Thursday, November 21, 2024
Big DataeGovernmentNEWSThailand4.0

ดีอี-BDI เดินหน้าผลักดันการใช้ Big Data และ AI สู่ Data-Driven Nation

ดีอี-BDI เดินหน้าผลักดันการใช้ Big Data และ AI สู่ Data-Driven Nation ตั้งเป้าปี 67 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท

ระทรวงดีอี – BDI แถลงบทบาทใหม่ เดินหน้าหนุนใช้ Big Data และ AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล พร้อมเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูล เทคโนโลยีข้อมูล นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงการพัฒนากำลังคนด้านข้อมูล เพื่อขยายขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหลักที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย

ตั้งเป้า 1 ปี เกิดการบูรณาการร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าโอกาสการจ้างงานจากการพัฒนากำลังคนด้าน Big Data มากกว่า 200 ล้านบาท

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่_(องค์การมหาชน) เป็นองค์กรหลักที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ลดปัญหาการทำงานแบบแยกส่วนกันของหน่วยงานภาครัฐ สามารถนำเอาข้อมูลต่างๆ มาใช้ร่วมกันจนเกิดประโยชน์สูงสุด”

“เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนรวมทั้งมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของไทยในเวทีโลกให้ดียิ่งขึ้นได้

“หนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงดีอี คือ โครงการพัฒนา Thai Large Language Model (ThaiLLM) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย โดยสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว”

ศาสตรจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “นโยบายของกระทรวงดีอี มุ่งผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัย และพร้อมที่จะปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ เข้ามาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า และปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล”

“รวมทั้งมีลักษณะเปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกันและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้กระทรวงดีอีกำลังดำเนินการจัดทำแนวปฏิบัติด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคม ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ พร้อมรับมือให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา”

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI เปิดเผยว่าบทบาทที่สำคัญของ BDI คือ การส่งเสริมและประสานให้เกิดการใช้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจและบริการ

พร้อมกันนี้ BDI ยังเป็นหน่วยงานผู้ให้บริการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลในสาขาต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์”

“สร้างระบบนิเวศในห่วงโซ่คุณค่าด้านข้อมูลทั้งในมิติของเทคโนโลยี และกำลังคน ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการด้านข้อมูลเพิ่มขึ้น รองรับอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมไทย พร้อมด้วยพัฒนากำลังคนด้าน Big Data”

“จุดเด่นที่สำคัญของ BDI คือ การรวมตัวของคนรุ่นใหม่ด้านข้อมูลกว่า 100 คน ที่พร้อมเรียนรู้ ยืดหยุ่น คล่องตัว และมีเป้าหมายชัดเจน ที่จะพัฒนาความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ยั่งยืน และมีความโปร่งใส”

“การพัฒนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ผ่านการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Nation) ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยข้อมูลเพื่อนำทางการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม”

3 โปรเจคหลัก ของ BDI ที่พร้อมนำข้อมูลมาสู่การขับเคลื่อนประเทศ
1. Project BIG: Big Data Integration and Governance

รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากหน่วยงานต่างๆ จัดเก็บ รวมทั้งให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์และความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย

  • โครงการ Health Link แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาได้ทันที
  • โครงการ Travel Link แพลตฟอร์มเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ขยายขีดความสามารถการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย
  • โครงการ Envi Link แพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมือง เพื่อสนับสนุนการวางแผนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด และลด Carbon Footprint
  • Data Analytics services บริการบูรณาการ พัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่แก่หน่วยงานภาครัฐ
  • Data and Information Technology บริการด้านวิศวกรรมข้อมูล
2. Project Bridge

พัฒนาผู้ประกอบการโดยสร้างทั้งอุปสงค์และอุปทานของศาสตร์ด้านข้อมูล ประกอบด้วย

  • Big Data Business Promotion ศึกษาตลาดด้านข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์โจทย์ปัญหา และให้คำปรึกษาในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ
  • Big Data Ecosystem & Industrial Promotion สร้างประชาคมและเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่าด้าน Big Data
  • Research And Innovations ค้นคว้า และพัฒนา ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต ผ่านนวัตกรรมทาง Big Data และ AI
  • Thai Large Language Model (ThaiLLM) พัฒนา Thai Large Language Model (ThaiLLM) เป็น โครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย (ThaiLLM) ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความหมายและเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับการใช้ภาษาของมนุษย์ พร้อมทำการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทยที่เป็นโมเดลกลาง (Foundation Model) ที่สามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายงานประยุกต์ทั้งในภาครัฐและเอกชน
3. Project Learn
  • Manpower Development in Big Data พัฒนากำลังคนด้าน Big Data ยกระดับทักษะด้านการประมวลผล การวิเคราะห์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างนักวิเคราะห์ข้อมูล และวิศวกรข้อมูล ให้กับประเทศ
  • Big Data E-Learning and Practice-Based Learning แพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อพัฒนากําลังคนด้าน Big Data และ AI เพื่อพัฒนาทักษะเดิมให้ทันกับยุคสมัย (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับ Digital Age (New skill)

“ทั้งนี้ BDI ประเมินว่า ภายในปี 2567 จากการขับเคลื่อนภารกิจหลักจะสร้างผลกระทบต่อมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท ที่มาจากผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ซึ่งช่วยลดต้นทุนความซ้ำซ้อนของการบริการด้านสาธารณสุข และเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ใช้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) ซึ่งได้รับอานิสงส์จากนโยบายฟรีวีซ่า (Free Visa)”

“ตลอดจนสร้างโอกาสการจ้างงานจากการพัฒนากำลังคนด้าน Big Data มีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาท พร้อมทั้งสนับสนุน และพัฒนาให้รัฐทำงานแบบบูรณาการร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล และสร้างให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ภาครัฐ เอกชนและประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง และยั่งยืน” ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวปิดท้าย

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเป็นองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ จากเดิมที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อปี 2562 ในชื่อว่าสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) หรือ GBDi