ดีป้า ร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินหน้าสร้างเครือข่ายพันธมิตร เทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
ดีดีป้า พร้อมด้วย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างเครือข่ายพันธมิตร เทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการลงทุน ก่อนนำไปสู่การประยุกต์ใช้ 5G ในภูมิภาคอาเซียน
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างเครือข่ายพันธมิตร เทคโนโลยี 5G (Thailand 5G Alliance) ระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า โดย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่
และ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ นายกสมาคมฯ โดยมี ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า และ วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร อุปนายกสมาคมฯ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ ลานกิจกรรม ชั้น 7 อาคารดีป้า ลาดพร้าว
ชัยวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี 5G ขึ้นในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่รองรับเทคโนโลยี 5G เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันแก่ประเทศไทยในเวทีโลก
และเป็นแนวทางในการนำนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นไปต่อยอดประยุกต์ใช้จริงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรด้านเทคโนโลยี 5G โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในวันนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และคาดว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะต่อไป
ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี 5G กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งถือเป็นตัวเร่งที่ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ดีป้า และ สมาคมฯ จะเร่งส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการลงทุน และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ 5G ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
“ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นการแสดงความพร้อมของประเทศในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง การเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการ พร้อมต่อยอดการขยายผลในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นให้ธุรกิจเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน รวมถึงการสร้างบุคลากร มาตรฐาน และเผยแพร่องค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี 5G ในเชิงธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรค และกฎระเบียบที่จำเป็นต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาประเทศ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ด้าน วิเชาวน์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ร่วมกันผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาและเสริมความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อเร่งให้เกิด 5G use case ที่จะสามารถพัฒนาสู่ธุรกิจจริงในประเทศไทยได้
โดย สมาคมฯ จะส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในโครงการภายใต้ความร่วมมือนี้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกที่เป็นผู้ให้บริการ 5G ผู้ผลิตอุปกรณ์ หรือสมาชิกอื่น ๆ ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยประสานงานระหว่างสมาชิกของสมาคมฯ ตลอดจนประสานงานไปยัง ดีป้า และสมาคมอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องในวงกว้าง
“สมาคมฯ ตระหนักเป็นอย่างดีว่า การที่จะนำเทคโนโลยี 5G ไปประยุกต์ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เกี่ยวข้องกับ 5G อย่างครบวงจร และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งโครงข่าย 5G ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างสมบูรณ์
ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุน และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป” นายกสมาคมฯ กล่าว
สำหรับโครงการแรกภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ดีป้า และ สมาคมฯ จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม 5G อย่างเป็นรูปธรรม โดยการทดสอบทดลองจากนักพัฒนาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ยังมีการดำเนินการในด้านอื่น ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต