่ยังขาดแนวทางที่จะร่วมมือกันให้เข็มแข็งขึ้นได้ “อย่างไร?” ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ไว้ อย่างน้อย 4 ประการ คือ

1. ผลักดันให้เกิดภาคปฏิบัติร่วมกัน (Joint Action)

ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่าง ASEAN และสหภาพยุโรปจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองเริ่มร่วมมือกันในเรื่องเล็กๆ ที่ทั้งคู่มีความเห็นตรงกัน เพื่อสร้างความไว้วางใจ และค่อยๆ พัฒนาความร่วมมือไปในเรื่องที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ความแตกต่างในเรื่องบรรทัดฐานของแต่ละภูมิภาคไม่เป็นประเด็นในการสร้างความแตกแยกและความไม่พอใจในกันและกันโดยไม่จำเป็น

ความสัมพันธ์ที่ดีควรมีความยืดหยุ่นและเฉพาะเจาะจง อันให้ความสำคัญกับประเทศหรือองค์กรที่มีเป้าหมายใกล้เคียงกับประเทศต้นทางเป็นพิเศษ เป็นการสร้างพื้นที่และความสบายใจให้กับทุกฝ่าย โดยต่อยอดจากความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว ผ่านการตั้งแพลตฟอร์มทำงานร่วมกันระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป

เช่น กลไกสำหรับรวบรวม แบ่งปัน เผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดี (best practice) ในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดการโรคระบาด, การแก้ไปปัญหาความยากจน, การพัฒนาเทคโนโลยี/ นวัตกรรม หรือ การตั้งศูนย์อาเซียน-อียู ศึกษาในไทย ศึกษาประเด็นความร่วมมืออาเซียน อียู เป็นต้น

2. ริเริ่มกำหนดและพัฒนาตัวชี้วัดผลลัพธ์ที่ต้องการร่วมกัน (Joint Outcome)

ความเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ของสหภาพยุโรปมีลักษณะต่างกัน และเกิดขึ้นในลักษณะเฉพาะกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดเกณฑ์ และ ตัวชี้วัดที่ชัดเจน ดังนั้นผมจึงคิดว่าไทยควรเป็นผู้ริเริ่มการใช้ตัวชี้วัดที่ไม่ใช่แค่วัดว่ามีการดำเนินการอะไรบ้าง แต่ต้องมีการวัดผลจากความร่วมมือที่ต้องการให้ชัดเจน เป็นตัวชี้วัดเป้าหมายร่วมกันระหว่างภูมิภาค เช่น ความยากจนที่ลดลง, รายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

3. เป็นแกนนำในการตั้งกลุ่มดำเนินการร่วมกัน (Joint Group)

เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ทั้ง 2 องค์กรควรตั้งวิสัยทัศน์ และวางแผนนโยบายตามหลักความเป็นจริง สอดคล้องกับขีดจำกัด ไม่ใช่หลักค่านิยมหรือแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การจัดตั้งกลุ่มร่วม (joint group) ระดับภูมิภาคเพื่อทำงานร่วมกัน เช่น ตั้งทีมเฉพาะกิจระดับภูมิภาค (Regional Task Force) ด้านการวิจัยและพัฒนา ผลิตนวัตกรรมที่ต้องการของโลก เป็นต้น

4. สร้างอุดมการณ์ร่วมกัน (Joint Ideology)

อุปสรรคของความร่วมมือในทุกเรื่องนั้น ลึกที่สุดเป็นเรื่องของอุดมการณ์ที่ไม่ตรงกัน การสร้างอุดมการณ์ร่วมกันให้เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ผมจึงได้ริเริ่ม สถาบันการสร้างชาติ เพื่อสร้างอุดมการณ์ให้คนในชาติไทย เห็นแก่ส่วนรวม สร้างชาติโดยการร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ปัจจุบันมีสถาบันการสร้างชาตินานาชาติ ทำหน้าที่ปลูกฝังอุดมการณ์ และแพร่ขยายไปถึง มาเลเซีย – สถาบันการสร้างชาติมาเลเซีย

ในอนาคตจะมีการแพร่ขยายไปทั่วทุกประเทศในอาเซียนและทั่วโลก ผมจึงเสนอให้มีจัดตั้งสถาบันการสร้างชาติในประเทศต่างๆ ทั่วทั้งอาเซียน และ สหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมให้เกิดอุดมการณ์ร่วมกัน ในการสร้างประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน เป็นอุดมการณ์ร่วมกัน

นอกจากนี้ผมยังพยายามผลักดันให้เกิด มหาวิทยาลัยชาตินานาชาติเพื่อการสร้างชาติ (Nation-Building International University – NBIU) ซึ่งสหภาพยุโรปและอาเซียนสามารถร่วมกันจัดตั้ง NBIU ในประเทศไทย โดยมีอาจารย์จากทั่วอาเซียนและยุโรปมารวมตัวกันเพื่อศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับการสร้างชาติ ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อ สหภาพยุโรปและอาเซียน เป็นต้น

ในอนาคตโลกจะมีลักษณะแห่งความโกลาหล ประเทศต่างๆ ในโลก จะได้รับโอกาส หรือ ต้องเผชิญวิกฤตข้ามพรมแดนมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ไม่สามารถจัดการเบ็ดเสร็จได้ด้วยกลไกในระดับประเทศ เป็นโอกาสดีที่ไทยควรใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและภูมิภาค โดยผมมั่นใจว่าไทยสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมที่ดีระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียนได้

เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอียูมายาวนาน นอกจากนี้ไทยยังมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีระดับการพัฒนาอยู่ในแนวหน้าของอาเซียน อีกทั้งมีความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์เพราะนอกจากจะตั้งอยู่บนพื้นแผ่นดินใหญ่ของทวีปแล้ว ยังมีพรมแดนติดกับประเทศอื่นในอาเซียนมากที่สุดอีกด้วย

Featured Image: Image by katemangostar on Freepik