“กรมพัฒน์ฯ เร่งสกัดโจรไซเบอร์ ใช้มุกเดิมหลอกให้กดลิ้งค์โหลดแอปพลิเคชันปลอม จากนั้นเข้าสิงอุปกรณ์เหยื่อทันที ทำธุรกรรม สูญเงินในพริบตา
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือนซ้ำๆ หลังพบมิจฉาชีพนำโลโก้กรมฯ และแอปพลิเคชัน DBD e-Serviceไปทำลิ้งค์ปลอมหลอกประชาชนให้หลงเชื่อ หากตกเป็นเหยื่อจะถูกติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือ ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและแอปพลิเคชันธุรกรรมการเงินได้ ห่วงเป็นภัยร้ายของสังคม
ย้ำ! กรมฯ ไม่ทักก่อน ไม่กดลิ้งค์ พบปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อคือ ข้อกังวลเมื่อนิติบุคคลไม่ปฏิบัติตัวตามกฎหมาย จึงเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพนำมาขู่ แนะวิธีเข้าใช้งานระบบ DBD Datawarehouse+ ที่ถูกต้องพิมพ์ผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th และดาวน์โหลดแอปพลิเคชันชื่อ DBD e-Service โดยตรง ไม่ผ่านลิ้งค์
เผยมิจฉาชีพปลอมโลโก้ DBD Datawarehouse+
ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับข้อมูลร้องเรียนความเสียหายเกี่ยวกับมิจฉาชีพที่นำตราสัญลักษณ์กรมฯ และระบบการให้บริการคลังข้อมูลธุรกิจ DBD Datawarehouse+ ไปปลอมแปลงและนำไปหลอกลวงประชาชน
โดยใช้กลอุบายให้เหยื่อหลงเชื่อเพื่อดาวน์โหลด แอปพลิเคชันที่ใช้ชื่อเหมือนของจริงที่กรมฯ ให้บริการคือ DBD e-Service ผ่านลิ้งค์ปลอม ในระบบปฏิบัติการ Android เมื่อดาวน์โหลดเสร็จสมบูรณ์ โปรแกรมถูกติดตั้งในโทรศัพท์
ผู้เสียหายจะถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลของอุปกรณ์โทรศัพท์ที่ใช้งาน ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันธนาคารที่อยู่ในโทรศัพท์พร้อมกับดักจับข้อมูลและนำไปทำธุรกรรมทางการเงินเสมือนเป็นเจ้าของเครื่องได้
อธิบดี กล่าวต่อว่า “การกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยสังคมอย่างสูงสุดที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ทำมาหากินอย่างสุจริตแต่กลับต้องมาถูกมิจฉาชีพหลอกลวง และยังสร้างความเสียหายในภาพรวมแก่เศรษฐกิจของประเทศด้วย ที่ผ่านมากรมฯ ได้ออกมาเตือนภาคธุรกิจและประชาชนให้ระมัดระวังตัวมาโดยตลอด”
“และย้ำว่าไม่มีนโยบายที่จะโทรศัพท์หรือทักหาประชาชนก่อนหรือให้อัพเดทข้อมูลนิติบุคคลผ่านทางออนไลน์หรือช่องทางแอปพลิเคชัน Line แต่อย่างใด ถ้าประชาชนได้รับการติดต่อในลักษณะดังกล่าว ขอให้พิจารณาว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน”
“และตัดโอกาสการพูดคุยทันทีป้องกันการหลงเชื่อเพราะมิจฉาชีพจะพูดจาหว่านล้อมให้เกิดความกังวล ความกลัวและตกเป็นเหยื่อในที่สุด จากกรณีนี้กรมฯ ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้ดำเนินการปิดกั้นและระงับ Domain name หรือลิ้งค์ปลอมเรียบร้อยแล้ว”
“อย่างไรก็ดี จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้เสียหายหลายรายหลงเชื่อและยอมทำตามที่มิจฉาชีพขู่ ปัจจัยหนึ่งมาจากการละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายอาทิ ไม่ส่งงบการเงินหรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามที่กำหนด และเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน เปลี่ยนกรรมการ ย้ายที่อยู่ หรือข้อมูลของนิติบุคคลแล้วไม่ดำเนินการแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงกับกรมฯ ให้ถูกต้อง”
“ปัจจัยดังกล่าวเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความกลัวแก่ผู้เสียหายจนทำให้สูญเสียทรัพย์สินมากมายในที่สุด โอกาสนี้กรมฯ จึงฝากไปถึงนิติบุคคลให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้ไม่มีข้อกังวลใดๆ และทำธุรกิจได้อย่างโปร่งใส”
ย้ำ พิมพ์เข้าเว็บไซต์โดยตรง
“ทั้งนี้ เมื่อประสบปัญหาใดๆ ในการจดทะเบียนธุรกิจเจ้าหน้าที่กรมฯ ก็พร้อมให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันกรมฯ ได้พัฒนาระบบจดทะเบียนให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ลดการเดินทางมาติดต่อราชการ และยังเป็นระบบที่มีความปลอดภัยทางเทคโนโลยีในระดับสากลอีกด้วย ผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลด้านการจดทะเบียนธุรกิจสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1570 ในวันและเวลาราชการ”
“สำหรับประชาชนที่ต้องการเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน DBD e-Service เพื่อเข้าไปค้นหาข้อมูลนิติบุคคล หาคู่ค้า หรือวิเคราะห์ธุรกิจ วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดในการเข้าใช้งานคือ การไม่กดผ่านลิ้งค์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่สามารถเข้าใช้งานอย่างปลอดภัยผ่าน 2 ช่องทางได้ที่ 1) พิมพ์เข้าเว็บไซต์โดยตรงที่ www.dbd.go.th เลือกหัวข้อ บริการออนไลน์
จากนั้นเลือก การบริการข้อมูลธุรกิจ และ DBD Datawarehouse+ และ 2) การใช้งานโดยดาวน์โหลด ผู้ให้บริการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันชื่อ DBD_e-Service (ห้ามกดผ่านลิ้งค์) ผ่าน Google Play ของ Android หรือ App Store ของ iOS เท่านั้น” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย