กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงข่าวผลความสำเร็จโครงการ National Delivery Platform (eatsHUB) แพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหารสัญชาติไทย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย ดีป้า ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนแถลงความสำเร็จ eatsHUB แพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหารสัญชาติไทยในโครงการ National Delivery Platform หลังนำร่องให้บริการ 7 เดือนในพื้นที่ 18 จังหวัด
พบประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์มมากกว่า 600,000 ราย มีจำนวนการเข้าใช้งานมากกว่า 10,000,000 ครั้ง สร้างความเท่าเทียมด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย กว่า 25,000 ร้าน สร้างอาชีพไรเดอร์กว่า 3,000 ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขยายบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย ก่อนยกระดับสู่ Super Application
เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหาร นับเป็นหนึ่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์ของโลก โดยประเมินว่า ภายในปี 2565 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะสามารถสร้างยอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าราว 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“กระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาแอปพลิเคชันโดยคนไทยที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภค
ซึ่งโครงการ National Delivery Platform ที่ ดีป้า และ บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ดำเนินการนำร่องให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน eatsHUB แก่ประชาชนไปแล้วในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาสามารถกระจายรายได้ให้กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ได้เร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้
โดยมีร้านค้าร่วมให้บริการในแพลตฟอร์มแล้วกว่า 25,000 ร้าน สร้างอาชีพพนักงานรับส่งอาหาร (ไรเดอร์) กว่า 3,000 ราย ขณะเดียวกันมีประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์มมากกว่า 600,000 ราย มียอดการเข้าใช้งานไม่น้อยกว่า 10,000,000 ครั้ง ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประมาณการณ์
อีกทั้งเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ไม่เพียงเท่านี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการต้นแบบภาครัฐที่มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการ รวมไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันสามารถนำไปศึกษาเพื่อต่อยอดผลงานและธุรกิจ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เติบโตต่อไป” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า แอปพลิเคชัน eatsHUB แพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหารสัญชาติไทยเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สามารถสร้างการรับรู้และเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ 18 จังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และนครพนม
“จากความสำเร็จในครั้งนี้ ดีป้า จะไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาบริการ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่า ปี 2566 eatsHUB จะให้บริการครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย
โดยตั้งเป้ามีร้านอาหารร่วมให้บริการในแพลตฟอร์ม 50,000 ร้าน มีประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์มมากกว่า 1,000,000 ราย มียอดการเข้าใช้งานไม่น้อยกว่า 20,000,000 ครั้ง สร้างอาชีพพนักงานรับส่งอาหารกว่า 6,000 ราย และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า eatsHUB ถูกพัฒนาขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร ขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และมอบโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่แก่ประชาชน มีจุดเด่นอยู่ที่การเรียกเก็บ ค่าส่วนแบ่งรายได้ (GP) จากร้านค้าสมาชิกประมาณ 8-10% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราการเรียกเก็บ 30% ของแพลตฟอร์มอื่น
อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงมีความน่าเชื่อถือและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด ส่วนเป้าหมายต่อไปคือ การประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อยกระดับการให้บริการสู่ Super Application ครอบคลุมการให้บริการด้านอื่น ๆ อาทิ การจำหน่ายวัตถุดิบท้องถิ่นจากผู้ผลิตไปสู่ร้านค้าและผู้บริโภคโดยตรง เพิ่มฟีเจอร์สที่หลากหลาย พร้อมขยายพื้นที่การให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศด้วยมาตรฐาน และเป็นธรรมอย่างแท้จริง
ด้าน ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ประธานกรรมการ ฟู้ด ออเดอรี่ กล่าวว่า eatsHUB เป็นแอปพลิเคชันที่เข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยอย่างแท้จริง เพราะ ฟู้ด ออเดอรี่ มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและพฤติกรรมของผู้ค้ารายย่อย แตกต่างจากแอปพลิเคชันของต่างชาติ โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่า GP ที่ต่ำกว่าแพลตฟอร์มทั่วไป
รวมถึงระบบการโอนเงินที่ร้านค้าสมาชิกจะได้รับเงินค่าสินค้าในวันถัดไป โดยไม่มีขั้นต่ำ จุดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของรายย่อยอย่างมากเพราะหากไม่มีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนวันต่อวัน ธุรกิจจะไม่สามารถเดินต่อไปได้
นอกจากนี้ ผู้ค้าเองยังให้ความเชื่อมั่นเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน มีความน่าเชื่อถือและสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด สร้างความเท่าเทียมด้วยการควบคุมมาตรฐานการให้บริการของร้านค้าสมาชิกให้จำหน่ายสินค้าอย่างเป็นธรรมในปริมาณที่ไม่แตกต่างจากการรับประทานที่ร้าน
“สำหรับการพัฒนาในก้าวต่อไปที่จะยกระดับการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศนั้น ในส่วนของภาคเอกชน พร้อมขยายทีมสนับสนุนการให้บริการเต็มรูปแบบ ทั้งทีมคอลล์เซ็นเตอร์เพื่อรองรับผู้สูงวัยที่บางส่วนอาจยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานสมาร์ตโฟน
รวมถึงทีมบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้สนใจที่จะร่วมเป็นพนักงานรับส่งอาหารสามารถศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมสมัครเป็นสมาชิกได้ตั้งแต่วันนี้ผ่าน www.foodordery.co.th ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลด eatsHUB #แอปพลิเคชันไทยเพื่อคนไทย ทั้งในระบบ android และ iOS เพื่อพบความแตกต่างอย่างคุ้มค่า #อิ่มเต็มคำได้ทุกวัน ได้แล้ววันนี้” ดร.ชาติชาย กล่าว