Tuesday, September 17, 2024
NEWS

ดีพร้อมจับมือเดลต้า อัดฉีดเงินทุนหนุนธุรกิจสตาร์ทอัพไทย

ดีพร้อมจับมือเดลต้า อัดฉีดเงินทุนหนุนธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ภายใต้โครงการ DIPROM x DELTA ANGEL FUND ปี 9 ปรับฐานสตาร์ทอัพไทย สู่ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมระดับประเทศ

รมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อัดฉีดเงินทุนหนุนสตาร์ทอัพไทยปรับฐานสตาร์ทอัพไทย สู่ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมระดับสากล ภายใต้โครงการ “DIPROM x DELTA ANGEL FUND 2024”

ซึ่งในปีนี้ นับเป็นปีที่ 9 ที่ DIPROM และ DELTA ได้ร่วมมือกันพัฒนาความรู้และทักษะการดำเนินธุรกิจให้แก่ Startup รวมถึงสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อันจะนำไปสู่การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและประเทศต่อไป โดยในปีนี้ได้มอบเงินทุนจำนวน 10 ทีม รวมเงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้น 5,000,000 บาท

พร้อมโชว์นวัตกรรม อาทิ อากาศยานไร้คนขับขึ้นลงแนวดิ่งประสิทธิภาพสูง, วัสดุดูดซับและห้ามเลือดรูปแบบฟองน้ำที่ทำจากพอลิเมอร์ธรรมชาติ, แพลตฟอร์มไมโครอาเรย์แบบละลายได้สำหรับการนำส่งยา, อุปกรณ์ช่วยพลิกตัวอัตโนมัติเพื่อป้องกันแผลกดทับ และ อุปกรณ์ AI Audiologist สำหรับการคัดกรอง วิเคราะห์ และแนะนำการได้ยิน รวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในปีนี้กว่า 80 ล้านบาท

ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ DIPROM มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้น จึงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเริ่มต้นใหม่ หรือสตาร์ทอัพ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งได้ร่วมมือกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในโครงการ “DIPROM x DELTA ANGEL FUND” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9

โดยยังคงมุ่งเน้นให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้น ด้วยการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในระยะเวลาจำกัด การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์

รวมทั้งส่งต่อนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปยังภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการดำเนินธุรกิจในภาพรวม โดยในปี  2567 นี้ทางโครงการได้เพิ่มเติมหัวข้อการใช้นวัตกรรมในรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และอยู่ในสาขา Deep Technology และ Soft Power เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการพัฒนา และยกระดับธุรกิจ ให้สามารถแข่งขันได้ในปัจจุบัน โดยมี 10 ทีมที่มีนวัตกรรมโดดเด่นและมีศักยภาพในการเติบโต อาทิ

• อากาศยานไร้คนขับขึ้นลงแนวดิ่งประสิทธิภาพสูง: เทคโนโลยีโดรนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ตอบสนองความต้องการในด้านการพัฒนาธุรกิจ อาทิ โดรนขนส่งเวชภัณฑ์เพื่อเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล โดรนเฝ้าระวังพื้นที่ป้องกันการบุกรุก เป็นต้น

• วัสดุดูดซับและห้ามเลือดรูปแบบฟองน้ำจากพอลิเมอร์ธรรมชาติ: นวัตกรรมที่สามารถหยุดการไหลของเลือดและเร่งกระบวนการหายของแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีศักยภาพในการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์

• แพลตฟอร์มไมโครอาเรย์สำหรับการนำส่งยา: เทคโนโลยีที่สามารถนำส่งยาในระดับไมโคร ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์

• อุปกรณ์ช่วยพลิกตัวอัตโนมัติเพื่อป้องกันแผลกดทับ: อุปกรณ์ที่ช่วยพลิกตัวผู้ป่วยอัตโนมัติเพื่อลดความเสี่ยงของแผลกดทับ ซึ่งจะช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา

• อุปกรณ์ AI Audiologist สำหรับการคัดกรองและวิเคราะห์การได้ยิน: เทคโนโลยี AI ที่ช่วยในการวิเคราะห์การได้ยินและให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน

วิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

วิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การสนับสนุนสตาร์ทอัพเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของบริษัทเรา เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจสตาร์ทอัพบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนวัตกรรมของประเทศ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานเอกชนที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เรามองเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกับภาครัฐเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ

โดยการเข้าร่วมในโครงการ “DIPROM x DELTA ANGEL FUND” ในปีนี้ เราได้มอบเงินสนับสนุนให้กับ 10 ทีมที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน จำนวน 5,000,000 บาท

การสนับสนุนของเรามุ่งเน้นไปที่การให้ทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาด รวมถึงการเสริมสร้างทักษะการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก

เราเชื่อว่า การร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐในโครงการนี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการลงทุนที่มีคุณค่าต่ออนาคตของธุรกิจไทย โดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาของธุรกิจสตาร์ทอัพและ SMEs ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 207 ทีม (จากทั้งหมด 415 ทีม) รวมมูลค่ากว่า 33.16 ล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2564 บริษัท สามารถคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมสนับสนุนทุนให้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 25 ทีม รวมมูลค่า 580,000 บาท ซึ่งการสนับสนุนเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพและกระตุ้นการเติบโตของนวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย