Thursday, November 21, 2024
5GDigital TransformationNEWSThailand4.0

DES จัดงาน Thailand 5G Summit 2022 ผลักดัน 5G สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำคัญของไทย

DES และ DEPA ร่วมมือ หัวเว่ย, GSMA-APAC จัดงาน Thailand 5G Summit 2022: The 5G Leader in the Region พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุน และประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่รองรับการใช้ประโยชน์จาก 5G

ายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน Thailand 5G Summit 2022 ภายใต้แนวคิด The 5G Leader in the Region ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตร ผลักดัน 5G สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำคัญของไทย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ผ่านการแสดงศักยภาพและความพร้อมเชิงพาณิชย์ รวมถึงการสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยี 5G

เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศสู่ ASEAN Digital Hub พร้อมประกาศการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G ในประเทศ คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากงานไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาและนิทรรศการในชื่อ Thailand 5G Summit 2022 ภายใต้แนวคิด The 5G Leader in the Region ที่จัดโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ Global System for Mobile Communications Association (GSMA) APAC 5G Industry Community

ผลักดัน 5G สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำคัญของประเทศ

สำหรับงาน Thailand 5G Summit 2022: The 5G Leader in the Region มีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดัน 5G สู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำคัญของประเทศ โดยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการลงทุนเพื่อการประยุกต์ใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub)

มุ่งเน้นการแสดงศักยภาพและความพร้อมในแต่ละภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการขับเคลื่อนเชิงพาณิชย์ (Use Case) รวมถึงการสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยี 5G พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง

ทำให้ทุกภาคส่วนพร้อมใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจของกลุ่มเทคโนโลยี 5G ของไทย และผลักดันให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G (Thailand 5G Alliance) เพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในอนาคต

ประเทศก้าวหน้าเพราะความร่วมมือ

โดย พลเอก ประยุทธ์ กล่าวบนเวทีปาฐกถาพิเศษหัวข้อ The 5G Leader in the Region ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลฯ วางกรอบนโยบายการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ของประเทศ เพื่อบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่รองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ บนโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้ประชาชน และต่อยอดการใช้งาน รวมถึงการส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

อีกทั้งมุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานเช่นการจัดงานในครั้งนี้ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนระดับโลกอย่าง หัวเว่ย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของไทยไปสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ พร้อมก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ

“Thailand 5G Summit 2022 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่รองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ของไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของดิจิทัลสตาร์ทอัพและกำลังคนดิจิทัลของประเทศ รวมถึงการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล”

“พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุน และประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่รองรับการใช้ประโยชน์จาก 5G ในภูมิภาคอย่างแท้จริง ทั้งนี้ทางรัฐบาลต้องขอบคุณสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงหัวเว่ย เป็นอย่างยิ่ง ที่ผลักดันให้เกิดพันธมิตรด้าน 5G ขึ้น ผมเชื่อว่าด้วยความร่วมมือของพันธมิตรจะสามารถนำประเทศไทยสู่ผู้นำด้าน 5G ได้อย่างแน่นอน” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

ประกาศการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G ในไทย

จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ ยังเป็นประธานในพิธีประกาศการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย โดย ดีป้า และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสมาคมในภาคอุตสาหกรรม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (True) สมาคมไทยไอโอที และ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ทั้งการยกระดับประสิทธิภาพระบบให้บริการด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย การศึกษา การขนส่ง การบริหารจัดการโรงงาน และการเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพ

งานใหญ่ของ DES และ DEPA

ด้าน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลนับเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งแนวโน้มพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล

โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะถูกนำไปใช้พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดงาน Thailand 5G Summit 2022 ขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก หัวเว่ย

“กระทรวงดิจิทัลฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า งาน Thailand 5G Summit 2022 จะช่วยเปิดโอกาสด้านดิจิทัลให้กับภาคธุรกิจและภาคประชาชน แสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศในการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ดิจิทัลต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย”

“ตลอดจนการพัฒนากำลังคนดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพแก่ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุน และประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ของภูมิภาคต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

งาน 5G Summit สร้างมูลค่า 5 พันล้าน

ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า เทคโนโลยี 5G ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญ ด้วยความสามารถในการเป็นโครงข่ายไร้สายที่รวดเร็ว รองรับการสื่อสารระหว่างคนสู่คน และอุปกรณ์สู่อุปกรณ์ (Machine to Machine) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแก่ภาคประชาชน

โดยงาน Thailand_5G Summit 2022 เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับหลากหลายตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรม โดยความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายความคิด และส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์แก่ดิจิทัลสตาร์ทอัพ นักพัฒนา ผู้ประกอบการไทย และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

“ดีป้า ประเมินว่า งาน Thailand_5G Summit 2022 จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท และถือเป็นก้าวสำคัญในการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน อย่าง หัวเว่ย และในห่วงโซ่ของเอกชน รวมถึงนักลงทุนกว่า 60 ราย ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินหน้าพัฒนาประเทศ สร้างบุคลากร และมาตรฐานดิจิทัล พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ”

“อีกทั้งเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรค รวมถึงกฎระเบียบที่จำเป็นต่อการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

หัวเว่ย มุ่งสนับสนุน 5G ในประเทศไทย 3 เรื่อง

ไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ความคืบหน้าของการขยับขยายเทคโนโลยี 5G ในระดับโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งบรรดาผู้บุกเบิกด้าน 5G ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ก้าวผ่านอัตราส่วน 16% และมุ่งเข้าสู่ยุคทองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยระหว่างกระบวนการแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ เทคโนโลยี 5G ได้กลายเป็นตัวผลักดันหลักในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้คน เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งยังขยายขอบเขตของภาคเศรษฐกิจไปพร้อมกันนอกจากเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยังเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นกุญแจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยเช่นกัน

“หัวเว่ย มองว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดสำคัญของเรามาโดยตลอด และเรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ ซึ่งโครงข่ายการเชื่อมต่อบนเทคโนโลยี 5G ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้เราเดินไปถึงเป้าหมายเรื่องนี้ได้”

“ในฐานะที่ประเทศไทยผันตัวมาเป็นผู้นำด้าน 5G ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว หัวเว่ย จะมุ่งสนับสนุนความเร็วของ 5G ในประเทศไทยต่อไปผ่าน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G ชั้นนำ การผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรม และการสร้างระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงทักษะด้าน 5G” หลิน กล่าว

เอเชียแปซิฟิกถือเป็นตลาดสำคัญของ หัวเว่ย โดยให้บริการการเชื่อมต่อสำหรับผู้คนกว่า 90 ล้านครัวเรือน และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 1,000 ล้านคน ซึ่ง หัวเว่ย มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สนับสนุนหลักของวิสัยทัศน์เชิงดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การเชื่อมต่อและเทคโนโลยีอัจฉริยะ การพัฒนาด้านการลดการใช้คาร์บอนอย่างยั่งยืน และการเข้าถึงระบบดิจิทัลอย่างเท่าเทียม

โดย 5G ถือเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อดิจิทัลอันเป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคและในประเทศไทย ในฐานะที่ หัวเว่ย เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีไอซีทีและผู้พลิกโฉมสู่ความเป็นดิจิทัลจะเดินหน้าผลักดันนวัตกรรมอัจฉริยะ 5G ผ่านการทำงานกับลูกค้า พันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ เพื่อนำความอัจฉริยะมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน ทุกองค์กร และสร้างประเทศไทยดิจิทัลที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์ มีความอัจฉริยะ และยั่งยืนไปพร้อมกัน

ด้าน จูเลียน กอร์แมน หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก GSMA APAC 5G Industry Community กล่าวว่า ความร่วมมือการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรเทคโนโลยี 5G ในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทย และยังเป็นการจัดตั้งพันธมิตรเพื่อเป้าหมายด้านการพัฒนาระบบนิเวศของเทคโนโลยี 5G เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดย GSMA APAC 5G Industry Community มีความยินดีที่จะร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรผู้นำด้านเทคโนโลยีไอซีทีระดับโลกอย่าง หัวเว่ย เพื่อผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทยให้เกิดศักยภาพสูงสุด